"พิธา" แฉ "ประยุทธ์" ใช้งบครบ 20 ล้านล้านแต่ศก.ไม่กระเตื้อง ซัดรบ.จัดงบฯ 64 เหมือนไม่มีวิกฤต

1 ก.ค. 63

พิธา แฉ ประยุทธ์ ผลาญงบ 20 ล้านล้าน ตั้งแต่ปี 57 แต่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจแค่ 3 ล้านล้าน จวกรัฐบาลจัดงบฯ 64 เหมือนประเทศไม่มีวิกฤต ยังตั้งงบเพื่อราชการ สัมมนา ซัดหาเงิน-ใช้เงิน-กู้เงินไม่เป็น 

วันนี้(1 ก.ค.) นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคคก้าวไกล อภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 ระบุว่า ปีนี้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ใช้งบประมาณครบ 20 ล้านล้านบ้าน นับตั้งแต่ปี 57 เป็นต้นมา เป็นนายกฯที่ โดยใช้งบประมาณแผ่นดินมากที่สุดในประวัติศาสตร์ แต่เศรษฐกิจกลับเติบโตน้อยมากเพียง 3 ล้านล้านบาท นับเป็น "มหาประยุทธภัย" ขณะที่การจัดสรรงบประมาณ ปี 2564 เป็นการจัดงบประมาณเหมือนประเทศไม่มีวิกฤติ ไม่ต่างจากการจัดงบประมาณ ปี 2563

นายพิธา กล่าวอีกว่า ในช่วง เดือน มิ.ย.-ก.ค.จะเป็นเดือนสุดท้ายที่ประชาชน เกษตรกร จะได้รับเงินเยียวยาก้อนสุดท้าย รวมถึงกลุ่มคนเปราะบาง เช่นเดียวกับลูกหนี้ 15 ล้านคน จะต้องกลับมาชำระหนี้ในเดือนก.ย. รวมถึงคนว่างงานกว่า 8 ล้านคน และเด็กจบใหม่อีก 5 แสนคน รวมแล้วกว่า 30 ล้านคนที่กำลังจมหายไปต่อหน้าต่อตา ซึ่งโอกาสจะฟื้นยากมาก เป็นความท้าทายอย่างมาก ซึ่งรายจ่ายของงบประมาณจะชี้ชะตาประเทศ โดยมีชีวิตคนเหล่านี้เป็นเดิมพัน  ในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลจัดเก็บภาษีหลุดเป้าถึง 2 แสนล้านบาท รายได้หลุดเป้าก็ต้องกู้เพิ่ม หากรายรับ 63-64 หลุดเป้า อาจต้องกู้เพิ่มถึง 1.3 ล้านล้านบาท ดังนั้นการใช้จ่ายแต่ละเม็ดต้องคุ้มค่า

"ตอนนี้ไม่ใช่เวลาเรือดำน้ำ กระสุนปืน สไตรเกอร์ สร้างถนน ติดกล้อง ทำสัมมนา แต่เป็นเวลาของวัคซีน เป็นเวลาของการสร้างงาน ความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงทางสิ่งแวดล้อม รัฐบาลเป็นความหวังสุดท้ายของประชาชน ประเทศชาติจะรอดได้รัฐบาลต้องใช้เงินเป็น หาเงินเป็น และกู้เงินเป็น” นายพิธากล่าว

screenshot(1481)

นายพิธา งบประมาณ ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่กระทบแรงงานทั้งในและนอกระบบ แต่งบกระทรวงแรงงานลดลงกว่า 3,000 ล้านบาท ไม่มีแผนนำคนงานที่อยู่นอกระบบเข้ามาสู่ระบบ ขณะที่มีคนกำลังจะตกงานอีก 8 ล้านคน แต่กรมจัดหางาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ถูกจัดงบประมาณลดลง สำหรับคนที่ใช้บัตรประกันสังคมไม่ได้และต้องมาใช้บัตรทอง เงินอุดหนุนบัตรทองก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นตามสถานการณ์ ขณะที่กระทวงดิจิทัลได้รับงบประมาณเพิ่ม แต่ไม่มีโครงการที่จะต่อยอดจากระบบ AI ในการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนให้ดีมากขึ้น เช่น ดิจิทัลวอลเลท

ถ้าเป็นชาวภาคเหนือที่ได้รับผลกระทบจากไฟป่า ฝุ่น PM2.5 งบประมาณแผนยุทธศาสตร์จัดการมลพิษ และสิ่งแวดล้อมแทบไม่ได้เพิ่มขึ้น ส่วนงบจัดการไฟป่าของกรมป่าไม้ เพิ่มขึ้น 260 ล้านบาท แต่ตัวชี้วัดไม่ได้เพิ่มขึ้น มีโอกาสที่ชาวภาคเหนือต้องทุกข์ทรมาณกับปัญหาเดิมๆ หรืออาจแย่กว่าเดิม ในส่วนชาวอีสานที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งพร้อมปัญหา COVID-19 แม้งบกรมชลประทานจะได้รับงบเพิ่มขึ้น 8,000 ล้านบาท แต่ไม่ได้หมายความว่างบจะสะท้อนความรุนแรงวิกฤตภัยแล้งในประเทศ การรวมศูนย์
การเยียวยาแต่ไม่ใช่การป้องกัน

ในส่วนของคนภาคใต้ ที่รายได้จากการท่องเที่ยวหายไปเกือบ 100% ประสบปัญหาราคายางตกต่ำเพราะส่งออกไม่ได้ พร้อมกับปัญหาโควิด กระทรวงท่องเที่ยวและการกีฬา และททท. ควรมีแผนงานบูรณาการสะท้อนกับสถานการณ์จริง แต่แผนงานบูรณาการสร้างรายได้จากการท่องเทียว 7,000 ล้านบาท เป็นงบสร้างถนน 25% แถมสมมติฐานการท่องเที่ยวจะโตอีก 8% ปีหน้าโตอีก 8% ซึ่งไม่สมเหตุสมผล ซึ่งรัฐบาลบอกว่าจะเน้นการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ และการท่องเที่ยวทางการแพทย์ แต่ก็ไม่มีงบก้อนไหนที่เพียงพอกับภารกิจที่ประกาศไว้

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง 
- ฝ่ายค้านตั้งฉายา งบประมาณปี 64 ฉบับ "จ่าเฉย" 

อีกคำถามที่น่าจะอยู่ในใจประชาชนว่าทำไมถึงไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในประเทศได้ ไม่เพียงพอให้เกิดประโยชน์ และการพัฒนาได้จริง คำตอบคือเพราะงบใช้พัฒนาประเทศ เป็นงบของข้าราชการ ไม่ใช่ของประชาชน จากงบ 3.3 ล้านล้านบาทที่ตั้งไว้ ใช้ได้เพียง 1 ล้านบาทเท่านั้น เพราะงบมีภาระผูกพันอยู่แล้ว เช่น ค่าใช้จ่าย บุคลากรภาครัฐ แสดงให้เห็นรัฐราชการมีความอุ้ยอ้าย

นายพิธา กล่าวว่า โลกข้างหน้าเป็นโลกที่ต้องพึ่งตนเองให้มากที่สุด ไทยต้องสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้เศรษฐกิจประเทศเข้มแข็งจากภายใน แทนการกินบุญเก่าจากอุตสาหกรรมเก่า ๆ ตลอด 40 ปีที่ผ่านมา รวมถึงหาฐานภาษีใหม่ที่จะเพิ่มรายได้ให้รัฐบาลที่ถังแตก การกระจายอำนาจจะสร้างเศรษฐกิจไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืน งบปี 64 ต้องสร้างฐานรายได้ใหม่ให้รัฐบาล ในการสร้างอุตสาหกรรมแห่งอนาคต รัฐก็ส่งเสริมเพียงเล็กน้อย และงบส่วนมากยังเป็นโครงการสัมมนา ไม่ได้ต่อยอดอุตสาหกรรมในประเทศ

ทั้งนี้รายได้ก้อนใหญ่สุดคือภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% เก็บได้ปีละ 8 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นการหารายได้จากประชาชนรากหญิงฐานปีระมิด จำเป็นต้องหาฐานภาษีใหม่จากยอดปีระมิด หรือบรรดานายทุนทั้งไทยและต่างชาติ กลับมาทบทวนภาษีที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ภาษีเหมือง ภาษีมลพิษ และทบทวนว่ารัฐวิสาหกิจยังแข่งขันและทำรายได้ แนะนำการกระจายอำนาจท้องถิ่นมากขึ้น โดยเฉพาะด้านการคลัง ให้เก็บภาษีได้มากขึ้น

screenshot(1482)

นายพิธากล่าวทิ้งท้ายว่า จากนี้ไทยรอให้ต่างประเทศช่วยไม่ได้ เพราะ IMF ก็ไม่มีศักยภาพในการปล่อยกู้ได้ทุกประเทศ ดังนั้นงบที่เห็นชอบต้องสะท้อนว่ารัฐบาลหาเงินเป็น ใช้เงินเป็น และกู้เงินเป็น รัฐบาลต้องเตรียมสวัสดิการโครงข่ายความคุ้มครองทางสังคมให้เพียงพอกับความเดือดร้อนของประชาชนในมหาวิกฤต และต้องใช้จ่ายเพื่อสร้างอุตสาหกรรมแห่งโลกอนาคตไม่ใช่แค่การตัดถนน 2 แสนล้าน ต้องกระจายอำนาจให้การคลังท้องถิ่นจัดเก็บรายได้มากขึ้น และจัดเก็บภาษีให้ได้มากขึ้นจากคนบยอดปีระมิด การกู้เงินให้เป็นรัฐบาลต้องบริหารให้เกิดความน่าเชื่อถือ สร้างเสถียรภาพให้ประเทศ เป็นการกู้เพื่อหารายได้ให้ประเทศ ถ้ากู้เพื่อคอร์รัปชั่น แบ่งเค้กกินกันเอง กู้แล้วไม่เกิดรายได้ ประเทศก็จะหมดความน่าเชื่อถือ ดอกเบี้ยก็จะยิ่งแพง

ถ้ายังปราบปรามประชาชนของตัวเองที่เห็นต่าง จนไร้เสถียรภาพ เศรษฐกิจจะยิ่งวิกฤตไปกันใหญ่ และงบ 64 ยังร่างมาเหมือนประเทศไม่ได้อยู่ในวิกฤต โลกปรับแต่ไทยไม่เปลี่ยน ตนจึงไม่สามารถเห็นชอบร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ในวาระแรกได้ 

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวที่ได้รับความสนใจ