"ป้าดา"ติดคุก! วิบากกรรมหวย 30 ล้านลูกถาม "ป้าติ้น"จะเอาอะไรอีก ทุกข์กินมาม่า-ทนายวิ่งหาเงิน (คลิป)

15 ธ.ค. 60
จากกรณี นางเรวดี หาแก้ว หรือ "ป้าติ้น" และนางวิไลพร รัตนติสร้อย หรือ "ป้าเล็ก" อ้างว่าได้หุ้นกันซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล ร่วมกันกับนางสุดารัตน์ น้อยนิตย์ หรือ "ป้าดา" ในงวดประจำวันที่ 1 เมษายน 2559 หมายเลข 066720 จำนวน 5 คู่ ซึ่งเป็นสลากที่ถูกรางวัลที่ 1 เป็นเงินจำนวน 30 ล้านบาท แต่ถูกป้าดา เชิดสลากไปขึ้นเงิน โดยป้าดา ยืนยันว่าไม่เคยมีการซื้อสลากชุดดังกล่าว
ล่าสุด วันนี้ (14 ธ.ค.) ที่ศาลจังหวัดมีนบุรี นางเรวดี หาแก้ว หรือ ป้าติ้น ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ตนได้ยื่นศาลให้พิจารณาคดีดังกล่าวด้วยตนเอง เพราะตำรวจไม่สั่งฟ้องให้ แต่ศาลพิจารณาว่าคดีมีมูลจึงนัดให้ตนพร้อมกับป้าเล็ก และป้าดา มาเพื่อพิจารณาคดี
ป้าติ้นเดินทางมาที่ศาลจังหวัดมีนบุรี
ป้าติ้น ระบุว่า ตนค่อนข้างมั่นใจในหลักฐานที่ส่งให้ศาลพิจารณาว่า ป้าดายักยอกทรัพย์ของตนไป และรู้สึกดีใจที่กองปราบฯ จะรื้อคดี โดยตนยินดีที่จะให้ข้อมูล เนื่องจากที่ผ่านมา ตำรวจให้เหตุผลกับตนว่า พยานหลักฐานเข้าไม่ถึง ทั้งที่ตนเซ็นชื่อไว้บนสลาก ตนมาเห็นภายหลังว่า สลากของตนมีรอยขีดฆ่าถูกลบ มีการลงสีที่สลาก ทำให้มองไม่เห็นชื่อที่ตนเซ็นเอาไว้ ส่วนในคดีขโมยลอตเตอรี่ ระหว่าง "ป้าติ้น" กับ "ป้าติ๋ว" ที่คำชะโนด จ.อุดรธานี ตนได้ไปร้องเรียนขอความเป็นธรรมกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจเช่นเดียวกัน แต่ตำรวจไม่ได้พิจารณา ตนจึงเตรียมที่จะยื่นฟ้องศาลด้วยตนเอง
นางเรวดี หาแก้ว หรือ ป้าติ้น
ป้าติ้นบอกว่า ทั้ง 2 กรณี มีลักษณะเดียวกันคือ ตนถูกเพื่อนนำสลากกินแบ่งรัฐบาลไป แต่เพื่อนอ้างว่าไม่มีสลากและไม่ได้นำสลากมาแบ่งให้ตน "ป้าติ๋ว" เองเป็นเพื่อนสนิทกับ "ป้าดา" ตนจึงมองว่าอีกฝ่ายน่าจะมีเส้นทางการทำงานในเเบบเดียวกัน คือมีขบวนการนำตัวแทนไปขึ้นเงินแทน อีกทั้ง "ป้าติ๋ว" ยังเคยพูดกับตนว่า "กูเป็นคนจ่ายเงิน มึงจะมาเอาอะไร" แล้วยังให้ข่าวว่า ตนเป็นแก๊งตบทรัพย์ ซึ่งตนเสียความรู้สึก เพราะเป็นผู้เสียหาย มีเพียงตนกับ "ป้าติ๋ว" เท่านั้นที่รู้ว่าอะไรคือความจริง ป้าติ้น บอกอีกว่า ที่ตนถูกหวยทั้งสองรอบเป็นเพราะโชคดี แต่อาจเป็นทุกขลาภ ได้มาถูกโกงไป ตนรู้อยู่แก่ใจว่าใครโกงหรือไม่โกง ตนจึงอยากเรียกร้องผ่านสื่อ ให้เจ้าหน้าที่นำมาพิสูจน์อย่างไม่มีความลับ ตั้งแต่ว่าสลากมีรอยขีดฆ่าหรือถูกลบหรือไม่ หรือแม้กระทั่งคนที่ได้รางวัลที่ 1 นั้นซื้อสลากมาจากไหนด้วย ตนจะได้รู้ว่ามีใครที่เกี่ยวข้องบ้าง
นางวิไลพร รัตนติสร้อย หรือ ป้าเล็ก
ด้าน นางวิไลพร รัตนติสร้อย หรือ ป้าเล็ก ให้สัมภาษณ์ว่า ความจริงก็คือความจริง เรื่องที่ "ป้าดา" ไม่มีเงินประกันตัวนั้น ตนไม่เชื่อว่า "ป้าดา" ไม่มีเงิน เพราะตนเห็นป้าดาไปออกรายการ เคยพูดว่ามีสามีชาวต่างชาติ ทำงานมั่นคง ฐานะดี มีร้านสปาเป็นของตัวเอง ดังนั้นเป็นไปไม่ได้ที่ "ป้าดา" จะไม่มีเงินประกันตัว ตนคิดว่า "ป้าดา" กำลังสร้างภาพว่าตัวเองไม่มีเงิน
นางสุดารัตน์ น้อยนิตย์ หรือ ป้าดา (แฟ้มภาพ)
ขณะที่ นางสุดารัตน์ น้อยนิตย์ หรือ ป้าดา เดินทางไปที่ศาลจังหวัดมีนบุรีด้วยสีหน้าค่อนข้างเคร่งเครียด และไม่ขอให้สัมภาษณ์กับสื่อ
ด้าน นายปรัชญา คล้ายชูช่วย หัวหน้าฝ่ายมูลนิธิช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย ระบุว่า ทางทีมทนายความได้นำเงินประกันของมูลนิธิมาให้ความช่วยเหลือใน "ป้าดา" จำนวน 200,000 บาท แต่เนื่องจากคดีนี้มีมูลค่าความเสียหายสูงถึง 30 ล้านบาท ศาลจึงกำหนดหลักประกันไว้ที่ 500,000 บาท ทำให้หลักทรัพย์ที่นำมาไม่เพียงพอ "ป้าดา" จึงไม่ได้รับการประกันตัว และจะต้องฝากขังไว้ที่เรือนจำพิเศษมีนบุรี ในคืนนี้
นายปรัชญา คล้ายชูช่วย หัวหน้าฝ่ายมูลนิธิช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย
นายปรัชญา ยังเปิดเผยอีกว่า ป้าดาเองไม่มีหลักทรัพย์ หรือทรัพย์สินส่วนตัว ที่นำมายื่นประกัน ทางทนายจึงได้ติดต่อให้ญาตินำโฉนดที่ดินไปประเมินราคา แล้วนำมาเป็นหลักทรัพย์ในการประกันตัววันพรุ่งนี้ (15 ธ.ค.) หากได้รับการประกันตัว ศาลจะนัดมาสืบพยานโจทก์และจำเลยต่อในวันที่ 18-19 เมษายน ปีหน้า ส่วนที่คู่กรณีกล่าวอ้างว่า ป้าดามีเงินเพียงพอที่จะยื่นขอประกันตัวนั้น ทนายปรัชญา ได้บอกว่า หากวันนี้มีเงินจริง คงได้ประกันตัวแล้ว แต่ข้อเท็จจริงคือ "ป้าดา" ไม่มีเงินเลย หลักทรัพย์ที่จะนำมาวันพรุ่งนี้ เป็นของน้องสาว ขณะนี้ทางครอบครัวของ "ป้าดา" ค่อนข้างลำบาก เนื่องจากสามีชาวต่างชาติไม่ได้ทำงาน และไม่ได้มีฐานะร่ำรวย ตามที่อีกฝ่ายกล่าวอ้าง สำหรับด้านคดีความ ทางทนายได้นำหลักฐาน ที่เป็นเอกสารคำให้การของพยานฝ่ายป้าติ้น คือนายบุญสี โพธิ์สาสิม พ่อค้าขายลอตเตอรี่ ที่อ้างต่อพนักงานสอบสวนชุดแรกว่า สามารถจดจำเลขสลากได้ทั้ง 6 หลัก และได้ขายหวยชุดนั้นให้กับ "ป้าติ้น" แต่ในชั้นพนักงานสอบสวนชุดต่อมา นายบุญสี ได้กลับคำให้การว่า จำได้เพียงเลข 3 ตัวหลัง ภายหลังฝ่าย "ป้าติ้น" ยังกล่าวอ้างต่อศาลว่าพยานรายนี้เสียชีวิตแล้ว นายปรัชญา ค่อนข้างมั่นใจว่า คดีนี้มีโอกาสสูงที่จะชนะคดี และหากศาลยกฟ้องในคดีนี้ ฝ่ายตนจะดำเนินคดีฟ้องกลับฝ่าย นางเรวดี หรือ "ป้าติ้น" ในข้อหาแจ้งความเท็จ และเบิกความเท็จ
น้องบีเบอร์ (นามสมมติ) ลูกชายของป้าดา
อย่างไรก็ตาม ทีมข่าวอมรินทร์ทีวี ได้พูดคุยกับ น้องบีเบอร์ (นามสมมติ) ลูกชายของป้าดา วัย 19 ปี เปิดใจว่า ทางครอบครัวไม่ได้มีฐานะร่ำรวย ตามที่อีกฝ่ายอ้าง ยังติดหนี้ธนาคาร ต้องผ่อนบ้าน จึงทำให้วันนี้ไม่มีเงินสด หรือหลักทรัพย์ไปประกันตัวแม่ น้องบีเบอร์ ยอมรับว่า ตอนที่แม่ไปออกรายการในปี 59 ทางครอบครัวยังมีฐานะที่ดีอยู่ แต่หลังจากนั้น แม่ของตนต้องมีค่าใช้จ่ายดำเนินการด้านคดี บวกกับธุรกิจส่วนตัวของแม่ กำลังแย่ ทำให้ครอบครัวแทบไม่มีเงินติดตัว ตนต้องกินบะหมี่สำเร็จรูป ไม่ได้ไปกินอาหารดีๆ แบบคนอื่นเขา ทั้งนี้ แม่ยังต้องหาเงินผ่อนบ้าน จ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าเช่าตึก ตนจึงต้องหาเลี้ยงตัวเองในการทำงานพาร์ทไทม์ พร้อมกับเรียน ควบคู่กันไปด้วย เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของครอบครัว หลังจากรู้ว่า แม่ไม่ได้ประกันตัว น้องบีเบอร์ ยอมรับว่า รู้สึกแย่ หากแม่ตน ถูกรางว้ลที่ 1 จริง คงมีเงินไปประกันตัวแล้ว และไม่ต้องเผชิญชะตากรรมแบบนี้ แม่ตนคงแบ่งเงินให้ใช้จ่ายอย่างสุขสบาย พร้อมย้ำว่า "แม่ของผมเป็นคนดี ไม่ได้เป็นแบบที่เขากล่าวหา" น้องบีเบอร์ ยังเปิดเผยอีกว่า แม่ชอบซื้อลอตเตอรี่ ตั้งแต่ตนอายุ 14 ปี จนตอนนี้อายุเกือบ 20 ปีแล้ว ยังคงซื้ออยู่ ตนเคยเตือนแม่ เรื่องนี้เป็นประจำ แต่แม่ไม่ได้ฟัง ส่วนสลากชุดที่ถูกรางวัลนั้น แม่ของตนไม่มีจริงๆ ทุกครั้งที่แม่เอาล็อตเตอรี่มาตรวจดู ตนก็จะอยู่ด้วย แต่ล็อตเตอรี่ที่ถูกรางวัลชุดนั้น แม่ของตนไม่เคยเอามาให้ดูเลย สำหรับคู่กรณีของแม่คือ "ป้าติ้น" และ "ป้าเล็ก" เมื่อก่อนทั้ง 3 คน สนิทกันมาก เคยพามานั่งเล่นที่บ้านเป็นประจำ แต่หลังจากเกิดเรื่อง ตนก็ไม่ได้พูดคุยกับป้าทั้ง 2 คน อีกเลย แม้แต่หน้ายังไม่อยากจะมอง เพราะตนรู้สึกแย่ ที่มาทำกับแม่แบบนี้ พร้อมฝากบอกป้าทั้ง 2 คน ที่ดำเนินคดีกับแม่ตนว่า "ป้าครับ ถ้าแม่ผมถูกจริงนะครับ ชีวิตผมคงไม่เป็นแบบนี้หรอกป้า หยุดเถอะ แม่ผมก็แย่แล้ว ผมก็แย่ จะเอาอะไรจากแม่ผมอีก ถ้าแม่ผมถูก แม่ผมแบ่งไปนานแล้วป้า นี่แม่ผมไม่ได้ถูก"
นายษิทรา เบี้ยบังเกิด เลขาธิการมูลนิธิทีมงานทนายประชาชนฯ
นายษิทรา เบี้ยบังเกิด เลขาธิการมูลนิธิทีมงานทนายประชาชนฯ ตั้งข้อสังเกตว่า คดีชิงหวยรางวัลที่ 1 ซึ่งมีมูลค่าสูง ดังนั้นการเรียกหลักทรัพย์ขอประกันตัวจึงค่อนข้างสูงตาม จึงอาจเป็นช่องโหว่ทำให้กลุ่มขบวนการนี้เข้ามาไกล่เกลี่ยเจรจาให้ผู้ที่ถูกกล่าวหายอมรับสารภาพได้
บางคนใช้วิธีการที่จำเลยต้องหาหลักทรัพย์สูง มาบีบบังคับให้รับสารภาพ เนื่องจากไม่สามารถหาเงินได้มากพอ ที่จะประกันตัว อีกทั้งในระหว่างถูกจำคุกอยู่นั้น อาจมีคนในคุก แนะนำว่า หากยอมรับสารภาพแล้ว คดีจะจบง่ายกว่าที่จะต้องสู้คดีกันยาวนานถึง 6-7 เดือน
นอกจากนี้ มีความเป็นไปได้ว่า ขบวนการดังกล่าว จะเข้าไปเจรจาต่อรองให้สารภาพ พร้อมเสนอที่จะแถลงต่อศาลให้ว่า ไม่ติดใจเอาความให้โทษเบาขึ้น ซึ่งขบวนการนี้อาจรู้ดีว่า หากผู้ต้องหาอยู่ในคุก ไม่มีคนข้างนอกคอยช่วยสู้คดีให้ ก็จะทำให้การต่อสู้คดียิ่งเป็นไปอย่างยากลำบาก แต่ทั้งนี้ นายษิทรา มองว่า หากจำเลยมั่นใจในความบริสุทธิ์ และถูกรางวัลจริง ก็สามารถนำเงินที่ถูกรางวัลมาประกันตัวสู้คดีได้ กรณีนี้หากท้ายที่สุด ฝ่ายขบวนการชนะคดี เขาสามารถฟ้องร้องทางแพ่งยึดทรัพย์คืนได้ภายหลัง แต่ระหว่างสู้คดีกันอยู่ พนักงานสอบสวนไม่มีสิทธิ์ที่จะอายัดเงินถูกรางวัล แบบคดีระหว่างอดีตนายตำรวจกับครู ที่ตนกำลังทำอยู่ ซึ่งแบบนี้ตนมองว่าไม่ชอบธรรม และกระทบต่อสิทธิ์ผู้ถูกกล่าวหา ส่วนกรณีคดีของป้าติ้น และป้าดา ซึ่งฝ่าย "ป้าดา" ยืนยันว่า ไม่มีหวยรางวัลที่ 1 อยู่ จึงเป็นไปได้ที่ "ป้าดา" จะไม่มีเงินมาประกันตัวเอง สุดท้ายหาก "ป้าดา" ไม่ได้รับการประกันตัว ในอนาคตป้าดา อาจจะท้อแท้จนยอมรับสารภาพก็ได้ อย่างไรก็ตาม ตนมองว่า คดีหวยป้าติ้น-ป้าดา ไม่ชี้ชัดว่าเป็นขบวนการ เพราะกรณีนี้แตกต่างจากคดีอื่นๆ ที่ป้าดาผู้ถูกกล่าวหา ยืนยันว่าไม่มีหวยอยู่จริง

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวที่ได้รับความสนใจ