อ.อ๊อด แนะวิธีช่วย 13 ชีวิต เจาะถ้ำต่อท่อยาว 3 กิโล อัดอากาศเข้า ห่วงแย่งกันหายใจ (คลิป)

27 มิ.ย. 61
จากเหตุการณ์ ทีมฟุตบอลเยาวชนและครูฝึกสอน 13 คน พลัดหลงและติดอยู่ภายในถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน ใน อ.แม่สาย จ.เชียงราย เมื่อเย็นวันที่ 23 มิ.ย. 61 ล่าสุด เจ้าหน้าที่หลายภาคส่วนอยู่ระหว่างการระดมกำลังช่วยเหลือ
รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี ม.เกษตรศาสตร์
วันที่ 26 มิ.ย. 61 รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ หรือ อาจารย์อ๊อด อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์​ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อธิบายว่า การช่วยเหลือเด็กและโค้ชทั้ง 13 คน ที่ติดอยู่ภายในถ้ำ ซึ่งมีน้ำจากที่ฝนตกลงมาเอ่อล้นในแอ่ง ปิดช่องอากาศของถ้ำ ส่งผลให้อากาศในถ้ำน้อยลง ซึ่งหากเจ้าหน้าที่สามารถนำสายไฟเข้าไปในถ้ำได้ 3 กิโลเมตร แล้วลอดใต้ผ่านน้ำลึกเข้าไปโผล่ยังอีกฝั่ง จะได้ทำการอัดอากาศเข้าไปได้ และจากการสันนิษฐาน คาดว่าด้านในมีอากาศน้อย ประกอบกับเด็กทั้ง 13 คน ต้องมีการเคลื่อนไหวร่างกาย ซึ่งจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา ทำให้อากาศออกซิเจนที่ใช้หายใจน้อยลง จึงต้องช่วยเหลือแบบเร่งด่วน
ภาพจำลองวิธีการเติมอากาศด้วยท่อยาว 3 กิโลเมตร
รศ.ดร.วีรชัย อธิบายต่อว่า จากแผนที่ถ้ำ เจ้าหน้าที่สามารถเข้าไปได้ถึงห้องโถงกลางที่มีร่องน้ำลึก 5 เมตร และร่องน้ำตื้นรวมกัน 2 ช่อง ฉะนั้นหากใช้สายยางอัดอากาศเข้าไปแต่ละช่อง เพื่อให้ห้องโถงกลางมีออกซิเจนมากเพียงพอ ก็จะช่วยให้เด็ก ๆ และโค้ช มีอากาศหายใจมากขึ้น ส่วนเจ้าหน้าที่ที่เข้าไปช่วยเหลือนั้น ตนเสนอว่าไม่ควรจะถอดถังอากาศออก เพื่อจะได้ไม่ไปแย่งอากาศในถ้ำ รศ.ดร.วีรชัย กล่าวต่อว่า การที่เจ้าหน้าที่มีแนวคิดว่าจะเจาะถ้ำอีกฝั่งหนึ่ง ตนเห็นด้วย เพราะเป็นการนำอากาศถ่ายเทเข้าไปในถ้ำก่อนเป็นอันดับแรก เนื่องจากมนุษย์ไม่สามารถอยู่ได้ หากขาดอากาศหายใจเกิน 3 นาที แต่สามารถอดอาหารได้ราว 7 วัน และสามารถนั่งอยู่นิ่ง ๆ โดยอดอาหารได้ถึง 30 วัน แต่จากการคาดการณ์ คิดว่าตอนนี้เด็ก ๆ น่าจะมีการเคลื่อนไหวตลอดเวลาในการหาทางออก ประกอบกับสภาพอากาศภายในถ้ำที่หนาว จึงน่าเป็นห่วงในเรื่องสุขภาพด้วย
ภาพจำลองแผนที่ภายในถ้ำหลวง
รศ.ดร.วีรชัย เสนอแนวทางว่า 1. ทีมหน่วยซีล จะต้องเข้าไปให้ถึงจุดที่คาดว่าเด็กจะอยู่ให้ได้ แต่จะต้องไม่ไปแย่งอากาศหายใจ 2. ทีมนอกถ้ำ จะต้องไปเจาะบนเนินที่สูง เพื่อให้อากาศเข้าไปในถ้ำได้มากที่สุด หรือทีมที่ใช้โดรนอินฟาเรด หากสามารถจับรังสีความร้อนได้ ก็น่าจะเห็นเด็ก 3. เครื่องจับสัญญาณชีพ โดยใช้คลื่นแม่เหล็ก เป็นเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ซึ่งเคยใช้ตอนเหตุการณ์สึนามิ 4. ทีมสนับสนุน ที่กำลังสูบน้ำออกและดันอากาศเข้า สำหรับกรณีที่เด็กเข้าไปอยู่ในถ้ำ ในสภาพอุณหภูมิต่ำกว่าอุณภูมิห้องนั้น รศ.ดร.วีรชัย มองว่า เด็ก ๆ ร่างกายอาจะเปียกน้ำ ประกอบกับอาหารที่เด็กนำเข้าไปในถ้ำ น่าจะไม่เพียงพอแล้ว แต่น้ำในถ้ำยังสามารถดื่มได้ รศ.ดร.วีรชัย กล่าวต่อว่า ปล่องที่อยู่บนถ้ำ หากยังเจาะไม่ได้ในขณะนี้ ก็คาดว่ามีอากาศเข้าไปได้อยู่บ้าง แต่เป็นอากาศที่เบาบาง การแก้ไขปัญหาเบื้องต้น คือช่วยสูบน้ำออกจากถ้ำก่อน ซึ่งเป็นวิธีที่ช่วยได้แน่นอน ตนเองคิดว่าเจ้าหน้าที่ช่วยเหลืออย่างเต็มความสามารถแล้ว แต่จะต้องเร่งช่วยกันตัดสินใจให้เร็ว เพราะต้องช่วยชีวิตเด็กแข่งกับเวลาด้วย
นายทศพร นุชอนงค์ อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี
ด้าน นายทศพร นุชอนงค์ อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี เปิดเผยว่า กรมทรัพยากรธรณีได้เปิดศูนย์ปฏิบัติการธรณีพิบัติภัย ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ขณะเดียวกันกรมทรัพยากรธรณีได้จัดทำข้อมูลทางธรณีวิทยาสนับสนุนเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มโอกาสที่จะพบทางเข้าถ้ำนอกเหนือจากปากถ้ำ โดยใช้ข้อมูลทางธรณีวิทยาเพื่อหาแนวรอยแตกของถ้ำที่พบโพรงหรือช่องที่เข้าได้อีกทางหนึ่ง เพื่อสนับสนุนทีมค้นหา
ภาพแผนที่จำลองจุดค้นพบโพรงทางเข้าถ้ำ
ซึ่งในจุดนั้นจะพบบริเวณที่เรียกว่า ถ้ำแห้ง แผนที่ที่จะพบใน ตำแหน่ง A และ B คือ บริเวณโอกาสที่จะพบช่องหรือปล่องเข้าสู่ถ้ำ (จุดตัด ระหว่างแนวถ้ำหรือรอยแตกของเขา) ตำแหน่ง A บริเวณทางเข้าออกของถ้ำ ในทางทิศใต้ของปลายถ้ำ ซึ่งจะมีลักษณะเป็นล่องเขา ส่วนในตำแหน่ง B แนวฝั่งตะวันออกของแนวถ้ำ เป็นหน้าผาใกล้เชิงเขา
ภาพแผนที่จำลองจุดค้นพบโพรงทางเข้าถ้ำ  2 จุด A และ B
โดยทีมค้นหาพบว่า ในจุด A เป็นปากทางถ้ำที่ค้นพบใหม่ จำนวน 2 จุด โดยจุดแรกสามารถเข้าไปได้ 5 เมตร เป็นทางตัน ห่างจากจุดนี้ไป 20 เมตร เจอปากทางเข้าอีก 1 จุด เจ้าหน้าที่ได้โรยตัวลงไป พบว่าลักษณะภายในมีโถงถ้ำกว้าง มีแอ่งน้ำ พบสันดอนทรายภายในถ้ำ สามารถเดินไปได้อีกไกล แต่ต้องใช้อุปกรณ์เสริมในการสำรวจ จึงกลับออกมาเพื่อเตรียมอุปกรณ์ และจะกลับเข้าไปอีกครั้งเพื่อเร่งช่วยเหลือ 13 ชีวิตที่ติดอยู่ภายในถ้ำ

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวที่ได้รับความสนใจ