ธนาคารโลกเผยปี 63 คนไทยจนเพิ่มขึ้น 1.5 ล้านคนจากพิษโควิด-19

20 ม.ค. 64

"ธนาคารโลก" เผยปี 63 คนไทยจนเพิ่มขึ้น 1.5 ล้านคนจากพิษโควิด-19 แรงงงานได้รับผลกระทบหนัก โดนเลิกจ้าง-ลด ชม.งาน แต่คาดเศรษฐกิจปี 64-65 ดีขึ้น แนะรัฐบาลเพิ่มทักษะแรงงาน-ขยายอายุเกษียณ รับสังคมสูงวัย

วันนี้ (20 ม.ค.64) นางเบอร์กิท ฮานสล์ ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย (เวิลด์แบงก์) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในปี 63 ลดลง 6.5% แต่ปี 64 คาดจะขยายตัวได้ 4% และขยายตัว 4.7% ในปี 65 โดยผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก การท่องเที่ยวซบเซา และกระทบต่อการจ้างงานและรายได้ที่ลดลง ส่งผลให้หลายคนมีความยากลำบาก จากข้อมูลคาดว่า ในปี 63 มีประชากรไทยเข้าสู่ภาวะยากจนเพิ่มขึ้นถึง 1.5 ล้านคนจากปี 62 มี 3.7 ล้านคน มาอยู่ที่ 5.2 ล้านคน ตามเส้นแบ่งความยากจน 5.5 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน (ภาวะเสมอภาคของอำนาจซื้อ 2554) คิดเป็น 165-170 บาทต่อวัน

นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทย ธนาคารโลก เผยว่า ผลจากการระบาดใหญ่ครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงานไทยอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉาพะในไตรมาสที่ 2 ทำให้คนว่างงานเพิ่มขึ้นมีการจ้างงานหายไป 340,000 ตำแหน่ง โดยเฉพาะกลุ่มคนวัยรุ่นการว่างงานเพิ่มขึ้น 9% จำนวนชั่วโมงการทำงานต่อสัปดาห์ลดลง 2-3 ชั่วโมง ทำให้รายได้ต่อเดือนน้อยลง แม้ต่อมาในไตรมาสที่ 3 และช่วงแรกของไตรมาส 4 จำนวนงานเพิ่มขึ้น 850,000 ตำแหน่ง และชั่วโมงการทำงานเพิ่มขึ้น แต่ชั่วโมงการทำงานและค่าจ้างยังคงต่ำกว่าระดับปีก่อนหน้า ซึ่งหมายความว่าตลาดแรงงานยังอยู่ในภาวะที่เปราะบางต่อความไม่แน่นอนต่างๆ ในอนาคต รวมถึงการกลับมาระบาดซ้ำของโควิด-19

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง 
"ธนาคารโลก" คาดจีดีพีไทยแย่สุด -10.4% ชี้พ.ร.ก.ฉุกเฉินกระทบศก.

นายเกียรติพงศ์ กล่าวด้วยว่า แนะนำว่าในระยะสั้น รัฐบาลต้องจัดให้มีโครงการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มทักษะแรงงานและให้ความช่วยเหลือทางการเงินเมื่อแรงงานกลับไปทำงาน สิ่งที่รัฐบาลจำเป็นต้องพยายามทำอย่างต่อเนื่องคือการทำให้มั่นใจว่าการให้ความรู้และการฝึกอบรมสอดคล้องกับความต้องการของผู้จ้าง

ส่วนในระยะยาวรัฐบาลสามารถเพิ่มการจ้างงานในภาคการดูแล ทำให้การดูแลเด็กเข้าถึงมากขึ้นและลดค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยเพิ่มการจ้างงานของแรงงานผู้หญิง และเสนอให้ขยายอายุเกษียณออกไปและให้วางแผนโครงการจ่ายค่าตอบแทนตามผลงาน รวมทั้งให้มีการจัดระบบการทำงานที่ยืดหยุ่นเพื่อยืดอายุการทำงานให้กับผู้สูงวัยอีกด้วย ซึ่งช่วยส่งเสริมการฟื้นตัวจากโควิด-19 ได้อย่างยั่งยืน ในขณะเดียวกันก็เป็นการรับมือกับความท้าทายที่มาพร้อมกับภาวะประชากรสูงวัยด้วย

สำหรับประมาณการเศรษฐกิจไทย ปัจจุบันดีขึ้นจากมาตรการภาครัฐที่ออกมาจำนวนมาก แต่เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยใช้เวลา 2 ปีกว่าจะกลับไปที่ระดับก่อนเกิดโควิด-19

  

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม