เผยภาพพยาธิในเนื้อปลา เตือนใจคนชอบลาบ ก้อย ปลาร้า ปลาส้ม สุก ๆ ดิบ ๆ

16 พ.ย. 63

ยังจะกินดิบต่อ...หรือพอแค่นี้!? นักวิจัยโรคปรสิต มทส.เตือนคนชอบกินลาบ ก้อย ปลาร้า ปลาส้มแบบดิบ ๆ ให้สังเกตเนื้อปลา ครีบ เกล็ด เหงือก หากมีจุดดำ ๆ ผิดปกติ ให้เลี่ยง เพราะเสี่ยงจะเป็นพยาธิ สาเหตุของมะเร็งในท่อน้ำดี-มะเร็งตับ

จากกรณีที่ศูนย์วิจัยโรคปรสิต สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี โพสต์เตือนในเฟซบุ๊ก "สำหรับคนที่ชื่นชอบลาบ ก้อย ปลาร้า ปลาส้ม ก่อนนำปลามาทำอาหารกิน ลองสังเกตดูระยะติดต่อของพยาธิตามเนื้อปลา ครีบ เกล็ด เหงือกของกลุ่มปลาเกล็ดขาว ไม่ว่าจะเป็นปลาขาวนา ปลากระสูบ ปลาขาวสร้อย ปลาตะเพียน ฯลฯ ซึ่งระยะติดต่อจะมีจุดดำ เหมือนกับภาพที่เห็นนี้ จะเป็นสิ่งที่ช่วยทำให้เราตัดสินใจ จะทำอาหารกินแบบดิบ หรือสุก" โดยชาวโซเชียลต่างแชร์ภาพและข้อความจำนวนมาก พร้อมแสดงความคิดเห็น เช่นเห็นภาพแล้วขนลุก มิน่าคนถึงเป็นโรคเยอะ และบอกว่าต้องกินสุกถึงจะปลอดภัยนั้น

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
คีบพยาธิออกจากตาเกือบ 20 ตัว อยู่มาเป็นปีแล้ว
อวสานยำผลไม้! สาวโพสต์เจอสิ่งแปลกปลอมคล้ายพยาธิ เพิ่งเห็นตอนจะหมด
แพทย์เตือน "ตำปูไต่" อันตราย! เสี่ยงพยาธิใบไม้ในปอด
เปิดใจหนุ่มใหญ่ดึงพยาธิตัวตืด 4 เมตรออกจากก้น รับของโปรดเมนูก้อยดิบ

ล่าสุด เมื่อวันที่ 16 พ.ย. 63 ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปที่ศูนย์วิจัยโรคปรสิต สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี พบกับทีมนักวิจัยเพื่อสอบถามถึงเรื่องดังกล่าว โดย ผศ.ดร.ณัธคพัชฬ รัตนพิทูลย์ นักวิจัย ศูนย์วิจัยโรคปรสิต สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เปิดเผยว่า จากการสำรวจความชุกของโรคหนอนพยาธิในระบบทางเดินอาหาร ในประเทศไทย โดยกระทรวงสาธารณสุข ล่าสุดในปี 2562 จำนวน 16,000 ราย จากทั่วประเทศ พบอัตราความชุก 9.79% พยาธิปากขอพบมากที่สุด 4.47% ส่วนพยาธิที่พบอื่น ๆ รองลงมาคือ พยาธิใบไม้ตับ 2.2% พยาธิใบไม้ลำไส้ขนาดเล็ก 1.31% พยาธิแส้ม้า 0.74% พยาธิตัวตืด 0.37% พยาธิเส้นด้าย 0.23% พยาธิไส้เดือน 0.22% และพยาธิใบไม้ลำไส้ขนาดกลาง 0.15%

พื้นที่พบมากที่สุดคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5% เนื่องจากมีค่านิยมชอบกินของสุก ๆ ดิบ ๆ เช่น ปลาร้าดิบ, ลาบเลือด, ก้อย, ปูดอง และปลาส้ม เป็นต้น โดยเฉพาะพยาธิเหล่านี้จะพบเป็นปรสิตอยู่ตามเกร็ด ครีบ และเหงือก ของปลาน้ำจืด ที่ชาวภาคตะวันออกเฉียงเหนือนิยมนำมารับประทานกันทั่วไป เช่น ปลาขาวนา ปลากระสูบ ปลาขาวสร้อย และปลาตะเพียน เป็นต้น ดังนั้นเมื่อนำมาปรุงอาหารไม่สุก ก็จะทำให้พยาธิเหล่านี้ไม่ตาย สามารถเข้าสู่ร่างกายของเราได้อย่างง่ายดาย หากสะสมเพิ่มมากขึ้นก็จะทำให้เกิดเป็นโรคมะเร็งตับ และมะเร็งในท่อน้ำดี ทำให้เสียชีวิตได้ ซึ่งโรคมะเร็งตับ และมะเร็งในท่อน้ำดีนี้ ถือว่าเป็นโรคอันดับต้น ๆ ที่ทำให้คนไทยเสียชีวิต

1605518052129

ด้าน รศ.พญ.ชวัลญ์ญา รัตนพิทูลย์ หัวหน้าศูนย์วิจัยโรคปรสิต สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี กล่าวว่า เนื่องจากปรสิตเป็นสิ่งมีชีวิต ที่อาศัยหาอาหารอยู่ในร่างกายของสิ่งมีชีวิตอีกที ดังนั้นจึงมีผลทำให้ร่างกายของสิ่งมีชีวิตที่ปรสิตเข้าไปอาศัยอยู่ถูกแย่งสารอาหารไป ทำให้ร่างกายซูบผอม มีภาวะโลหิตจาง และขาดสารอาหารได้ ซึ่งพยาธิก็ถือว่าเป็นปรสิตชนิดหนึ่ง ที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากประเทศไทยเป็นเมืองร้อนชื้น ทำให้มีพยาธิอยู่เป็นจำนวนมาก และมีโอกาสเข้าสู่ร่างกายของมนุษย์เราได้หลายทาง ไม่ว่าจะเป็นการชอนไชเข้าไปจากผิวหนังสู่ในร่างกายโดยตรง จากการสัมผัส และการรับประทานอาหารที่ปรุงไม่สุก

1605518004097

โดยเฉพาะการรับประทานอาหารที่ปรุงไม่สุก ซึ่งมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งในตับ และมะเร็งท่อน้ำดีมาก เพราะเมื่อพยาธิเข้าไปในกระเพาะอาหารได้แล้ว กระเพาะอาหารก็จะปล่อยกรดออกมาทำให้ซีสของพยาธิแตก เมื่อซีสแตกพยาธิไม่สามารถอาศัยอยู่ในกระเพาะได้ พยาธิก็จะว่ายออกไปหาที่อยู่ใหม่ ถ้าเป็นพยาธิไส้เดือน ก็จะไปฝังตัวดูกินอาหารในลำไส้ เติบโตแพร่พันธุ์อยู่ในนั้นเลย แต่ถ้าเป็นพยาธิใบไม้ตับ ก็จะว่ายไปที่ท่อน้ำดี ทำให้ร่างกายของเราสร้างเนื้อเยื้อเข้ามาห่อหุ้มพยาธิไว้ ส่งผลให้เกิดการอักเสบเรื้อรัง และพัฒนาไปสู่การเป็นมะเร็งท่อน้ำดีในที่สุด ซึ่งพยาธิใบไม้ตับนี้ถือว่าอันตรายที่สุดในขณะนี้ จึงฝากเตือนให้ประชาชนที่ชอบรับประทานอาหารแบบสุก ๆ ดิบ ๆ โดยเฉพาะปลาน้ำจืด รวมทั้งปลาส้ม ควรปรุงให้สุกก่อนรับประทาน เพื่อป้องกันไม่ให้พยาธิใบไม้ตับสามารถเข้าสู่ร่างกาย อันจะนำไปสู่การเป็นโรคมะเร็งในท่อน้ำดี และมะเร็งในตับได้

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวที่ได้รับความสนใจ