4 ข้อเคล็ด (ไม่) ลับเสริมเกราะภูมิต้านทานให้แข็งแรงแม้สูงวัย

22 ม.ค. 64


ดร. เดวิด ฮีเบอร์ ประธานคณะกรรมการสถาบันโภชนาการเฮอร์บาไลฟ์ นิวทริชั่น เผยว่า นิยาม “การสูงวัยอย่างมีสุขภาพดี” (Healthy Aging) ของแต่ละคนอาจมีความหมายแตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นการที่สติปัญญายังเฉียบแหลม สมองได้ฝึกคิดตลอดเวลา มีสุขภาพร่างกายที่ยังฟิตและแข็งแรง หรือสามารถใช้ชีวิตได้ด้วยตัวเองอย่างอิสระแม้อายุมากขึ้น แต่ไม่ว่าจะเป็นคำตอบไหน เรื่องการสูงวัยก็ถือเป็นปัญหาความกังวลของใครหลายคน ไม่ว่าคุณจะมีอายุเท่าไหร่ก็ตาม

เมื่อถามเกี่ยวกับความกังวลใจเรื่องการสูงวัย ผู้ตอบแบบสอบถามชาวไทย (ร้อยละ 42) กล่าวว่าความกลัวว่าจะต้องเจ็บป่วยเพราะภูมิคุ้มกันต่ำเมื่ออายุมากขึ้นเป็นปัญหาความกังวลอันดับหนึ่ง ตามมาด้วยกลัวว่าจะพึ่งพาตัวเองได้น้อยลงเมื่อร่างกายอ่อนแอลง (ร้อยละ 20) และกังวลว่ารูปร่างหน้าตาจะเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัดเมื่ออายุมากขึ้น (ร้อยละ 19)

อย่างไรก็ดี หากเราหันมาใส่ใจเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันเสียแต่เนิ่น ๆ ตามขั้นตอนต่อไปนี้ ก็จะนำไปสู่ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายที่แข็งแรงได้เมื่ออายุมากขึ้น และช่วยให้คุณมีชีวิตที่มีสุขภาพดีขึ้นเมื่อก้าวสู่อายุสูงวัย

4 เคล็ด (ไม่) ลับเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแกร่ง

1. เลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น
โปรตีน ซึ่งเป็นหนึ่งในหน่วยโครงสร้างพื้นฐานของร่างกาย ช่วยเสริมระบบภูมิคุ้มกันของเราโดยทำให้ร่างกายผลิตแอนติบอดี้ที่ป้องกันเราจากเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย นอกจากนี้ วิตามินเอ วิตามินซี และสารพฤกษเคมีหรือไฟโตนิวเทรียนท์ (Phytonutrients) ซึ่งเป็นสารอาหารที่พบได้ทั่วไปในผักใบเขียวและผลไม้ ก็ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของเราให้แข็งแรงได้เช่นกัน

เราไม่ควรละเลยสุขภาพลำไส้และระบบย่อยอาหาร เนื่องจากทางเดินอาหารเป็นเส้นทางหลักที่สัมผัสกับสิ่งที่เรารับประทานเข้าไปและช่วยในการดูดซึมสารอาหาร และเพื่อให้ระบบย่อยอาหารมีสุขภาพที่ดี การรับประทานโพรไบโอติกและไฟเบอร์ควบคู่ไปกับมื้ออาหารที่อุดมไปด้วยอาหารจากพืช เช่น ผักผลไม้และเมล็ดธัญพืชไม่ขัดสี จะช่วยปรับสมดุลจำนวน “แบคทีเรียที่ดี” ในลำไส้ซึ่งทำหน้าที่เป็นด่านแรกในการป้องกันและกำจัดแบคทีเรียที่เป็นอันตรายที่เข้าสู่ระบบทางเดินอาหาร

แม้ดูเหมือนต้องปรับพฤติกรรมการรับประทานหลายอย่าง แต่ถ้าเราฝึกนิสัยให้รับประทานอาหารได้อย่างสมดุล เราก็จะได้รับสารอาหารในปริมาณที่เพียงพอจากมื้ออาหารในแต่ละวัน ซึ่งจะช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันของเราแข็งแรงและมีสุขภาพดี อย่างไรก็ตาม หากรู้สึกว่าเป็นเรื่องยากที่จะรับประทานอาหารที่มีคุณค่าสารอาหารในแต่ละมื้อได้อย่างสม่ำเสมอ ให้ลองเสริมด้วยอาหารเสริมเพื่อช่วยเติมเต็มสารอาหารที่ขาดหายไปในแต่ละวัน

2. จัดการความเครียดให้ดีขึ้น
แม้ว่าความเครียดในระดับที่ดีต่อสุขภาพจะช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้รักษา ป้องกันและต่อสู้กับเชื้อโรคได้ดี แต่ความเครียดที่มากเกินไปอาจทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นและน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นได้ ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงไปสู่โรคหัวใจและหลอดเลือด ความเครียดยังอาจกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) หรือ “ฮอร์โมนแห่งความเครียด” ซึ่งจะลดการผลิตเซลล์ป้องกันภูมิคุ้มกันของเราที่เรียกว่าลิมโฟไซต์ (lymphocytes) และทำให้เราป่วยได้ง่ายขึ้น เพื่อจัดการความเครียดให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เราควรนอนหลับให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่สมดุล ออกกำลังกายเป็นประจำ และมีไลฟ์สไตล์ที่มีสุขภาพดีและกระฉับกระเฉงแข็งแรง

3. ออกกำลังกายเป็นประจำ
นอกเหนือจากดูแลสุขภาพจิตใจให้ดีจะช่วยให้มีจิตใจและความคิดที่เฉียบแหลมแล้ว การออกกำลังกายเป็นประจำก็ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน ลดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยและลดการอักเสบได้ โดยบทความศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ในปี 2562 ของวารสารวิทยาศาสตร์การกีฬาและสุขภาพ (Journal of Sport and Health Science) พบว่าการออกกำลังกายช่วยให้การไหลเวียนของเลือดและระบบน้ำเหลืองทำงานได้ดีขึ้น ซึ่งจะช่วยให้เซลล์ภูมิคุ้มกันหมุนเวียนในร่างกายได้มากขึ้นและเร็วขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม เนื่องจากผลลัพธ์ดังกล่าวจะอยู่แค่ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง จึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่เราต้องออกกำลังกายเป็นประจำทุกวันเพื่อเสริมสร้างร่างกายให้สามารถต่อสู้ป้องกันไวรัสได้อย่างเต็มที่

4. รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
เมื่อเราเจ็บป่วย ระบบป้องกันของร่างกายจะได้รับการกระตุ้นและก่อให้เกิดการอักเสบ ซึ่งโดยมากถือเป็นสัญญาณที่ดีเพราะแปลว่าร่างกายเรากำลังทำหน้าที่ต่อสู้กับไวรัส แต่เมื่อไหร่ที่เกิดการอักเสบเป็นประจำ นั่นแปลว่าปัญหาสุขภาพกำลังถามหา การมีเซลล์ไขมันมากขึ้นเป็นสัญญาณบ่งชี้ของโรคอ้วนหรือการมีน้ำหนักเกิน ซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดการอักเสบเรื้อรัง ทำให้ร่างกายอยู่ในสภาวะเครียดอยู่ตลอดเวลาและส่งผลเสียต่อระบบภูมิคุ้มกันอันเป็นผลมาจากการได้รับการกระตุ้นมากเกินไป ทำให้เราเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยและอาการทางสุขภาพต่าง ๆ มากมายได้ง่ายขึ้น ตั้งแต่ไข้หวัดธรรมดาไปจนถึงโรคหัวใจและโรคเบาหวาน หากเราปรับเปลี่ยนพฤติกรรม สร้างนิสัยที่ดีในการบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพและสมดุล รวมถึงออกกำลังกายอยู่เป็นประจำ เราก็จะสามารถดูแลรักษาน้ำหนักของเราให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม และช่วยสร้างเสริมสุขภาพภูมิคุ้มกันของเราให้แข็งแรงได้อย่างยืนยาว.

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม