5 ปรากฎการณ์ใหม่ "ม็อบ 2563" ฉีกขนบการชุมนุมไทย

1 ม.ค. 64
ย้อนดูปี 2563 เป็นอีกปีที่การเมืองบนถนนของไทยคึกคัก กับการเคลื่อนไหวของเหล่า "ราษฎร" ที่สร้างปรากฏการณ์การชุมนุม ที่เรียกได้ว่าฉีกขนบการเคลื่อนไหวทางการเมืองไทยในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา
 
ในปีใหม่ 2564 นี้ แกนนำประกาศจะเดินหน้าการชุมนุมต่อแบบเข้มข้น ซึ่งก่อนจะถึงฤดูกาลใหม่ มาดูกันว่า "ม็อบ 2563" สร้างปรากฏการณ์อะไรไว้บ้าง?

687694

การชุมนุมยุค 5G

การชุมนุมไทยในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่าน อาจเรียกได้ว่าเป็นยุค “ดาวเทียม” อาศัยการสื่อสารผ่านช่องทีวีดาวเทียมเป็นหลัก และถึงแม้ในยุคการชุมนุม กปปส. “อินเทอร์เน็ต” จะเข้ามามีบทบาทแต่ก็ไม่มากเท่ากับการชุมนุมในปัจจุบันที่ โซเชียลมีเดีย เป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อน

ตั้งแต่การเป็นช่องทางพูดคุยของผู้มีความคิดแนวเดียวกัน ไปจนถึงกระจายข่าวสารการชุมนุมให้ออกไปถึงคนมากที่สุด เพื่อรวมตัวกันให้ได้อย่างรวดเร็วที่สุดภายในเวลาจำกัด และใช้ทรัพยากรน้อยที่สุด จนกลายเป็นหนึ่งข้อได้เปรียบของผู้ชุมนุมเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของข้อมูลอย่างรวดเร็วระดับ 5G นำไปสู่ "ปรากฏแกง" ทำให้เจ้าหน้าที่ตั้งรับไม่ทัน เตรียมการรอเก้อมาแล้วหลายครั้ง  

- รู้แล้วเซอร์ไพรส์ใหญ่! วันนี้ไม่มีการชุมนุม ตร. 12 กองร้อยเก้อ
- ตั้งตู้คอนเทนเนอร์หน้าบ้านพัก "บิ๊กตู่" สุดท้าย "เก้อ" ม็อบย้ายที่ชุมนุม


อีกหนึ่งข้อได้เปรียบของผู้ชุมนุมยุคนี้ คือเป็นกลุ่มคนที่เติบโตมากับอินเทอร์เน็ตและเข้าใจธรรมชาติมันเป็นอย่างดี รู้ว่าต้องสื่อสารเนื้อหาการชุมนุมอย่างไรให้เกิด “ไวรัล” ได้รับความสนใจและถูกส่งต่อออกไปในวงกว้างที่สุด เช่น การดึงเอาป็อป คัลเจอร์ ที่เป็นสากลมาใช้เป็นสัญญะในการเคลื่อนไหวและสร้างประสบการณ์ร่วมอย่าง ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์ หรือม็อบแฮมทาโร่ ที่ได้รับความสนใจจากทั้งคนไทยและต่างชาติไม่น้อย อีกทั้งความไร้พรมแดนที่ทำให้ผู้ชุมนุมสามารถแปลเนื้อหาการชุมนุมหรือข้อเรียกร้อง ส่งต่อไปทั่วโลกได้ทันที โดยไม่ต้องรอการทำข่าวของสื่อต่างชาติเพียงอย่างเดียว

160741129228

 

ทวิตเตอร์ เรียกได้ว่าเป็นแพลตฟอร์มหลักของการชุมนุมครั้งนี้ มีแฮชแท็กการชุมนุมติดเทรนด์ประเทศไทยควบคู่ไปกับการชุมนุมบนท้องถนนทุกครั้ง และหลายครั้งก็มากจนติดอันดับเทรนด์โลก อย่างในวันที่ 16 ต.ค.ซึ่งมีการฉีดน้ำสลายการชุมนุมเป็นครั้งแรก #16ตุลาไปแยกปทุมวัน ติดอันดับ 1 เทรนด์โลก ด้วยยอดทวีตเกือบ 5 ล้านครั้ง นอกจากนี้ #16ตุลาไปแยกปทุมวัน และ #ม็อบ17ตุลา ยังติดอันดับ 9-10 ของแฮชแท็กที่มีการทวีตมากที่สุดในประเทศไทยประจำปี 2563 จากรายงานของทวิตเตอร์ประเทศไทยอีกด้วย

อย่างไรก็ดีในความรวดเร็วที่มากเกินไปของโซเชียลมีเดียก็เป็นดาบสองคม ทั้งการเผยแพร่เฟคนิวส์ ข้อมูลเท็จออกไปอย่างรวดเร็ว ไร้การตรวจสอบ จนสร้างความเข้าใจผิดหรือตื่นตระหนกเป็นวงกว้างได้ 

259912

ดารา ต้อง Speak out

วันนี้ดาราCallOutหรือยัง เป็นอีกแฮชแท็กที่ร้อนแรงในโลกทวิตเตอร์อย่างมาก หลังวันที่ 13 ส.ค. “รุ้ง ปนัสยา” แกนนำการชุมนุม เผยว่า มีเจ้าหน้าที่มาเฝ้าที่หน้าหอพักเพื่อเตรียมควบคุมตัว ทำให้โลกโซเชียลแห่เทรนด์  #SavePanusaya ขึ้นอันดับ 1 ในทวิตเตอร์

ต่อมามีคนดัง โดยเฉพาะดาราวัยรุ่น อาทิ ณัฐ ศักดาทร, เจนนี่ ปาหนัน, แบงค์ ธิติ, เจเจ กฤษณภูมิ, เก้า สุภัสสรา, แสตมป์ อภิวัชร์, ไอซ์ พาริส, วี วิโอเลต, ใบเฟิร์น อัญชสา, คริส พีรวัส, เต ตะวัน, น้ำหนึ่ง-ฝ้าย BNK48 และอีกหลายคน ได้ออกมาแสดงความคิดเห็น หลักๆ เป็นการเรียกร้องให้รัฐเคารพสิทธิพื้นฐาน และสนับสนุนเสรีภาพในการแสดงความเห็นโดยไม่ถูกคุกคาม นำไปสู่การเรียกร้องผ่านแฮชแท็กให้ดารา คนดังคนอื่น ๆ ออกมาแสดงจุดยืนบ้าง

2 สาว BNK48 ‘เจนนิษฐ์-ฝ้าย’ หนุนประชาธิปไตย #ไอดอลปลดแอก
- “ติ๊ก เจษฎาภรณ์” ไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงแบบที่เกิดขึ้น!!

ทั้งนี้กระแสการ Call Out เรียกร้องให้คนดังออกมา Speak out พูดแสดงจุดยืนทางการเมืองนั้น มีมาโดยตลอดตั้งแต่ก่อนหน้าแฮชแท็กดังกล่าวและมีความกดดันเพิ่มขึ้นตามอุณหภูมิของการชุมนุม โดยผู้ชุมนุมจำนวนไม่น้อยมองว่าคนดังซึ่งเป็นบุคคลสาธารณะและมีอิทธิพลทางความคิดต่อประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มแฟนๆ ควรแสดงจุดยืนท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งของสังคม ใช้ชื่อเสียงที่มีในการเป็นกระบอกเสียง และเป็นตัวอย่างของสังคมถึงเสรีภาพในการแสดงความเห็น โดยหลายคนก็ยกตัวอย่างกรณีช่วงการชุมนุม กปปส.ซึ่งมีดารา คนดัง ออกมาแสดงจุดยืนทางการเมืองอย่างอิสระ

อย่างไรก็ดีก็มีอีกจำนวนมากที่ไม่เห็นด้วยกับการกดดันให้คนดังแสดงความเห็นทางการเมือง โดยมองว่าเป็นสิทธิส่วนบุคคล หรืออาจติดความจำเป็นและเงื่อนไขบ้างอย่าง และเชิญชวนให้มาสนับสนุนนักแสดงที่แสดงจุดยืนหนุนการเคลื่อนไหวแทน

แบมแบม GOT7 ค้านใช้ความรุนแรง “มะเดี่ยว-ป๋าเต็ด” ร่วมชุมนุมหวังความเปลี่ยนแปลง
"เจเจ กฤษณภูมิ" โพสต์ตั้งคำถามเจ้าหน้าที่รัฐ ปมคลิปชายเสื้อเหลือง รุมทำร้ายวัยรุ่นชุดดำ

ตลอดการชุมนุมที่ผ่านมา เราได้เห็นดารา คนดังออกมาแสดงความเห็นกันมากพอสมควรในแง่การเรียกร้องให้เคารพสิทธิมนุษยชน เสรีภาพในการแสดงออก และแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรง โดยเฉพาะในทุกๆ ครั้งที่เกิดการเหตุสลายการชุมนุมหรือการใช้กำลัง ขณะที่บางส่วนก็เปิดหน้าสนับสนุนและเข้าร่วมการชุมนุมด้วยตนเอง เช่น อัด อวัช, ต้อม ยุทธเลิศ, มารีญา พูนเลิศลาภ

ทั้งนี้การเรียกร้องให้ดารา คนดัง ออกมาแสดงจุดยืนทางการเมืองไม่ได้เกิดเฉพาะในเมืองไทยเท่านั้น อย่างการเคลื่อนไหว Black Lives Matter ช่วงกลางปีที่สหรัฐฯ ดาราฮอลลีวูด และคนดังทั้งหลายก็ถูกเรียกร้องให้แสดงออกเช่นกัน โดยหลายคนได้ออกมาเป็นกระบอกเสียงสำคัญ ไปจนถึงร่วมการประท้วงด้วยตนเอง อาทิ แอรีอานา แกรนเด, เจนนิเฟอร์ โลเปซ

461486

หลากสัญญะในการแสดงออก

การชู 3 นิ้ว สัญญะหลักของการชุมนุมครั้งนี้ เชื่อกันว่ามีที่มาจากภาพยนตร์ The Hunger games ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่ใช้ในการแสดงออกถึงความเคารพ ขอบคุณและบอกลาคนรัก แต่ตัวเอกได้นำมาใช้แสดงออกถึงการไม่ยอมจำนนต่ออำนาจของผู้ปกครอง บ้างก็ให้ที่มาว่าทั้ง 3 นิ้วหมายถึง "สันติภาพ เสรีภาพ และภราดรภาพ" ซึ่งเป็นคำขวัญสำคัญในการปฏิวัติฝรั่งเศส

การชู 3 นิ้วปรากฎครั้งแรกๆ ในการเคลื่อนไหวปี 2557 ในฐานะสัญลักษณ์ในการแสดงออกเพื่อต่อต้านรัฐประหาร มีกลุ่มนักศึกษานัดชูสามนิ้วในที่โรงหนังนะนเข้าฉายของภาพยนตร์เรื่อง The Hunger Games : Mockingjay Part 1 จนทำให้ภาพยนตร์ถูกแบนไป หรือกรณี "ไผ่ ดาวดิน" บุกชู 3 นิ้วต้านรัฐประหารต่อหน้าพล.อ.ประยุทธ์ ขณะลงพื้นที่ขอนแก่น  

โบขาว ถูกใช้กันมากโดยเฉพาะในการเคลื่อนไหวของนักเรียนมัธยมศึกษา บ้างก็มองว่าแสดงถึงพลังอันบริสุทธิ์ แต่หากย้อนไปยังจุดเริ่มต้น โบขาวถูกใช้เป็นสัญลักษณ์เพื่อยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี หลังเหตุการณ์สังหารหมู่นักศึกษาหญิงมหาวิทยาลัยมอนทรีออลในปี 2537 ก่อนที่ในปี 2542 ยูเอ็นจะรับรองให้ 25 พ.ย. เป็น “วันขจัดความรุนแรงต่อสตรีสากล” และในไทยเอง ครม. ก็มีมติให้เดือนพฤศจิกายนเป็นเดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี และมีโบขาวเป็นสัญลักษณ์เช่นกัน

โบขาวได้ปรากฎในการเคลื่อนไหวทางการเมืองไทยช่วงต้นปี หลังสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) จัดกิจกรรมนำโบขาวมาผูกรั้วทำเนียบรัฐบาล และสถานที่สำคัญอื่นๆ เพื่อเรียกร้องความยุติธรรม และประณามการอุ้มหายของผู้ลี้ภัยทางการเมือง กรณีนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งถูกอุ้มหายไปจากกรุงพนมเปญ กัมพูชา 

สื่อนอกตีข่าว! ผู้ชุมนุมกลุ่มราษฎรใช้ "เป็ดยางสีเหลือง" เป็นโล่ป้องกัน
"หมุดคณะราษฎร 2563" ถูกรื้อถอนพร้อมโบกปูนทับ ยังไม่ทราบผู้ดำเนินการ

หมุดคณะราษฎร 2563 ปรากฎครั้งแรกในเช้าการชุมนุม 20 ก.ย. โดยกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ได้ทำพิธีฝังหมุดดังกล่าวลงบนพื้นซีเมนต์ท้องสนามหลวง เพื่อแทนที่หมุดคณะราษฏรเดิมซึ่งหายไปอย่างปริศนาและถูกแทนที่ด้วยหมุดหน้าใส

ซึ่งในเวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมงก็พบว่าหมุดได้ถูกถอดออกไปเรียบร้อย แต่ถึงแม้หมุดจะหายไปจากสนามหลวงแต่ไม่ได้หายไปจากชุมนุมแต่อย่างใด เมื่อทางผู้จัดทำได้แจกไฟล์หมุดคณะราษฎร 2563 พร้อมอนุญาตให้สามารถนำไปทำซ้ำ ดัดแปลงได้อย่างอิสระ ทำให้หมุดถูกส่งต่อในโลกออนไลน์และถูกนำไปดัดแปลงเป็นภาพหรืองสิ่งของจำนวนมาก

เป็ดเหลือง ปรากฎในการชุมนุมครั้งแรกในการชุมนุม 17 พ.ย. ที่หน้ารัฐสภาเกียกกาย เพื่อกดดันให้สภารับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน โดยทางกลุ่มราษฎรได้ประกาศว่าจะล้อมทั้งทางบก เรือ และอากาศ ก่อนจะพบว่า "เป็ดยางสีเหลือง" จำนวนมากโผล่ในการชุมนุม ซึ่งต่อมาได้แจ้งเกิดในฐานะอุปกรณ์สารพัดประโยชน์ในการปกป้องผู้ชุมนุมจากการฉีดน้ำผสมสารเคมีของเจ้าหน้าที่ 

"ทราย เจริญปุระ" แม่ยกการชุมนุม เปิดเผยว่าการใช้เป็ดยาง เป็นตัวแทนในการล้อมสภาทางน้ำแทนเรือเป็ดที่วางแผนไว้แต่ต้องล้มเลิกไปเนื่องจากเรื่องความปลอดภัย โดยจากกรณีดังกล่าว "เป็ดเหลือง" กลายเป็นไวรัลใหญ่ และปรากฎตัวในการชุมนุมทุกครั้งหลังจากนั้น รวมถึงมีการนำไปผลิตสินค้าและของแจกมากมาย

880617

ทุกคนคือแกนนำ

“ทุกคนคือแกนนำ” เป็นประโยคที่ถูกพูดถึงอยู่ตลอดในการชุมนุม โดยเฉพาะหลังจากที่แกนนำทยอยถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวจนไม่สามารถเข้าร่วมการชุมนุมได้ โดย  “ม็อบไร้หัว” เกิดขึ้นอย่างเต็มรูปแบบในการชุมนุมวันที่ 17 ต.ค. หนึ่งวันหลังการฉีดน้ำสลายการชุมนุมที่แยกปทุมวัน มวลชนได้ออกมารวมตัวกันในหลายจุดทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ไม่มีแกนนำขึ้นเวทีปราศรัย ไม่มีรถขยายเสียงนำมวลชน แต่การชุมนุมก็สามารถเดินหน้าต่อไปจนจบได้ในท้ายที่สุด และเกิดขึ้นอีกหลายครั้งหลังต่อจากนั้น

ชุมนุมแน่นวงเวียนใหญ่ สุดอึ้งไร้แกนนำคุมกันเองอย่างสงบ เด็กรามฯ เอาด้วยตั้งเต็นท์ปราศรัย
เผยภาพพลังสามัคคีมวลชนแจกเสื้อกันฝน - หมวกกันน็อกกันสลายม็อบ แถมใช้เสร็จส่งคืน

นอกจากนี้  “ทุกคนคือแกนนำ” ในอีกแง่หนึ่งอาจสื่อได้ว่าผู้ชุมนุมทุกคนมีความสำคัญเท่ากัน เมื่อการชุมนุมถูกใช้เป็นพื้นที่ให้คนหลากหลายกลุ่มได้ใช้ปราศรัย ชูแนวคิดที่ตนเองสนับสนุน โดยไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในกรอบข้อเรียกร้องหลัก อย่างเรื่องสิทธิคนพิการ สิทธิสตรี ความหลากหลายทางเพศ การสนับสนุน Sex worker หรือแม้แต่การทำสุรา ดังที่จะเห็นว่ามีวงปราศรัยย่อยๆ ตลอดการชุมนุม กับแกนนำที่มีเพียงลำโพงพกพาที่เอามาเองเท่านั้น  

ตัวอย่าง "ม็อบไร้หัว" ที่เห็นได้ชัดที่สุดในการเคลื่อนไหวช่วงที่ผ่านมาคือการประท้วงในฮ่องกง ซึ่งเป็นการรวมตัวของคนรุ่นใหม่ที่ไม่มีผู้นำชัดเจน แต่สามารถรวมผู้คนได้หลักล้านผ่านการนัดหมายทางโลนออนไลน์ เน้นแอปพลิเคชั่นปิดบังตัวตนอย่าง Telegram หรือ Signal เพื่อป้องกันการติดตามโดยรัฐ แต่เมื่อไม่มีแกนนำ ข้อเสียที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือการชุมนุมที่ไม่อาจควบคุมทิศทางและเนื้อหาจนเสี่ยงเกิดจลาจลหรือความรุนแรงได้

895854

การปะทะของยุคสมัย

ในการเคลื่อนไหวครั้งนี้เรียกได้ว่าเกิดความขัดแย้งระหว่างวัยมากที่สุดที่เคยมีมาเลยก็ว่าได้ ขณะที่ผู้สนับสนุนการเคลื่อนไหวและเข้าร่วมส่วนมากเป็นกลุ่มคนที่อายุยังน้อย นักเรียน นักศึกษา และกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่าเป็นคนรุ่นใหม่ แต่กลุ่มผู้ที่ไม่เห็นด้วยมักเป็นผู้ใหญ่ วัยกลางคน หรือบรรดาผู้ปกครอง จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ถึงความขัดแย้งทางความคิดตั้งแต่ในระดับครอบครัว เราได้เห็นบรรดาเยาวชนออกมาเล่าถึงการทะเลาะกับพ่อแม่จากปมการเมือง หรือเหล่าผู้ปกครองที่ออกมาหาวิธีไม่ให้ลูกหลานไปร่วมการชุมนุม

คลิปครูด่านักเรียนผูกโบว์ขาว อยากประท้วงออกจากโรงเรียนไป
ภนท.ขอพลังโซเชียลร่วมประณาม โรงเรียนทำโทษเด็ก ชู 3 นิ้ว ไม่เอาเผด็จการ

นอกจากในระดับครอบครัว รอยร้าวระหว่างวัยยังเกิดขึ้นอย่างรุนแรงในระดับสถานศึกษาทั้งในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยอีกด้วย โดยเฉพาะในโรงเรียนซึ่งอยู่ภายใต้กฎระเบียบที่เข้มงวดมากกว่า ดังที่จะเห็นได้จากปรากฎการณ์ที่เด็กนักเรียนมัธยมร่วมกันผูกโบขาว และชูสามนิ้วระหว่างกิจกรรมหน้าเสาธง จนนำมาสู่การปะทะทางวาจา การลงโทษทางวินัยและห้ามไม่ให้มีการแสดงออก  

ท้ายที่สุดแล้วการเปิดใจคุยกันด้วยเหตุผล ยอมรับและเคารพความแตกต่างทางความคิดของกันและกันน่าจะเป็นหนทางที่ดีที่สุด คงต้องชั่งใจให้ดีว่าคุ้มค่าหรือไม่หากทั้ง 2 ฝ่ายยึดความคิดตนเองอย่างสุดโต่งจนต้องสูญเสียความสัมพันธ์ที่ดีหรือคนที่มีบทบาทสำคัญในชีวิตไป

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวที่ได้รับความสนใจ