โรงงานเฟอร์นิเจอร์ยักษ์ใหญ่ ขาดทุน 400 ล้าน ลอยแพ พนง. 200 คน เคว้ง!

6 ม.ค. 64

ตกงานอีกแล้ว โรงงานเฟอร์นิเจอร์ยักษ์ใหญ่ ขาดทุน 400 ล้าน ลอยแพพนักงาน 200 คน สุดช้ำท่ามกลางวิกฤตโควิด-19

วันที่ 6 ม.ค. 64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีโรงงานเฟอร์นิเจอร์ บริษัท ซูเพิร์บ ครีเอชั่น เฟอร์นิเจอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ตัดสินใจย้ายฐานการผลิตจาก อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ไปยัง จ.ชลบุรี หลังขาดทุนถึง 400 ล้าน​ จนถึงวันนี้ยังไม่มีสัญญาณบวกใดๆ​ จากทาง ศอ.บต.​ที่เป็นแม่งานหลักที่ชักชวนมาร่วมลงทุน

จากแผนโครงการของรัฐบาล เมืองต้นแบบสามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ที่หวังให้ อ.หนองจิกเป็นแหล่งลงทุนทางการเกษตรและอุตสาหกรรม​ แต่ความจริงแล้วทำตามแผนไม่ได้​ ไม่ว่าสาเหตุใดก็ตาม​ มันส่งผลต่อความเชื่อมั่นต่อการลงทุนทางเศรษฐกิจในพื้นที่ทันที เป็นอีกโครงการที่ผลงานรัฐเดินหน้าไม่สำเร็จ  ซ้ำรอย โครงการใหญ่อีกหลายโครงการที่ผ่านมา เช่น ​นิคมอุตสาหกรรม​ฮาลาล​ อ.ปะนาเระ, โรงงานแปรรูป​ฮาลาล​ที่​ อ.หนองจิก​ และโครงการรัฐอื่นๆ ที่กลายเป็นอนุสรณ์ ร้างอยู่ริมถนนสาย เพชรเกษม 41

โดยก่อนช่วงปีใหม่ ผู้สื่อข่าวได้รับจดหมายเปิดผนึกจาก บริษัทเฟอร์นิเจอร์ ดังกล่าว ลงวันที่ 23 ธ.ค.ที่ผ่านมา​ หนังสือเปิดผนึกไปถึง เลขาธิการ ศอ.บต. จนถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรื่อง ขอยุติการผลิต การลงทุนธุรกิจสำคัญในจังหวัดชายแดนภาคใต้​ ​ยืนยันว่า ณ​ ตอนนี้คงต้องวางแผนยุติไปก่อน​ พอสรุปได้ว่า

 จากที่บริษัทฯ ได้เข้ามาลงทุน ทำการผลิตระยะเวลากว่า 1 ปี 3 เดือนแล้ว แต่ทางรัฐบาลไม่สามารถทำตามแผนงาน ที่ระบุว่า จะช่วยเหลือด้านคมนาคมขนส่ง อำนวยความสะดวกเรื่องสาธารณูปโภค ตามที่วางไว้ได้ ทำให้บริษัทฯ ต้องขาดทุนอย่างหนัก จนไม่อาจจะลงทุนทำธุรกิจได้อีกต่อไป ได้รับความเสียหาย ได้แก่

1. ต้นทุนค่าขนส่งที่สูงกว่าการลงทุนในพื้นที่เขตระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก ประมาณ 500เหรียญสหรัฐ ต่อตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งปัจจุบันบริษัทฯ ได้มีการส่งออกแล้วกว่า 200 ตู้ คิดขนส่งที่สูงขึ้นกว่า 100,000 เหรียญสหรัฐ

2. มูลค่าการลงทุนในที่ดิน 211 ไร่ ซึ่งไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้

3. เสียโอกาสทางธุรกิจ เนื่องจาก ไม่สามารถดำเนินการผลิตได้ตามแผนที่วางไว้

4. สูญเสียเงินลงทุนไปแล้วกว่า 400 ล้านบาท

ทั้งนี้ มีการชี้แจงถึงเหตุผลที่รัฐฯ จูงใจให้มาลงทุนในโครงการครั้งแรกด้วย ว่าจะอำนวยความสะดวกมากมาย เช่น สนับสนุนค่าขนส่ง พัฒนาเรื่องอุปโภคบริโภค ปรับผังเมืองเชื่อมให้เข้ากับธุรกิจ ใช้ประโยชน์จากการเช่าที่ดิน มาตรการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ และอื่นๆ แต่สุดท้ายทำไม่ได้ตามแผนโครงการ ส่งผลถึงบริษัทเตรียมลอยแพ คนงานกว่า 200 คน ต้องตกงาน

ลาสุด​ วันที่  6​ ม.ค. 64 ผู้สื่อข่าวจึงลงไปสอบถามพนักงานในโรงงาน​ ซึ่งยังคงทำงานตามหน้าที่​ บางแผนกปิดลงไปแล้ว​ 3 แผนก​ พนักงานที่เหลือบางคนหยุดงาน​ไปก่อน​ รอคำตอบจากบริษัท​ว่าจะเดินหน้าต่ออย่างไร​ พนักงานส่วนหนึ่งต้องย้ายมาทำงานแผนกเย็บหนัง​ และทุกคนยังมีความหวังว่า​ โรงงานแห่งนี้ยังจะไม่ถูกปิดตัวไปจริง ๆ บางคนถึงกับร่ำไห้เพราะตนเองเป็นเสาหลักของครอบครัว หากต้องตกงานอีกหลายชีวิตคงต้องลำบากไปด้วย

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวที่ได้รับความสนใจ