ศบค.ทบ. สั่งด่วนถึง ผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด จัดแผนยับยั้งการแพร่ระบาดโควิด-19

21 ธ.ค. 63

ศบค.มท. สั่งการผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด บูรณาการทุกภาคส่วนหยุดยั้งการแพร่ระบาดโควิด-19 พร้อมสร้างการรับรู้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด

วันนี้ (21 ธ.ค.63) ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงมหาดไทย (ศบค.มท.) เปิดเผยว่า ศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) ได้จัดประชุมเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2563 โดยมี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นประธาน กำหนดมาตรการควบคุมพื้นที่ และกำกับดูแลสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)

เพื่อเตรียมการรองรับสถานการณ์กรณีมีผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับการสั่งการและประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้สั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด (ยกเว้นจังหวัดสมุทรสาคร) ถือปฏิบัติตามข้อสั่งการและข้อเสนอแนะโดยเคร่งครัด ได้แก่

1) จังหวัดที่มีพื้นที่ติดต่อกับจังหวัดสมุทรสาคร (สมุทรสงคราม นครปฐม และราชบุรี) และจังหวัดที่มีข้อมูลผู้ติดเชื้อหรือเดินทางเข้ามาในพื้นที่เสี่ยงของจังหวัดสมุทรสาคร เช่น จังหวัดฉะเชิงเทรา สุพรรณบุรี และสมุทรปราการ ให้ค้นหาบุคคลในพื้นที่ที่มีความเกี่ยวข้องกับการซื้อขายสินค้าตลาดสัตว์น้ำในจังหวัดสมุทรสาคร ในกรณีจังหวัดที่มีโรงงานอุตสาหกรรม สถานประกอบการ ซึ่งใช้แรงงานต่างด้าวหรือแรงงานในประเทศ ให้ขอความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนความปลอดภัยด้านสาธารณสุขและดำเนินการตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด และจัดตั้งจุดตรวจ จุดสกัด จุดคัดกรองโรค โดยประสานการปฏิบัติกับตำรวจภูธรจังหวัด กองบัญชาการตำรวจนครบาล สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สกัดกั้นการเดินทางเข้า-ออกและการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าว และควบคุมคนไทยที่เดินทางเข้า-ออกจากสมุทรสาครตามความจำเป็น พร้อมทั้งจัดเตรียมสถานที่กักกันตัวและเตรียมความพร้อมอุปกรณ์ เครื่องมือ และทรัพยากรทางการแพทย์ รองรับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่อาจจะเกิดขึ้น

2) จังหวัดพื้นที่ชายแดน แบ่งเป็น 2 ระดับ ได้แก่ การปฏิบัติในพื้นที่ชายแดน ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัด (ผอ.รมน.) ประสานการปฏิบัติ วางมาตรการร่วมกับหน่วยทหารในพื้นที่ หน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง (นรข.) ตำรวจตระเวนชายแดน กองกำลังป้องกันชายแดน เข้มงวด ควบคุมการลักลอบเข้าประเทศ และการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าว โดยตั้งเครื่องกีดขวาง เพิ่มการลาดตระเวนตลอด 24 ชั่วโมง เฝ้าระวังและป้องกันมิให้มีการลักลอบเดินทางเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมายผ่านช่องทางธรรมชาติบริเวณพื้นที่ชายแดน หากพบการลักลอบเข้าประเทศ ให้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเข้มข้น และการปฏิบัติในพื้นที่ตอนใน ให้ประสานการปฏิบัติกับตำรวจภูธรจังหวัด สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่สาธารณสุข เจ้าหน้าที่ศุลกากร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งจุดตรวจ จุดสกัด และจุดคัดกรองโรค บุคคล และการขนส่งสินค้าจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยคัดกรองบุคคลที่เดินทางเข้าเมืองตามมาตรการกระทรวงสาธารณสุข กำหนดจุดรับ-ส่งสินค้าให้อยู่ในพื้นที่และระยะเวลาที่กำหนด พร้อมกำหนดให้มีผู้บัญชาการเหตุการณ์ (Incident Commander : IC) ประจำช่องทางผ่านแดนทุกแห่งที่มีการอนุญาตให้ใช้ในการผ่านเข้า-ออก ของบุคคล สินค้า และยานพาหนะ ที่ชัดเจน สามารถปฏิบัติงานได้ 24 ชั่วโมง และควบคุมมิให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวจนกว่าจะมีคำสั่งผ่อนคลาย นอกจากนี้ ให้พิจารณาถึงความจำเป็นในการควบคุมหรือระงับการเดินรถประจำทางสาธารณะหรือรถไฟ ซึ่งอาจเป็นจุดเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรค หากมีการระงับการเดินรถข้ามเขตจังหวัด ให้รายงาน ศบค.มท. เพื่อเสนอ ศบค. พิจารณา ทั้งนี้ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเสนอคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเพื่อวางมาตรการลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชน

3) ในทุกจังหวัด (ยกเว้นจังหวัดสมุทรสาคร) ให้ตรวจสอบบุคคลที่มีความสัมพันธ์และเกี่ยวข้องกับการซื้อขายสัตว์น้ำในตลาดสัตว์น้ำจังหวัดสมุทรสาคร หากพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ให้ดำเนินการตามมาตรการกระทรวงสาธารณสุข และรายงาน ศบค.มท. ทราบทันที พร้อมประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่เดินทางไปในพื้นที่เสี่ยงและกังวลว่าตนเป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ ติดต่อสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหรือหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ทันที และสำหรับการปฏิบัติในพื้นที่หมู่บ้าน/ชุมชน ให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้าน ผู้นำชุมชน อาสาสมัครในพื้นที่ รวมทั้งขอความร่วมมือประชาชนในพื้นที่ สำรวจ ตรวจสอบบุคคลที่เดินทางเข้ามาในหมู่บ้าน/ชุมชน และเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยง หากพบ ให้ดำเนินการตามมาตรการกระทรวงสาธารณสุข โดยอาจนำเข้าสู่กระบวนการสอบสวนโรค ทั้งนี้ หากพบการละเมิดให้พิจารณาดำเนินการตามกฎหมายทันที รวมถึงให้ชี้แจงทำความเข้าใจกับข้าราชการ บุคลากร และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง มิให้ปล่อยปละละเลยหรือรู้เห็นเป็นใจในพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้อง ไม่สอดคล้องกับนโยบายและมาตรการของ ศบค. หากฝ่าฝืนอาจเข้าข่ายเป็นความผิดทางวินัยหรืออาญาด้วย นอกจากนี้ ให้สร้างการรับรู้ความเข้าใจขอความร่วมมือภาคประชาชนและภาคประชาสังคม ทั้งผู้ให้บริการ ผู้ใช้บริการ ผู้จัดกิจกรรม และผู้ร่วมกิจกรรม ในพื้นที่สาธารณะ ปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด คือ สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า ทำความสะอาดพื้นผิวและอุปกรณ์ที่มีการสัมผัสบ่อย เว้นระยะห่างหรือหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับบุคคลอื่น และใช้แพลตฟอร์มไทยชนะในการเข้าออกสถานที่สาธารณะ

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวที่ได้รับความสนใจ