พ่อแม่ ไผ่ดาวดิน เดินทางถึงเกาหลีใต้ เตรียมเข้ารับรางวัลสิทธิมนุษยชนกวางจู แทนลูกชาย 18 พ.ค.นี้

16 พ.ค. 60
 
ไผ่ ดาวดิน ภาพจาก uglytruththailand
นายวิบูลย์ บุญภัทรรักษา และ นางพริ้ม บุญภัทรรักษา บิดา-มารดาของ นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน นักศึกษาชาวไทย    เดินทางไปถึงประเทศเกาหลีใต้แล้ว เตรียมเข้ารับรางวัลสิทธิมนุษยชนกวางจูประจำปี 2017 แทนบุตรชายซึ่งถือเป็นผู้ชนะรางวัลอันทรงเกียรตินี้ที่มี “อายุน้อยที่สุด”  และเป็นคนไทยคนที่ 2 ที่คว้ารางวัลนี้ ถัดจากนางอังคณา นีละไพจิตร รายงานข่าวระบุว่า  นายวิบูลย์และนางพริ้ม ได้เดินทางถึงเกาหลีใต้ และเข้าร่วมงานกวางจู เอเชีย ฟอรัม 2017 ซึ่งเป็นหนึ่งในเวทีประชุมด้านสิทธิมนุษยชนระดับโลก   โดยที่นางพริ้มได้รับเชิญให้ขึ้นเวทีกล่าวถึงบุตรชาย คือ นายจตุภัทร์ และการต่อสู้ของกลุ่มดาวดิน   และขบวนการประชาธิปไตยใหม่  ในประเทศไทย ซึ่งเรียกเสียงปรบมือกึกก้องจากผู้เข้าร่วมการประชุมที่มาจากทั่วโลก ในส่วนของพิธีมอบรางวัลสิทธิมนุษยชนกวางจูนั้น   จะจัดขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 18 พฤษภาคมนี้ เวลา 16.30 น.ตามเวลาท้องถิ่นของเกาหลีใต้  โดยที่ในปี 2017 นี้นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน ได้รับเลือกให้เป็นผู้ได้รับรางวัล ร่วมกับเซอร์เก บัมบารา  ศิลปินเพลงฮิปฮ็อป จากประเทศบูร์กินาฟาโซ ในทวีปแอฟริกา ที่มีบทบาทการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนในประเทศของตน ทั้งนี้   รางวัลสิทธิมนุษยชนกวางจู หรืออีกชื่อเรียกหนึ่งว่า รางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชน เป็นรางวัลที่ก่อตั้งขึ้น โดยมูลนิธิ 18 พฤษภารำลึก (May 18 Memorial Foundation) เพื่อรำลึกถึงการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย ของนักศึกษาและประชาชนเกาหลีใต้  ต่อต้านการทำรัฐประหารโดยนายพลชุน ดูฮวาน เมื่อปี ค.ศ.1980   ซึ่งทหารได้ใช้กำลังเข้าปราบปรามกลุ่มผู้เรียกร้องประชาธิปไตยที่เมืองกวางจู     จนมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก   ที่ผ่านมา  มีการมอบรางวัลนี้ให้แก่บุคคลที่มีบทบาทโดดเด่นในการต่อสู้กับอำนาจเผด็จการ รวมถึงการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนในเอเชีย ซึ่งการมอบรางวัลครั้งแรกจัดขึ้นเมื่อปี ค.ศ.2000  โดยนอกจากประกาศเชิดชูเกียรติคุณแล้ว ทางมูลนิธิยังจะมอบเงินรางวัลให้ผู้ชนะอีก 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1.72 ล้านบาท   นับตั้งแต่ก่อตั้งรางวัลนี้    มีนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนในเอเชียเคยรับรางวัลนี้มาแล้วหลายราย เช่น ซานานา กุสเมา อดีตผู้นำติมอร์ตะวันออก เมื่อปี 2000  , นางออง ซาน ซู จี ผู้นำพรรคเอ็นแอลดี และแกนนำต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในเมียนมาร์ เมื่อปี 2004   และนางอังคณา นีละไพจิตร ภรรยานายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความที่หายตัวไปอย่างเป็นปริศนาที่ได้รับรางวัลนี้ในปี 2006      

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม