หมอศิริราชเผย ผู้ว่าฯ สมุทรสาคร ยังเป็นห่วงประชาชนแม้ป่วยหนัก ยิ้มออกเรื่อง รพ.สนาม

12 ม.ค. 64

รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล เผยเหตุการณ์เข้าเยี่ยมอาการ ผู้ว่าฯ สมุทรสาคร เผยพ่อเมืองเป็นห่วงประชาชนแม้ป่วยหนัก สีหน้าคลายกังวลหลังรับทราบความคืบหน้าเรื่อง รพ.สนาม

รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว เล่าเหตุการณ์เข้าเยี่ยม นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ที่อยู่ระหว่างรักษาตัวจากการติดเชื้อ โควิด-19 โดยระบุว่า

คืนสู่รังใหญ่ของสำนักฝึกวิชาแพทย์ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ภารกิจแรกคือเข้าไปเยี่ยมท่านผู้ว่าที่ห้องแยกโรค โดยต้องใส่ชุด PPE เต็มยศ วันนี้ผู้ป่วยได้สติดีจึงพูดคุยกันนานกว่า 10 นาที (ที่จริงพูดฝ่ายเดียว อีกฝ่ายทำได้แค่พยักหรือส่ายหน้า และแสดงสีหน้าได้บ้าง เพราะยังใส่ท่อช่วยหายใจอยู่) ได้แจ้งความคืบหน้าด้านการเจ็บป่วยของเจ้าตัวพร้อมแผนการดูแลรักษาต่อไปของทีมแพทย์ โดยเน้นขอความร่วมมือในการอดใจรอเวลาที่เหมาะสมเพื่อกลับไปหายใจได้เองทั้งหมด และพยายามไม่ต่อต้านการช่วยหายใจเพื่อจะได้ลดปริมาณยาระงับความรู้สึกลง

130844726_2869818483341708_47

นอกจากนั้นสิ่งหนึ่งที่อาจช่วยให้การรับรู้ของท่านดีขึ้นเร็ว คือการบอกเล่าความคืบหน้าการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในสมุทรสาคร ซึ่งล่าสุดคืบหน้าไปมากจนรับคนไข้ได้กว่าพันเตียงแล้ว และกำลังจะขยายอีกจนได้ 2,000+ เตียง พอได้ยินเรื่องนี้เหมือนจี้ถูกจุด สีหน้าท่านดูผ่อนคลายลงมาก แถมท้ายด้วยการให้ลูกสาวคนโตอัดคลิปเสียงมาเปิดให้ฟังผ่านอินเตอร์คอมนอกห้อง สีหน้าของคนทุกข์พลันมีความสุขฉาบขึ้นจนเห็นได้ชัด ยิ่งลูกสาวถามว่าพ่อจำได้ไหมว่าวันนี้สำคัญอย่างไร เจ้าตัวดูงงๆ ตอนแรก แล้วจึงตอบรับด้วยการพยักหน้าพร้อมรอยยิ้ม วันนี้เป็นวันครบรอบแต่งงานปีที่ 34 ของท่านและภริยานั่นเอง

ทำไมโรงพยาบาลสนามจึงเป็นทางรอดของสถานการณ์โควิดขณะนี้ เป็นเพราะปริมาณผู้ป่วยในบางพื้นที่ล้นเกินศักยภาพเตียงที่เตรียมไว้ในโรงพยาบาลหลักของพื้นที่นั้น ถ้าปล่อยไปเช่นนั้นนอกจากควบคุมการระบาดในชุมชนไม่ได้แล้ว ยังจะทำให้มีการระบาดสู่บุคลากรโรงพยาบาลและผู้ป่วยอื่นของโรงพยาบาลด้วย การแยกคนป่วยในชุมชนที่ไม่มีอาการหรือมีอาการไม่รุนแรงไปให้การดูแลรักษารวมกันใน รพ.สนาม แล้วนำเฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงหรือร่างกายไม่แข็งแรงไปดูแลในโรงพยาบาลหลัก จะช่วยให้เราค่อยๆ ควบคุมการระบาดของโรคได้ง่ายขึ้น แต่การจัดตั้ง รพ.สนามก็ต้องคำนึงถึงหลัก 3 P คือ

• Patient safety ผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาตามมาตรฐานทางการแพทย์โดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติ
• Personnel safety บุคลากรที่ปฏิบัติงานต้องได้รับการป้องกันเป็นอย่างดีจากการรับเชื้อโรคโควิด
• Public safety ชุมชนรอบข้างจะต้องปลอดภัยจากการรับเชื้อโรคโควิดและเชื้อโรคอื่น

135936987_1037412586761130_60

การจัดตั้งโรงพยาบาลสนามรับมือโควิดได้ดำเนินการมาตั้งแต่วิกฤตระลอกแรก แต่ได้ถูกขยายปริมาณมากขึ้นหลายเท่าตัวในระลอกนี้ เริ่มจากสมุทรสาคร ระยอง ชลบุรี และจันทบุรี และในอีกหลายพื้นที่ถ้าเริ่มมีการใช้ศักยภาพเตียงในโรงพยาบาลหลักเกินขีดกำหนด โดยอาศัยการหนุนช่วยด้านบุคลากรจากนอกพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคน้อยกว่า

วันนี้ได้ไปเยี่ยมโรงพยาบาลสนามแห่งที่สามของจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ใกล้ศาลพันท้ายนรสิงห์ แม้จะเตรียมการในเวลาอันสั้นแต่โรงพยาบาลบ้านแพ้วที่เป็นผู้รับผิดชอบก็สามารถทำตามหลัก 3 P ได้เป็นอย่างดี ในช่วงเย็นได้เห็นกิจกรรมให้ผู้ป่วยชายเล่นกีฬาตะกร้อ ส่วนฝ่ายหญิงเต้นแอโรบิค ปลื้มใจแทนแรงงานต่างชาติสำหรับความเอื้ออาทรที่คนในแผ่นดินเราหยิบยื่นให้ไม่ต่างจากที่กระทำกับเพื่อนร่วมชาติ ไม่มีที่ไหนในโลกจะอบอุ่นเหมือนประเทศไทยของเราอีกแล้ว พรุ่งนี้ขอไปเยี่ยมเยียนทีมโควิดแม่สอดให้ถึงถิ่น #saveประเทศไทยจากภัยโควิดระลอกสอง

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวที่ได้รับความสนใจ