กยศ. แจงดราม่า รัฐ-เอกชน จัดการหนี้ผู้กู้ หักจากเงินเดือนโดยตรง

9 มี.ค. 64

กรณีมีผู้แสดงความไม่เห็นด้วย หลัง กยศ. หรือ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ออกหนังสือแจ้งภาคเอกชน หักเงินเดือนพนักงานที่กู้ยืมเงิน และนำส่งเงินชำระคืนกองทุนฯ หากไม่ดำเนินการจะต้องชดใช้เงินเพิ่มในอัตรา 2% ต่อเดือน ถือว่าผลักภาระความรับผิดชอบหนี้ให้ภาคเอกชน

เรื่องนี้ กยศ. ชี้แจงว่า ที่ผ่านมาได้ชี้แจงให้นายจ้างได้ทราบถึงเหตุผลและความจำเป็นในการหักเงินจากบัญชีเงินเดือนลูกหนี้เพื่อชำระเงินคืน ตั้งแต่เดือนมิ.ย. 61 เริ่มจากหน่วยงานราชการ หน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานเอกชน มีหน่วยงานที่ต้องแจ้งหักเงินเดือนทั้งหมดราว 107,000 แห่ง และมีผู้กู้ยืมที่อยู่ในเกณฑ์หักเงินเดือน 1,735,000 ราย ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา นายจ้างทุกภาคส่วนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

สำหรับขั้นตอนการหักเงินเดือนลูกหนี้ กยศ. ผ่านองค์กรนายจ้างนั้น จะส่งหนังสือแจ้งหักเงินเดือนไปยังที่อยู่ตามทะเบียนบ้านของผู้กู้ล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 60 วัน จากนั้นจะส่งหนังสือแจ้งให้นายจ้างทราบถึงข้อมูลของผู้กู้และจำนวนเงินที่ต้องหักนำส่งล่วงหน้าประมาณ 30 วัน

นายจ้างสามารถตรวจสอบข้อมูลที่ต้องหักและนำส่ง ผ่านระบบรับชำระเงินกู้ยืมคืน กยศ. ผ่านกรมสรรพากร (e-PaySLF) โดยเข้าใช้งานได้ที่เว็บไซต์ www.studentloan.or.th ซึ่งกองทุนจะอัปเดตข้อมูลที่ต้องหักและนำส่งแจ้งให้นายจ้างทราบผ่านระบบดังกล่าวในทุกวันที่ 5 ของเดือน

เมื่อพนักงานได้รับเงินเดือน ลำดับการหักเงินจะเริ่มจาก 1. หักภาษี ณ ที่จ่าย 2. หักจากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนประกันสังคม และ 3. หักเงินกองทุน กยศ.

ส่วนข้อกังวลว่า หากนายจ้างไม่หักเงินตามที่ได้รับแจ้ง จะต้องชดใช้เงินตามจำนวนที่กองทุนแจ้งให้ทราบ และต้องจ่ายเงินเพิ่มในอัตรา 2% ต่อเดือน ของเงินที่ไม่ได้นำส่ง กรณีนี้หากหน่วยงานแจ้งเหตุผลข้อขัดข้องที่ไม่สามารถดำเนินการหักเงินเดือนผู้กู้ยืมได้ สามารถขออนุโลมและผ่อนผันได้ โดยปัจจุบันยังไม่เคยเรียกชดใช้เงินหรือเรียกเงินเพิ่มจากนายจ้างแต่อย่างใด

การคำนวณยอดหักเงินเดือน จะใช้ยอดหนี้ตามตารางชำระรายปี หารด้วย 12 เดือน หรือจำนวนเดือนที่เหลือก่อนถึงวันครบกำหนดชำระหนี้ (5 ก.ค. ของทุกปี) และในงวดปีถัดไปจะเริ่มหักเงินเดือนตั้งแต่เดือนกรกฎาคมของทุกปีจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จสิ้น

อย่างไรก็ตาม ผู้กู้ยืมเงินที่ไม่สามารถชำระตามอัตราที่แจ้ง สามารถขอลดจำนวนการหักเงินเดือนได้ด้วยตนเองผ่านแอปพลิเคชัน “กยศ. Connect” โดยอนุโลมให้ชำระขั้นต่ำเพียง 100 บาท แต่ต้องชำระเงินในส่วนที่ขาดไปของงวดนั้นให้ครบตามจำนวนก่อนวันครบกำหนดชำระหนี้รายปี

ปัจจุบัน กยศ. ไม่ได้ใช้งบประมาณแผ่นดินมาตั้งแต่ปี 2561 โดยใช้เงินชำระหนี้ของผู้กู้ยืมของรุ่นพี่หมุนเวียนเพื่อส่งต่อโอกาสทางการศึกษาให้แก่รุ่นน้อง สำหรับปีการศึกษา 2564 นี้กองทุนได้เตรียมเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา จำนวน 38,000 ล้านบาท สำหรับนักเรียน นักศึกษาผู้กู้ยืมจำนวน 624,000 รายไว้เรียบร้อยแล้ว

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวที่ได้รับความสนใจ