ฆ่าเสือดำยอมรับเถอะ! "ดำรงค์ พิเดช" เชื่อคนไทยอภัยได้ ดีกว่าดันทุรังปฏิเสธสู้คดี (คลิป)

6 มี.ค. 61
จากกรณีการตายของเสือดำ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ครบรอบ 1 เดือน ท่ามกลางกระแสสังคมมองว่า ผู้ต้องหาเป็นคนรวยอาจรอดคดี ล่าสุด มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสรุปสำนวนเร่งรัดดำเนินคดี โดย พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราห์มนกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ออกมายืนยันว่า คดีนี้ไม่มีการช่วยเหลือนายเปรมชัย อย่างแน่นอน แต่สังคมก็ดูจะยังไม่เชื่อ และเมื่อมูลนิธิสืบฯ ออกมาตอกย้ำอีก ทำให้เกิดคำถามว่า ออกมาเพื่ออะไร หรือกลัวว่าผู้ต้องหาจะหลุดคดี วันนี้ ( 3 มี.ค. 61) “รายการต่างคนต่างคิด” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ อมรินทร์ทีวี ช่อง 34 ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 18.50 น. ได้เชิญ นายดำรงค์ พิเดช อดีตอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ,น.ส.อรยุพา สังขะมาน หัวหน้าฝ่ายวิชาการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และนายวัชรบูล ลี้สุวรรณ กรรมการมูลนิธิสืบนาคะสเถียร มาพูดคุยในรายการ ภายใต้หัวข้อ “ครบ 1 เดือน ฆ่าเสือดำ (ไม่) ตายฟรี ถ้ามีเงิน”
น.ส.อรยุพา สังขะมาน หัวหน้าฝ่ายวิชาการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร
น.ส.อรยุพา สังขะมาน หัวหน้าฝ่ายวิชาการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวว่า ในฐานะองค์กรอนุรักษ์ ตอนนี้สังคมได้รับข่าวสารหลายกระแสไม่ตรงกัน จึงอยากให้สังคมไม่ลืมเรื่องนี้ ร่วมกันตรวจสอบและติดตาม เกี่ยวกับประเด็นผู้ต้องหาไม่ยอมรับสารภาพนั้น น.ส.อรยุพา กล่าวว่า เป็นสิทธิ์ของผู้ต้องหาที่จะปฏิเสธจึงไม่กังวลอะไร เป็นเรื่องปกติตามกระบวนการกฎหมาย
นายวัชรบูล ลี้สุวรรณ กรรมการมูลนิธิสืบนาคะสเถียร
นายวัชรบูล ลี้สุวรรณ กรรมการมูลนิธิสืบนาคะสเถียร เปิดเผยว่า จากที่รับทราบข้อมูลมาทั้งหมด ข้อหาที่ทางตำรวจแจ้งมีความแน่นหนาพอสมควร ในฐานะองค์กรอนุรักษ์ต้องคอยกระทุ้ง คอยเตือนและย้ำ และสิ่งสำคัญไม่ทำให้ประชาชนสับสน ขณะเดียวกันในฐานะประชาชนคนหนึ่งอดห่วงไม่ได้ว่า บุคคลมีชื่อเสียง มีเงิน มีอำนาจ อาจมีข้อกฎหมายยืดหยุ่น ยืดเวลาให้ หรือทำให้สำนวนอ่อนลงได้ แต่ก็ไม่ได้พุ่งเป้าไปที่ตำรวจ กลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว โดยฝ่ายอนุรักษ์พยายามบอกสังคมว่า คดีนี้จะไม่เกิดความไม่เท่าเทียมกันในสังคม จึงพยายามสื่อสารความจริงว่า ตำรวจมีขั้นตอนดำเนินการอย่างไร ขณะเดียวกัน ตำรวจเองก็ต้องอธิบายกับสังคมด้วยเหตุผล
นายดำรงค์ พิเดช อดีตอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
นายดำรงค์ พิเดช อดีตอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มองว่า การที่ตำรวจแจ้ง 9 ข้อหากับ นายเปรมชัย และพวก เป็นไปตามกฎหมาย และถือเป็นการจับกุมครั้งใหญ่ โดยปกติ ชาวบ้านทั่วไปที่เข้าไปยิงกระรอก หรือล่าสัตว์คุ้มครอง จะถูกแจ้งข้อหา 3 คดี ขณะที่ นายเปรมชัย กับพวก ถูกแจ้งทั้งข้อหาหลักและข้อหาย่อย ซึ่งต้องติดคุกอย่างแน่นอนไม่มีทางหลุด ส่วนจะติดมากน้อยแค่ไหนนั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่ง อย่างไรก็ตามการจำลองเหตุการณ์ของเจ้าหน้าป่าไม้ เนื่องจากผู้ต้องหาไม่ยอมรับสารภาพ ทำให้ต้องพยายามหาหลักฐานให้ได้มากที่สุด ทั้งที่คดีล่าสัตว์ที่ผ่านมาไม่เคยมีการพิสูจน์หลักฐานเยอะขนาดนี้ ครั้งนี้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่พิสูจน์ความจริง ทั้งอุจจาระ เปลือกไม้ แนวยิง ถือว่าคดีมีความแน่นหนา
พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
ทั้งนี้ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นมือหนึ่งเรื่องทำคดีทรัพยากรธรรมชาติฯ เคยทำงานร่วมกันในคดี “ช้างป่า” เป็นคนแม่นตัวบทกฎหมาย เอาผิดผู้กระทำผิดติดคุกทุกคน คาดว่าเรื่องที่คนส่วนใหญ่กำลังต่อว่า เป็นเพราะความใจร้อน น.ส.อรยุพา มองว่าเรื่องนี้ น่าจะเป็นความห่วง และกังวลมากกว่า กลัวกระแสข่าวเงียบหายไป คนจึงคิดว่าต้องทำอะไรออกมาสักอย่าง ส่วนนายดำรงค์ กล่าวสนับสนุนว่า เป็นเรื่องดีที่สังคมยังติดตาม ดีกว่าปล่อยให้เรื่องเงียบไปเฉยๆ ธุระไม่ใช่ อีกอย่าง หากเป็นการยิง เก้ง กวาง คนคงไม่ติดตามกัน แต่นี่เป็น “เสือดำ” สัตว์หายาก ซึ่งไม่รู้ว่าทุกวันนี้ประเทศไทยมีกี่ตัว ขณะเดียวกัน นายดำรงค์ มีความเห็นว่า ทนายของนายเปรมชัย กำลังพาหลงทาง ที่ไม่ยอมรับสารภาพ เพราะการทำผิดในที่หวงห้าม นำอาวุธครบมือเข้าไปล่าสัตว์ป่า ร่วมกันกิน มีซากไว้ในครอบครอง หลักฐานมีองค์ประกอบครบในการกระทำความผิด ยังไงก็ต้องติดคุกแน่นอน ซึ่งคดีนี้มีโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี
อาวุธปืนที่พบในรถของ นายเปรมชัย
น.ส.อรยุพา กล่าวเสริมว่า พฤติกรรมแห่งคดีค่อนข้างชัดเจน คือ มีการนำเกลือ และปืน เข้าไปในที่หวงห้าม ตั้งแคมป์ ส่อเจตนาชัดเจนว่า “ร่วมกันกระทำความผิด” ส่วนข้อเรียกร้อง เร่งรัดให้สรุปสำนวน พร้อมส่งความเห็นไปยังอัยการ และส่งฟ้องศาลโดยเร็วนั้น เนื่องจากในมุมของสาธารณชนยังไม่ค่อยเข้าใจ นักอนุรักษ์จึงต้องออกมาให้ข้อมูล ซึ่งการเร่งรัดอยากให้เร่งด้วยความละเอียดรอบคอบ อย่าให้ประชาชนรู้สึกว่าช้าไป หรือถ้าช้าก็อยากให้อธิบายว่าอยู่ในขั้นตอนไหน ซึ่งทางมูลนิธิฯ ได้สร้างความเข้าใจ ด้วยการทำ “ไทม์ไลน์” คดีเพื่อบอกกับสังคมรับรู้
นายเปรมชัย ถูกตั้งข้อหาตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535
นายดำรงค์ กล่าวถึงกรณีถอนฟ้องนายเปรมชัย  ข้อหาทารุณกรรมสัตว์ว่า พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ฯ พ.ศ.2557 มาตรา 3 คำว่า “สัตว์” ตาม พ.ร.บ.นี้หมายถึง สัตว์ที่เลี้ยงไว้เพื่อเป็นสัตว์บ้าน ไว้ใช้งาน ใช้เป็นพาหนะ ไม่ครอบคลุมสัตว์ที่อยู่ภายใต้กฎหมายของกระทรวงเกษตรฯ และของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ซึ่งสัตว์ใดที่ไม่มีรายชื่ออยู่ในสัตว์ป่าคุ้มครอง จะขึ้นกับกระทรวงเกษตรฯ ทั้งหมด ยกตัวอย่าง "หนูนา" เป็นสัตว์ธรรมชาติ ไม่ใช่สัตว์คุ้มครอง จะขึ้นกับกระทรวงเกษตร หากจะระบุให้ “เสือดำ” เป็นสัตว์คุ้มครอง ต้องใส่ไว้ใน พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ดังนั้น การที่ตำรวจถอนฟ้องคดี “ทารุณกรรมสัตว์” เป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว เพราะหาก นายเปรมชัย ฟ้องกลับร้อยเวรเจ้าของคดี ผู้กำกับการ และกรมตำรวจ ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ เป็นการหมิ่นประมาท เนื่องจากไม่มีข้อหา “ทารุณกรรมสัตว์ป่า” เรื่องนี้ น.ส.อรยุพา กล่าวอีกว่า ทราบตั้งแต่แรกคดีนี้ไม่เข้าข่ายทารุณสัตว์ เพราะตามคำนิยามของ พ.ร.บ.นี้ไม่รวมสัตว์ป่าและเสือดำ และหากจะเพิ่มในตัวบทกฎหมาย ต้องให้รัฐมนตรีเป็นผู้กำหนด ดังนั้นการที่สังคมดราม่าอยู่ในขณะนี้จึงเป็นเรื่องเข้าใจผิด และมูลนิธิฯ กำลังอธิบายให้เข้าใจ สำหรับกรณีที่ หากมีผู้ต้องหาบางคนรับสารภาพในชั้นศาล นายดำรงค์ กล่าวว่า คนอื่นๆ ก็ไม่พ้นคดี ต้องถูกดำเนินคดีด้วยเนื่องจากเป็นการตั้งข้อหา “ร่วมกันล่าสัตว์ป่า” ในเขตต้องห้าม โดยคนล่าจะถูกดำเนินคดีหนักกว่า ขณะที่คนอื่นอาจได้ลดหย่อน ซึ่งการปฎิเสธไม่เกี่ยวกับการล่า ต้องแสดงเจตนารีบแจ้งเจ้าหน้าที่ตั้งแต่แรก ทางด้าน นายวัชรบูล มองว่า หากผู้ต้องหายอมรับผิด คิดว่ายังไงสังคมก็ให้อภัย หากดื้อสู้ต่อในชั้นศาลแล้วไม่มีทางออกจะจบไม่สวย และทุกวันนี้ประชาชนเคลือบแคลงใจในกระบวนการยุติธรรมว่า กฎหมายปฎิบัติเท่าเทียมกันหรือไม่ ส่วน นายดำรงค์ มีความเห็นว่า กระบวนยุติธรรมตั้งแต่ตำรวจ อัยการ ศาล ไม่มีใครกล้าออกนอกลู่นอกทางอย่างแน่นอน แม้แต่ตำรวจยังไม่กล้าให้ประกันตัว ต้องไปประกันที่ชั้นศาล เนื่องจากเป็นคดีสะเทือนสังคม และไม่เคยเกิดเหตุการณ์เช่นนี้มาก่อน เคยมีแต่แอบล่า โดยเชื่อว่า ถ้าคดีนี้มีการออกนอกลู่นอกทาง จะเกิดการปฎิรูปหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทันที อย่างไรก็ตาม นายวัชรบูล พูดถึงเรื่องนี้ว่า ระดับเจ้าหน้าที่คงไม่ทราบ และคาดไม่ถึง เพราะมีการแจ้งว่าจะเข้าไปศึกษาธรรมชาติ ขนาดตนได้ยินข่าวยังตกใจ ไม่คิดว่าจะมีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น เพราะห้วยขาแข้ง ทุ่งใหญ่นเรศวรเป็นป่าอนุรักษ์มรดกโลกที่สำคัญของไทย มีระบบการจัดการดีที่สุด
นายวิเชียร ชิณวงษ์ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรฯ
เกี่ยวกับกรณีนี้ นายดำรงค์ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่คงทราบว่า คณะของนายเปรมชัย จะเข้ามาในพื้นที่ บวกกับผู้บังคับบัญชาสั่งมา จึงคิดไม่ถึงว่าจะเกิดเรื่องดังกล่าว เพราะปกติคนล่าสัตว์ต้องแอบเข้ามา ไม่ใช่มาอย่างเปิดเผย ซึ่งเจ้าหน้าที่ 2-3 คน คงไม่กล้าตรวจค้นคนระดับนี้ อีกอย่างหัวหน้าวิเชียร ประจำอยู่อีกที่หนึ่ง แต่เมื่อพบความผิดปกติ ได้ไปตามจนเจอที่ห้วยปะชิ ก่อนมาเจอซากเสือดำ และดำเนินคดีกับคนกลุ่มนี้ ส่วนคลิปเสียงติดสินบน นายดำรงค์ มองว่า การให้สัมภาษณ์ของเจ้าหน้าที่ เสมือนเป็นเหมือนดาบสองคม เพราะไม่รู้ความจริง อีกทั้งคลิปเสียงไม่ใช่เสียงของ นายเปรมชัย แต่เป็นเสียงลูกน้อง ซึ่งตามข้อกฎหมายแปลได้หลายอย่าง คือ อาจมีการสั่ง หรือไม่สั่ง โอกาสพลาดถูกฟ้องกลับสูง เพราะเจ้าตัวไม่ได้พูด และไม่มีคนยืนยัน อีกทั้งคำว่า “ขู่” ในคลิป ไม่ได้บอกเรื่องเงินทอง แต่เปรียบเทียบเรื่องรองเท้า แต่คนเอาไปตีความว่า “จะนำมามอบให้” หากลูกน้องนายเปรมชัย อ้างว่า ไม่ได้ติดสินบน อาจฟ้องกลับในข้อหาหมิ่นประมาท ซึ่งเป็นคนละประเด็นกับการล่าสัตว์ ทั้งนี้การที่นายเปรมชัย บอกว่าหลงป่า เป็นการกล่าวอ้างตามสัญชาติญาณ แต่เชื่อว่าเมื่อถึงจุดหนึ่ง จะรับสารภาพ เพราะเป็นการดำเนินคดีตามกฎหมายทรัพยากรฯ ไม่ใช่การยิงเสือในที่สาธารณะ และต่อไปเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าทั่วประเทศ จะต้องใช้เป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยผู้ที่เข้าไปล่าสัตว์ป่าจะถูกดำเนินคดี 9 ข้อหา จากที่เคยโดน 3 ข้อหา นายวัชรบูล กล่าวว่า ปกติการเข้าป่า โอกาสเจอสัตว์ป่านั้นยากมาก เพราะสัตว์จะหนีมนุษย์ ไม่ใช่ธรรมชาติของเสือที่จะล่าคน จะมีแค่กรณีเสือบาดเจ็บ กับเสือแม่ลูกอ่อนเท่านั้น โดยต้องยอมรับว่าคนที่ชอบล่าสัตว์ยังมีอยู่ นิยมความตื่นเต้น อย่างในอเมริกาถือเป็นกีฬาประเภทหนึ่ง แสดงถึงอำนาจ ความเก่งกล้า จึงเป็นหน้าที่ของกฎหมายที่ต้องเข้มแข็ง เช่นเดียวกับ พ.ร.บ.ทารุณกรรมสัตว์ฯ ควรดำเนินคดีอย่างเด็ดขาด เพื่อปรามคนที่จะไปฆ่า หรือรังแกสัตว์ ทางด้าน นายดำรงค์ บอกอีกว่า กรณีนี้หากตนเป็นผู้กระทำผิด จะกราบขอโทษประชาชน และตั้งกองทุนอนุรักษ์สัตว์ป่า ช่วยเหลือชีวิตสัตว์ป่าทั่วประเทศไทย นำสัตว์บาดเจ็บมารักษา ก่อนปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ เพื่อเป็นการสำนึกว่ากลับตัวกลับใจ เหมือนกับคนที่ขับรถชน แล้วช่วยดูแลครอบครัวผู้บาดเจ็บจะได้รับบรรเทาโทษ ซึ่งคิดว่าสังคมคงให้อภัย และลดบาปในใจลงได้ โดย นายวัชรบูล กล่าวอนุโมทนา กับการกระทำตามที่ นายดำรงค์ เสนอมา ขณะที่ น.ส.อรยุพา ยอมรับว่า ลักษณะนี้เป็นการกระทำของลูกผู้ชาย รู้ว่าผิดก็ยอมรับ แต่สุดท้ายสังคมอยากเห็น ผู้ทำผิดได้รับโทษอย่างเท่าเทียมกัน

advertisement

ข่าวยอดนิยม

ข่าวที่ได้รับความสนใจ