ศาลอุทธรณ์รับฟ้อง "ผู้กองปูเค็ม" กล่าวหาอาจารย์ ม.เกษตรฯ เป็นกบฎ

26 พ.ย. 63

ศาลอุทธรณ์กลับคำพิพากษาศาลชั้นตน รับฟ้องคดี "ผู้กองปูเค็ม" กล่าวหา "ผศ.ดร.ชลิตา" อาจารย์ ม.เกษตรฯ เป็นกบฎยุยงแบ่งแยกดินแดน ชี้พฤติกรรมมุ่งทำลายชื่อเสียง-ศักดิ์ศรี นัดสอบคำให้การจำเลย 8 ก.พ.ปีหน้า

วันที่ 26 พ.ย. 63 ที่ห้องพิจารณา 811 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลอ่านคำสั่งอุทธรณ์ชั้นไต่สวนมูลฟ้อง คดีหมายเลขดำ อ.2890/2562 ที่ น.ส.ชลิตา บัณฑุวงศ์ อาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ร.อ.ทรงกลด ชื่นชูผล หรือ ผู้กองปูเค็ม แนวร่วม กปปส. ทีมการ์ดชาตินิยม (TWG) เป็นจำเลย ในความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328 กรณี น.ส.ชลิตา โจทก์แสดงความคิดเห็นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 1 แต่ ร.อ.ทรงกลด จำเลย กล่าวหาโจทก์เป็นกบฏ ยุยงปลุกปั่นแบ่งแยกดินแดน 

คำฟ้องโจทก์ระบุพฤติการณ์จำเลย 4 กรณี ดังนี้

1. วันที่ 2 ต.ค. 62 จำเลยโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก “ผู้กองปูเค็ม” เชิญชวนให้คนไปที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อยื่นหนังสือร้องเรียนโจทก์ต่ออธิการบดี กล่าวหาว่าโจทก์ปลุกปั่น แยกดินแดน ขัดรัฐธรรมนูญ
2. วันที่ 3 ต.ค. 62 จำเลยเฟซบุ๊กไลฟ์ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถ้อยคำใส่ความโจทก์หลายถ้อยคำ (มีถ้อยคำหยาบคายและหาว่ามีแนวคิดกบฏ)
3. วันที่ 3 ต.ค. 62 หนังสือร้องเรียนของจำเลยขอให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยโจทก์ กล่าวหาการกระทำโจทก์ส่อว่าให้มีการแบ่งแยกรัฐ หรือสนับสนุนให้มีการแบ่งแยก และเติมเชื้อไฟให้สถานการณ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ
4. วันที่ 31 ต.ค. 62 จำเลยโพสต์ข้อความว่า “การแอบอ้างเสรีทางวิชาการเพื่อแบ่งแยกแผ่นดินนั้น ควรถูกตัดหัวเสียบประจาน จริงมั๊ย ชลิตา?” การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง เป็นความเท็จ โจทก์มิได้ยุยงปลุกปั่นประชาชนแยกดินแดนแต่อย่างใด

คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 17 มี.ค. 63 ให้ยกฟ้องในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง เนื่องจาก เห็นว่า ข้อความดังกล่าวแม้จะเป็นถ้อยคำที่รุนแรงไปบ้าง ก็ถือเป็นเพียงการกล่าวถ้อยคำไม่สุภาพและคำหยาบเท่านั้น ไม่ถึงขนาดเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ หรือทำให้โจทก์เสียชื่อเสียงแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท

ต่อมาโจทก์ยื่นอุทธรณ์คำสั่ง ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนปรึกษากันแล้ว เห็นว่า โจทก์และจำเลยมีสิทธิ เสรีภาพเท่าเทียมกันในการแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญ ตราบเท่าที่ไม่ได้ไปละเมิดสิทธิของบุคคลอื่น แต่ปรากฏว่าจำเลยไม่ได้วิพากษ์วิจารณ์และแสดงความคิดเห็นในเนื้อหาเกี่ยวกับการเสวนาของจำเลย แต่มุ่งแสดงความเห็นที่เป็นการทำลายชื่อเสียง ศักดิ์ศรี และคุณค่าฐานะทางสังคมของโจทก์ ในชั้นนี้ยังฟังไม่ได้ว่าแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต หรือติชมด้วยความเป็นธรรม อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้นว่าคดีมีมูล จึงพิพากษากลับให้ประทับรับฟ้องคดีไว้พิจารณา

ภายหลังฟังคำพิพากษาแล้ว น.ส.ชลิตา ให้สัมภาษณ์ว่า รู้สึกดีใจ เพราะไม่คิดว่าศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษามาลักษณะนี้ คิดว่าจะยืนตามศาลชั้นต้น ทำให้รู้สึกเชื่อมั่นกับกระบวนการยุติธรรมขึ้นมาอีกพอสมควร โดยส่วนตัวคิดว่าเคสแบบนี้ไม่ควรจะเกิดขึ้นกับใครคนอื่นด้วย 

ทั้งนี้ศาลได้นัดสอบคำให้การจำเลย ตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 8 ก.พ.2564 เวลา 9.00 น.

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม