ศาลเบี้ยวซ้ำ ไม่อนุญาตให้เข้าสำรวจแนวเขตบ้านพักดอยสุเทพ ปชช. ยันรื้อบ้านพักทิ้ง

18 เม.ย. 61
ความคืบหน้า กรณีความเคลื่อนไหวของประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่ ที่เรียกร้องให้มีการยุติและยกเลิกโครงการก่อสร้างบ้านพักข้าราชการตุลาการศาลอุทธรณ์ภาค 5 บนพื้นที่ป่าเชิงดอยสุเทพ ต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่
บ้านพักข้าราชการตุลาการศาลอุทธรณ์ภาค 5 บนพื้นที่ป่าเชิงดอยสุเทพ
วันนี้ (18 เม.ย.) คณะกรรมการร่วม คือหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง และภาคประชาชน ตัวแทนจากจังหวัดเชียงใหม่, สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่, สำนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่, ชลประทานเชียงใหม่, ธนารักษ์พื้นที่จังหวัดเชียงใหม่, อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย, ป่าไม้ และเครือข่ายของคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ ซึ่งเป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกันตามข้อสั่งการของ พลโทวิจักขฐ์ สิริบรรสพ แม่ทัพภาคที่ 3 จากการเปิดเวทีสาธารณะเพื่อร่วมกันหาทางออกกรณีโครงการดังกล่าว ร่วมประชุมหารือกันที่ที่ห้องประชุมโครงการชลประทานเชียงใหม่
บรรยากาศในการประชุม
โดยการประชุมครั้งนี้ เดิมกำหนดที่จะเข้าพื้นที่โครงการก่อสร้างบ้านพักข้าราชการตุลาการศาลอุทธรณ์ภาค 5 ด้วย เพื่อสำรวจสภาพจริงโดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวเขตป่า เพื่อกำหนดแนวเขตที่เหมาะสมในกรณีที่จะต้องดำเนินการรื้อถอนบ้านพักข้าราชการตุลาการศาลอุทธรณ์ภาค 5 ในส่วนที่ล้ำขึ้นไปบนดอยสุเทพ เบื้องต้นมีการกำหนดแนวเขตเพื่อเป็นแนวทางประกอบการพิจารณาตัดสินใจไว้ 3 แนว ได้แก่ 1. รื้อบ้านพักทั้งหมดและอาคารแฟลตที่พัก 9 หลัง จากทั้งหมด 13 หลัง ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องของเครือข่ายโดยยึดแนวเขตป่าดั้งเดิม 2. รื้อบ้านพักทั้งหมดและอาคารแฟลตที่พัก 6 หลัง และ 3. รื้อบ้านพักทั้งหมดพร้อมคงอาคารแฟลตที่พักไว้ทั้งหมด 13 หลัง
ภาพจำลองการไหลของน้ำ ในป่าดอยสุเทพ
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการร่วมฯ ที่ลงพื้นที่ในครั้งนี้ ไม่ได้เข้าไปสำรวจพื้นที่จริงในโครงการแต่อย่างใด เนื่องจากยังไม่ได้รับการอนุญาต แม้ว่าจะมีการติดต่อประสานงานไว้ล่วงหน้าแล้ว นับเป็นครั้งที่ 2 แล้ว หลังจากที่เมื่อวันที่ 11 เม.ย. ทางคณะกรรมการร่วม ได้ลงพื้นที่สำรวจและพยายามขออนุญาตเข้าพื้นที่โครงการมาแล้วครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ในการประชุมครั้งนี้นั้น ทุกฝ่ายมีความเห็นตรงกันว่า มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องฟื้นฟูสภาพพื้นที่ดังกล่าว ไม่ว่าจะมีการรื้อถอนบ้านพักหรือไม่ก็ตาม เพราะไม่ใช่เพียงต้นไม้ที่ถูกตัดออกไปเท่านั้น แต่หน้าดินบริเวณดังกล่าวถูกถากออกไปหมดแล้ว
ภาพจำลองบ้านพักข้าราชการตุลาการฯ บนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ
โดยตัวแทนจากสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 และป่าไม้ ระบุว่า การฟื้นฟูต้องเร่งทำทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เริ่มจากปลูกพืชคลุมดินควบคู่ไปกับการปลูกต้นไม้ใหญ่ ซึ่งจะต้องเป็นไม้พื้นถิ่นดอยสุเทพและมีความเหมาะสมกับป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ โดยเสนอให้มีการปลูกต้น “คำมอกหลวง” ที่เป็นต้นไม้ประจำถิ่นดอยสุเทพและมีดอกสวยงาม เพื่อให้เป็นสัญลักษณ์ของการฟื้นฟูป่าในครั้งนี้ด้วย ขณะที่ตัวแทนภาคประชาชนยืนยันว่า การก่อสร้างบ้านพักในพื้นที่ดังกล่าวไม่เหมาะสมอย่างยิ่งและต้องการขอพื้นที่ป่ากลับคืนมา ทั้งยังเสนอแนวทางว่าให้มีการดำเนินการคืนพื้นที่ดังกล่าวและประกาศให้เป็นเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย โดยที่ยึดแนวเขตพื้นที่ราบต่อเนื่องมาจากพื้นที่ห้วยตึงเฒ่า ซึ่งในระหว่างดำเนินการดังกล่าวนี้ให้งดการทำกิจกรรมทุกอย่างในพื้นที่ดังกล่าว พร้อมตั้งคณะทำงานที่ประกอบด้วยผู้มีความรู้พิจารณาแนวทางการดำเนินการรื้อถอน ส่วนการขออนุญาตเข้าพื้นที่โครงการก่อสร้างนั้น ว่าที่ร้อยตรียงยุทธ เรืองภัทรกุล ธนารักษ์พื้นที่เชียงใหม่ เป็นประธานในการประชุมครั้งนี้ รับที่จะดำเนินการทำหนังสือขออนุญาตเพื่อขอเข้าพื้นที่โครงการในวันที่ 20 เม.ย. นี้ และจัดทำข้อสรุปเกี่ยวกับแนวเขตรื้อถอนให้ได้ภายในวันเดียวกัน เพื่อนำเสนอให้แม่ทัพภาคที่ 3 จากเดิมที่กำหนดจะสรุปให้ได้ภายในวันที่ 19 เม.ย.
นายธีระศักดิ์ รูปสุวรรณ ผู้ประสานงานเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ
นายธีระศักดิ์ รูปสุวรรณ ผู้ประสานงานเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ หนึ่งคณะกรรมการร่วมฯ เปิดเผยหลังการประชุมว่า วันนี้ทางคณะกรรมการร่วมฯ ยังไม่สามารถเข้าไปลงพื้นที่โครงการก่อสร้างบ้านพักดังกล่าวได้ เพื่อสำรวจและรวบรวมข้อมูลนำมาประกอบการพิจารณาได้ เนื่องจากศาลยังไม่อนุญาตเป็นครั้งที่ 2 อย่างไรก็ตามทางธนารักษ์จะทำหนังสือขออนุญาตอีกครั้งเพื่อขอเข้าพื้นที่โครงการในวันที่ 20 เม.ย. หากยังไม่ได้รับการอนุญาตอีกครั้ง คาดว่าคณะกรรมการร่วมฯ จะต้องทำการประชุมสรุปกันให้ได้โดยไม่จำเป็นต้องเข้าพื้นที่แล้ว เพราะเบื้องต้นมีข้อมูลประกอบการพิจารณาอยู่แล้วพอสมควรทั้งจากการสำรวจภาคพื้นและทางอากาศ
บ้านพักข้าราชการตุลาการศาลอุทธรณ์ภาค 5 บนพื้นที่ป่าเชิงดอยสุเทพมุมสูง
ผู้ประสานงานเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพย้ำว่า จุดยืนว่าภาคประชาชนต้องการให้คืนพื้นที่ป่าโดยยึดแนวเขตป่าดั้งเดิมที่ลากผ่านจากห้วยตึงเฒ่าต่อเนื่องมาถึงพื้นที่โครงการก่อสร้างบ้านพัก ซึ่งจะต้องรื้อบ้านพักทั้ง 45 หลัง และอาคารแฟลตที่พัก 9 หลัง จากทั้งหมด 13 หลัง ทั้งนี้หากเป็นไปได้อยากให้มีการมอบพื้นที่นี้ให้อยู่ในความดูแลของอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย โดยในวันที่ 20 เม.ย. นี้ จะต้องพูดคุยกันให้ได้ข้อสรุปอย่างแน่นอน เพื่อนำเสนอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาตัดสินใจ ซึ่งอยากวิงวอนนายกรัฐมนตรีให้ตัดสินใจเรื่องนี้โดยเร็วที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบและสร้างความเสียหายมากไปกว่านี้ โดยเชื่อว่าหากนายกรัฐมนตรีได้มาเห็นสภาพพื้นที่จริงที่เป็นป่า จะต้องรู้สึกอยากปกป้องป่าเอาไว้อย่างแน่นอน

advertisement

ข่าวยอดนิยม

ข่าวที่ได้รับความสนใจ