ลุ้นพาณิชย์ เสนอครม. พิจารณา "CPTPP" หลัง "สมคิด" ลาป่วยวันนี้

19 พ.ค. 63

ลุ้นครม.พิจารณาไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) วันนี้ (19 พ.ค.) หลังถอดวาระไปเมื่อเม.ย. โดยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ไม่ได้เข้าร่วมประชุมวันนี้ ขณะที่ชาวเน็ตยังออกมาต่อต้านหนัก

จากกระแสข่าวประเทศไทยเตรียมพิจารณาเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ตามข้อเสนอของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ แต่ได้มีการถอนออกจากวาระครม.ไปแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปลายเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา เนื่องจากมีการต่อต้านอย่างหนัก ล่าสุดมีการคาดการณ์ว่าจะมีการเสนอเข้าที่ประชุมครม.อีกครั้งวันนี้ (19 พ.ค.)

ทั้งนี้มีรายงานว่านายสมคิด ลาป่วยไม่ได้เข้าร่วมในวันนี้(19 พ.ค.) หากจะมีการนำเสนอเข้าพิจารณา จะเป็นหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์ ระบุ โดยขณะนี้มีการติดแฮชแท็ก #NoCPTPP ในทวิตเตอร์เพื่อต่อต้านอีกครั้ง 

CPTPP หรือ Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership เป็นข้อตกลงการค้าเสรีที่ครอบคลุมในเรื่องการค้า บริการ และการลงทุนครอบรวมหลายประเด็น อาทิ ทรัพย์สินทางปัญญา นโยบายการแข่งขัน กฎหมายสิ่งแวดล้อม กลไกแก้ไขข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลและนักลงทุนต่างชาติ มีชื่อเดิมคือ TPP (Trans-Pacific Partnership) เริ่มในปี 2549 ซึ่งแต่เดิมมี 12 ประเทศ เคยมีสหรัฐฯ เป็น 1 ในสมาชิกก่อนถอนตัวในปี 2550 ก่อนได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็น CPTPP ประกอบด้วยประเทศ ญี่ปุ่น แคนาดา เม็กซิโก เปรู ชิลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน และเวียดนาม 


ไทยได้ประโยชน์อะไรจากการเข้าร่วม CPTPP 

  1. เพิ่มโอกาสการส่งออกไปยังประเทศสมาชิก CPTPP โดยเฉพาะตลาดแคนาดาและเม็กซิโก ซึ่งไทยยังไม่มีข้อตกลงการค้าเสรี(FTA)ด้วย ซึ่งมีสัดส่วนการส่งออก 2% โดยสินค้าหลักที่ส่งออกไปแคนาดา คือ อาหารทะเลแปรรูป ข้าว ผลิดภัณฑ์ยาง เม็กซิโก คือ รถยนต์ ส่วนประกอบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
  2. ช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ถ้าหากไม่เข้าร่วมก็อาจเสียโอกาสนี้ให้มาเซียและเวียดนามได้ โดยอุตสาหกรรมที่คาดว่าได้ประโยชน์ที่สุดคืออุตสาหกรรมยานยนต์
  3. เพิ่มความสามารถทางการแข่งขัน จากการปรับปรุงกฎระเบียบให้สอดคล้องกับ CPTPP เช่น กฎหมายสิทธิแรงงาน การแข่งขันอย่างเท่าเทียมของนักธุรกิจท้องถิ่นและต่างชาติ 


อ่านข่าวที่เกี่ยวข้องกับ "ครม."

มติ ครม.เคาะแล้ว! เพิ่มเงินสมทบกองทุนบำนาญข้าราชการท้องถิ่น
จับตา! มติ ครม.เคาะต่อเวลา "พ.ร.ก.ฉุกเฉิน-เยียวยาเกษตรกร" ครัวเรือนละ 15,000

 


