รอชม! 2 ปรากฏการณ์ 'ฝนดาวตกเจมินิดส์' กับดาวพฤหัส-ดาวเสาร์ ใกล้กันสุดในรอบ 397 ปี

11 ธ.ค. 63

สดร.เผยเดือน ธ.ค.นี้จะมี 2 ปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ เริ่มจาก "ฝนดาวตกเจมินิดส์" เห็นชัดด้วยตาเปล่าคืนวันที่ 13 ธ.ค. จนถึงรุ่งเช้า 14 ธ.ค. กับ "The Great Conjunction 2020" ดาวพฤหัส เคียงดาวเสาร์ ใกล้กันที่สุดในรอบ 397 ปี ช่วง 20-23 ธ.ค. ถ้าพลาดต้องรอไปอีก 60 ปี

เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 63 นายวรวิทย์ ตันวุฒิบัณฑิตย์ ปราชญ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านดาราศาสตร์ไทย และที่ปรึกษาหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฉะเชิงเทรา กล่าวว่า ในคืนวันที่ 13 ต่อ 14 ธ.ค. 63 นี้ จะมีปรากฏการณ์ด้านดาราศาสตร์ที่เรียกว่า "ฝนดาวตกเจมินิดส์" เกิดขึ้น โดยสามารถชมได้ทั่วทุกภาคในประเทศไทย

ฝนดาวตกเจมินิดส์เกิดขึ้นจากการที่โลกเราโคจรฝ่าเข้าไปในกลุ่มเศษสายธารอุกาบาตร ที่ดาวเคราะห์น้อย 3002 เฟทรอน ทิ้งเศษซากไว้ เชื่อว่าดาวเคราะห์น้อยดังกล่าวโคจรรอบระบบสุริยะได้ทิ้งเศษซากเอาไว้ เมื่อโลกโคจรเข้าไปได้เสียดสีกับชั้นบรรยากาศเกิดฝนดาวตกดังกล่าวมองเห็นเป็นสีต่าง ๆ

1607674143316

โดยอัตราการเกิดฝนดาวตก หรือพีคสูงสุด คาดว่ามีมากกว่า 80-150 ดวงต่อชั่วโมง รับชมได้หลังเวลา 21.00 น.เป็นต้นไป จะเกิดปรากฏการณ์สูงสุดหลังเที่ยงคืน มีลักษณะพิเศษคล้ายหยดน้ำหลากสี สีเขียว, เหลือง, ม่วง และฟ้า พุ่งมาจากกลุ่มดาวคนคู่ การชมให้นอนราบหนุนหมอนนอนรอชม หันหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ

"จึงขอเชิญชวนทุกท่านมากางเต้นท์รับลมหนาวนอนที่หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฉะเชิงเทรา หอดูดาวภูมิภาค ชาวภาคตะวันออกใกล้กรุงเทพฯ ที่สุดรอชมปรากฏการณ์ได้ตลอดทั้งคืน ตั้งแต่ช่วงหัวค่ำ 17.00 น. จรด 05.00 น. ช่วงหัวค่ำชมดาวเคราะห์ผ่านกล้องดูดาวได้" นายวรวิทย์ กล่าวในที่สุด

1607674176583

ทางด้านนายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.)) เปิดเผยว่า เดือน ธ.ค.นี้ มีปรากฏการณ์ดาราศาสตร์สำคัญที่น่าติดตาม 2 ปรากฏการณ์ ได้แก่ "ฝนดาวตกเจมินิดส์" หรือฝนดาวตกกลุ่มดาวคนคู่ สังเกตได้ตั้งแต่ช่วงหัวค่ำเวลาประมาณ 20.30 น.ของวันที่ 13 ธ.ค. จนถึงรุ่งเช้าของวันที่ 14 ธ.ค. 63 ศูนย์กลางการกระจายอยู่บริเวณกลุ่มดาวคนคู่ ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ดูได้ด้วยตาเปล่าทั่วประเทศในปีนี้ คาดว่าจะมีอัตราการตกสูงสุดถึง 150 ดวงต่อชั่วโมง และไม่มีแสงจันทร์รบกวน เหมาะแก่การสังเกตการณ์เป็นอย่างยิ่ง

1607674246367

อีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่น่าติดตามอย่างยิ่งคือ ปรากฏการณ์ "ดาวพฤหัสบดี" เคียง "ดาวเสาร์" ใกล้ที่สุดในรอบ 397 ปี หรือเรียกว่าปรากฏการณ์ "The Great Conjunction 2020" จะเกิดในช่วงวันที่ 20-23 ธ.ค. 63 ดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์จะปรากฏใกล้กันบนท้องฟ้าห่างเพียง 0.1 องศาเท่านั้น หากมองด้วยตาเปล่าจะเห็นเสมือนเป็นจุดสว่างเพียงจุดเดียว หากมองผ่านกล้องโทรทรรศน์กำลังขยายไม่เกิน 200 เท่า จะเห็นดาวเคราะห์ทั้งสองอยู่ในช่องมองภาพเดียวกัน สังเกตได้ในช่วงค่ำทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ บริเวณกลุ่มดาวคนยิงธนูและกลุ่มดาวเเพะทะเล ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นในทุก 20 ปี แต่ครั้งนี้นับว่าเข้าใกล้ที่สุดในรอบกว่า 397 ปี หากพลาดโอกาสชมปรากฏการณ์ครั้งนี้ต้องรออีก 60 ปีข้างหน้าดาวเคราะห์ทั้งสองจึงจะเข้ามาใกล้กันในระยะห่าง 0.1 องศาแบบนี้อีกครั้ง

220727

 

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวที่ได้รับความสนใจ