โรคเนื้อเน่าระบาด แพทย์เตือน "เกษตรกร" กลุ่มเสี่ยง เป็นแล้วไม่รีบรักษา ติดเชื้อถึงตาย

12 ส.ค. 63

โรคเนื้อเน่าระบาดหนัก แพทย์ชี้เกษตรกรกลุ่มเสี่ยง แนะวิธีวิธีสังเกตอาการเข้าข่ายโรค เตือนหากเป็นแล้วไม่รีบมาพบแพทย์ทำการรักษา เสี่ยงติดเชื้อในกระแสเลือด ถึงตายได้!

นายแพทย์พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลน่าน ออกมาแจ้งเตือนเกษตรกร โดยเฉพาะชาวนา ชาวสวน ที่ต้องดำนาหรือลงแช่น้ำเวลานาน ๆ ว่า

ขณะนี้ในจังหวัดน่าน พบผู้ป่วยด้วยโรคเนื้อเน่าหนังเน่าทยอยเข้ารักษาที่โรงพยาบาลเพิ่มมากขึ้นเกือบ 10 รายแล้ว  ซึ่งโรคเนื้อเน่าหนังเน่า(Necrotizing Fasciitis)ในช่วงฤดูฝนที่ชาวบ้านต้องลงน้ำลงนา เนื่องจากในปีที่แล้ว(พ.ศ.2562) มีผู้ป่วยเนื้อเน่าหนังเน่าจำนวน 110 ราย ในปีนี้ตึกศัลยกรรมชายจึงได้เฝ้าระวังโรคเนื้อเน่าหนังเน่า โดยในปีนี้เดือนสิงหาคม พบผู้ป่วยจำนวน 3   ราย เป็นผู้สูงอายุทั้ง 3 ราย เป็นเบาหวาน 1 ราย อายุอยู่ที่ 77, 67 และ 59 ปี โดยมีประวัติเป็นแผลที่ขาแล้วไปลงน้ำลงนา 2 ราย และโดนท่อไอเสียรถจักรยานยนต์ 1 ราย ทำให้ผิวหนังปริแตกและเชื้อโรคเข้าไปได้ง่าย ผู้ป่วยทั้ง 3 รายมีประวัติเหมือนกันคือไม่ได้รีบมาที่โรงพยาบาล แต่ปล่อยให้แผลบวมแดงทั้งขาก่อนจึงค่อยมา

โรคเนื้อเน่าหนังเน่าเกิดจากแบคทีเรียชนิด สเตรปโตคอคคัส กรุ๊ปเอ หรือสแตปฟิโลคอคคัสออเรียส หรือแบคทีเรียชนิดไม่ใช้ออกซิเจนบางชนิด ซึ่งสามารถสร้างสารพิษที่ทำลายเนื้อเยื่อของร่างกายได้ โดยแบคทีเรียกลุ่มนี้จะเข้าไปในร่างกายผ่านทางบาดแผล จึงมักจะเป็นในผู้สูงอายุที่มีผิวหนังถลอกได้ง่าย หรือถ้าเป็นผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันไม่ค่อยดี เช่นเบาหวาน ไตวายเรื้อรัง ดื่มสุราเป็นประจำ จะมีอาการรุนแรงกว่าปกติ ลักษณะของแผลจะเริ่มต้นผิวหนังจะเป็นสีแดง ลามไปทั่วภายในไม่กี่ชั่วโมง เมื่อลามจนถึงชั้นหนังแท้ จะมีแผลพุพองเหมือนน้ำร้อนลวก ผิวหนังบางส่วนจะเปลี่ยนเป็นสีม่วง หรือดำซึ่งแสดงว่าผิวหนังส่วนนั้นตายไปแล้ว บริเวณของแขนและขาที่เป็นจะบวมมาก ปวดแผลมาก มีไข้สูง ถ้าไม่รีบรักษา จะติดเชื้อในกระแสเลือดจนถึงเสียชีวิตได้  

สำหรับการป้องกัน คือ ถ้ามีบาดแผลถลอกแม้เล็กน้อย ก็ไม่ควรลงน้ำ ลงทำนา ควรรอให้แผลหายก่อน ควรใส่รองเท้าบูธเพื่อป้องกันเศษไม้ เศษตะปูตำ เศษแก้วบาด กรณีที่มีแผลบวมแดงเล็กน้อยในระยะแรกหรือมีเศษไม้ตำแนะนำให้ รีบขึ้นจากโคลน ทำความสะอาดแผลด้วยน้ำสะอาด ล้างโคลนทรายออกให้มากที่สุด อาจจะใส่ยาโพวิโดนไอโอดีนถ้ามี แล้วไปที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลใกล้บ้านเพื่อนำเศษไม้ หรือดินทรายที่มีเชื้อโรคแทรกอยู่ออก รวมทั้งให้ยาปฎิชีวนะจะช่วยให้อาการไม่ลุกลามบานปลายจนกลายเป็นแผลขนาดใหญ่ได้  

สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคเนื้อเน่าหนังเน่านั้นแพทย์จะผ่าตัดเพื่อตัดเนื้อหรือหนังที่ตายออกและเปิดแผลทิ้งไว้ให้เนื้อที่ตายแล้วสีเหลืองๆค่อยๆสลายออกมา จนเป็นสีแดงทั้งหมด และถ้าแผลใหญ่อาจจะต้องทำการตัดผิวหนังที่อื่นบางส่วนมาปะบริเวณนั้นอีกที ซึ่งต้องใช้เวลาการรักษานานครึ่งถึง 1 เดือน

advertisement

ข่าวยอดนิยม

ข่าวที่ได้รับความสนใจ