"บลูมเบิร์ก" วิเคราะห์ เศรษฐกิจไทยส่อย่ำแย่ที่สุดในเอเชีย

8 ก.ค. 63

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก วิเคราะห์ เศรษฐกิจไทยส่อย่ำแย่ที่สุดในเอเชียแม้ควบคุมการระบาดโควิด-19 ได้ดี เนื่องจากภาคการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบหนัก รวมถึงการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉุดการบริโภคและการลงทุน 

สำนักข่าวต่างประเทศ "บลูมเบิร์ก" รายงานการคาดการณ์เศรษฐกิจไทยหลังวิกฤตโควิด-19 ระบาด ทรุดมากที่สุดในเอเชีย แม้จะสามารถควบคุมการระบาดของเชื้อไวรัสได้เป็นอย่างดี ไม่พบผู้ติดเชื้อภายในประเทศติดต่อกันมากกว่า 40 วัน

ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย คาดว่า จีดีพีของไทยปีนี้จะลดลง 8.1% ซึ่งแย่ที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย และเป็นตัวเลขที่ดิ่งลงมากที่สุดที่ประเทศไทยเคยเผชิญ โดยมากกว่าวิกฤตการณ์ทางการเงินในเอเชีย หรือ “วิกฤตต้มยำกุ้ง” เมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา

เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสในไทยของธนาคารโลก ระบุว่า ไทยเป็นประเทศแห่งการท่องเที่ยว ซึ่งนับเป็น 15% ของจีดีพี และอีกภาคส่วนเศรษฐกิจใหญ่ของไทยคืออุตสาหกรรมการส่งออก ซึ่งเมื่อธุรกิจเหล่านี้ได้รับผลกระทบจึงส่งผลอย่างมากต่อจีดีพี 

จากการวิเคราะห์ของบลูมเบิร์ก ระบุว่า เศรษฐกิจไทยจะหดตัวลงมากกว่าประเทศอื่นๆ ในอาเซียนที่ 6% และจะฟื้นตัวกลับที่ 4% ในปี 2021 ซึ่งน้อยกว่าประเทศอื่นๆ โดยการประกาศใช้พ.ร.ก. ฉุกเฉิน การใช้เคอร์ฟิว และการปิดกิจการต่าง ๆ ทำให้การบริโภคส่วนบุคคลการลงทุนลดลงอย่างมาก ซึ่งจากเดิมภาคการลงทุนก็ย่ำแย่อยู่แล้วในปีที่ผ่านมา และถึงแม้จะมีการคาดการณ์ว่าการจับจ่ายจะฟื้นกลับมาหลังรัฐบาลคลายล็อก แต่บรรดานักลงทุนจะกลับมาช้า

ด้านภาคการท่องเที่ยว คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวในปีนี้จะลดลงเหลือเพียง 1 ใน 5 จากปีที่ผ่านมา หรือเพียง 8 ล้านคน และแม้จะมีการส่งเสริมให้มีการท่องเที่ยวในประเทศ ก็ยังไม่สามารถชดเชยและอุ้มอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ได้รับความเสียหายอย่างหนักได้ ขณะที่ภาคการส่งออกโดยรวมก็ได้รับผลกระทบหนักจากความต้องการของตลาดโลกที่ลดลง และการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน ขณะเดียวกัน เงินบาทก็แข็งค่าขึ้น 6% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อภาคการส่งออกและทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ลำบากมากขึ้น ซึ่งทางการระบุว่าอาจมีมาตรการที่จะทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงหากจำเป็น

ที่มา - บลูมเบิร์ก 

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวที่ได้รับความสนใจ