"หินกินเหล็ก" มั่ว! เจษฎา ฟันธงฝีมือโจร แฉทำได้สุดง่าย ไม่ใช่ของมหัศจรรย์ (คลิป)

9 เม.ย. 61
จากกรณีที่ในโลกออนไลน์ได้มีการแชร์คลิปวิดีโอ ที่มีคนนำหินก้อนสีดำขนาดใหญ่มาวางไว้ แล้วก็นำตะปูมาวางลงบนหินดังกล่าว ผ่านไปสักระยะ ปรากฏว่าตะปูเกิดค่อย ๆ ละลายลง โดยระบุข้อความว่า "หินกินเหล็กอยู่ที่พม่า เจอโดยทหารกระเหรี่ยงอยู่ที่พม่า เอาปืนวางไว้แล้วปืนละลาย เป็นหน้าที่ของผู้รู้ที่จะสืบหาความจริงต่อไป"
ภาพจากคลิป ตะปูละลายบนก้อนหินสีดำ
วันนี้ (8 เม.ย.) รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  อธิบายถึงกรณีนี้ว่า เป็นเรื่องที่มีการแชร์มานานมากแล้ว และก็เป็นคดีความกันมาหลายครั้ง โดยกลุ่มมิจฉาชีพมักจะกล่าวอ้างว่าเจอหินประหลาด หรือ หินวิเศษที่มีรังสีบางอย่างสามารถกินเหล็กได้ ซึ่งจะใช้วิธีการนำหินมาโชว์ให้ดู อย่างกรณีที่เห็นในคลิป ก็จะนำตะปูมาวางไว้บนหิน จากนั้นตะปูก็ได้ละลายไหลเป็นทาง ซึ่งก่อนหน้านี้ ก็มีหลากหลายรูปแบบ อย่างเช่นนำตะปูมาหักให้ดู ซึ่งทั้งหมดถือว่าเป็นการหลอกลวง โดยจะใช้หลักการทางมายากลมาผสมผสานในการหลอกเหยื่อ
รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รศ.ดร.เจษฎา อธิบายว่า ตัวตะปูที่นำมาใช้หลอก มิจฉาชีพก็จะใช้ตะปูมายากลวิทยาศาสตร์ ที่ทำมาจากธาตุกาเลี่ยม ซึ่งเป็นธาตุโลหะ โดยเมื่ออยู่ในสภาวะที่อุณหภูมิร้อนเล็กน้อยประมาณ 30 องศาเซลเซียส ธาตุนี้จะเริ่มหลอมละลาย กลายเป็นของเหลวได้ง่าย เพราะฉะนั้น ถ้านำมาวางบนหินที่ร้อนหรือหินที่ตากแดด ตะปูพวกนี้ก็จะหลอมละลายกลายเป็นของเหลวอย่างที่เราเห็นในคลิป ทั้งนี้ หินที่เหล่ามิจฉาชีพนำมานั้น เท่าที่ดูก็เป็นหินทั่วไป ไม่ได้มีอะไรพิเศษ เพียงแต่หารูปทรงหรือสีที่แปลกตา และกลุ่มมิจฉาชีพมักจะอ้างว่า เป็นหินที่องค์การนาซ่าเอามา หรือสร้างเรื่องราวขึ้นมาต่างๆ นานา จนทำให้คนหลงเชื่อ และซื้อหินไป บางรายสูญเงินไปเป็นล้านก็มีมาแล้ว
รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พูดคุยกับผู้สื่อข่าว
รศ.ดร.เจษฎา กล่าวต่อว่า ของพวกนี้ไม่ได้มีอยู่จริงในโลก เป็นแค่เพียงความเชื่อ และกลุ่มมิจฉาชีพมักจะนำมาหลอกขาย ซึ่งหากเราเข้าไปดูในเว็บไซต์ ก็จะพบวิธีการหลอกลวงของกลุ่มพวกนี้อยู่มาก หรือหากมีความสงสัยก็สามารถสอบถามไปยังเจ้าหน้าที่ผู้ที่เชี่ยวชาญได้ ว่าหินที่ว่านี้มีลักษณะเป็นอย่างไร อย่าไปหลงเชื่อเสียเงินซื้อมา และหากพบเจอก็ควรนำตะปูของเราไปพิสูจน์เอง เมื่อนำไปทดสอบก็จะได้รู้ว่าหินนั้น มีลักษณะพิเศษอย่างที่กล่าวอ้างจริงหรือไม่ นอกจากนี้ รศ.ดร.เจษฎา กล่าวทิ้งท้ายว่า กลุ่มพวกนี้มีลูกเล่นในการหลอกลวงเหยื่อที่มากมาย เพราะฉะนั้นเราไม่ควรไปหลงเชื่อเพราะหินพวกนี้ไม่มีจริง

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวที่ได้รับความสนใจ