ข้อเสียจากการเข้าร่วม CPTPP 

  1. เพิ่มโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาแข่งขันมากขึ้น เช่น ลดภาษีสินค้านำเข้า เปิดให้มีส่วนร่วมในการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐบาล โดยมีผลกระทบมากในธุรกิจบริการ และอุตสาหกรรมเกษตร และสามารถฟ้องรัฐบาลไทยได้ผ่านกระบวนการอนุญาโตตุลาการ
  2. ในภาคการเกษตร ต้องมีการเข้าร่วม อนุสัญญา UPOV (International Union for the Protection of New Varieties of Plants) เปิดโอกาสให้ต่างชาติสามารถนำพันธุ์พืชพื้นเมืองไทยไปทำการวิจัยเพื่อสร้างพันธุ์พืชใหม่แล้วจดสิทธิบัตรได้ ส่งผลเสียต่อเกษตรกรไทยโดยตรง เพราะถ้านำพันธุ์พืชใหม่นี้มาปลูกแล้วจะไม่สามารถเก็บเมล็ดไปปลูกต่อได้เหมือนเมื่อก่อน ต้องซื้อเมล็ดใหม่เท่านั้น ทำให้ต้นทุนการเกษตรยิ่งสูงขึ้น 
  3. ขณะที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ระบุว่า CPTPP เป็นการ “อุ้มทุนหนา ฆ่าทุนน้อย” เพราะ 9 ใน 12 ประเทศสมาชิก CPTPP ไทยมีข้อตกลงการค้าเสรีอยู่แล้ว ในส่วนของแคนาดากับเม็กซิโก ถ้าทำข้อตกลงทวิภาคีได้ก็ไม่ต้องขี่ช้างจับตั๊กแตน และ จากที่นายสมคิดคาดว่า เมื่อเข้าร่วม จีดีพีจะเพิ่ม 0.12% นั้น ก็นับว่าน้อยมาก มีวิธีอื่นที่ดีกว่านี้โดยที่ประเทศไทยไม่ต้องเสียอํานาจอธิปไตยทางเศรษฐกิจถึงขั้นนี้ 
  4. นพ.มงคล ณ สงขลา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าเป็นการเอาเปรียบประเทศกำลังพัฒนาหรือประเทศที่พัฒนาน้อยกว่า ในหลาย ๆเรื่องโดยเฉพาะเรื่องการเข้าถึงยา ซึ่งหากเข้าร่วมไทยจะไม่สามารถใช้สิทธิ(ซีแอล) นำเข้ายาต้านไวรัสเอชไอวี/เอดส์ และยามะเร็งมาใช้ดูแลรักษาประชาชนได้  
  5.  ด้าน iLaw กล่าวถึงผลกระทบที่น่ากังวลหากไทยจะเข้าร่วม  CPTPP ว่า 
  • ต้องปรับแก้ พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช เพื่อเข้าเป็นสมาชิก UPOV 1991 ซึ่งจะห้ามเกษตรกรเก็บเมล็ดพันธุ์ที่ได้รับการคุ้มครองไว้ปลูกในฤดูกาลถัดไป
  • ยกเลิกการให้สิทธิประโยชน์แก่องค์การเภสัชกรรมในการจัดซื้อยาของภาครัฐ และต้องให้รัฐวิสาหกิจด้านการซื้อหรือขายสินค้าและบริการโดยไม่เลือกปฏิบัติและเป็นไปตามกลไกตลาด ยกเลิกการอุดหนุน/ให้ความช่วยเหลือรัฐวิสาหกิจที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อรัฐวิสาหกิจ ธุรกิจ และอุตสาหกรรมของต่างประเทศ โดยไม่สนใจว่า รัฐวิสาหกิจมีพันธกิจทางสังคม เช่น น้ำประปา ไฟฟ้า ยารักษาโรค สินค้าและบริการเหล่านี้ไม่ใช่สินค้าปกติ แต่ต้องดูแลสังคมให้ประชาชนเข้าถึงด้วย จะทำอย่างไร ถ้าไม่สามารถทำหน้าที่ทางสังคมได้ จะกลายเป็นว่า เฉพาะคนที่มีเงินเท่านั้นจึงจะสามารถเข้าถึงน้ำประปา ไฟฟ้า และยารักษาโรค 
  • ต้องปรับแก้ประกาศคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากไทยกำหนดข้อห้ามเกี่ยวกับฉลากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากกว่าที่ CPTPP กำหนด โดยเฉพาะเรื่องรูปภาพคำเตือนบนฉลาก นี่เป็นเรื่องใหญ่มาก แม้จะเป็นแค่การปรับแก้ประกาศที่เรื่องรูปภาพคำเตือนบนฉลากเครื่องดื่ม แต่จริงๆ แล้วส่งนัยยะต่อไปการออกกฎหมาย ระเบียบและกำหนดนโยบายเพื่อคุ้มครองประชาชน คุ้มครองสุขภาพหรือสิ่งแวดล้อม ไม่สามารถทำได้ หากมันเกินขอบเขตที่ CPTPP กำหนด 
  • ต่อเนื่องมาที่การคุ้มครองการลงทุน และการให้เอกชนฟ้องร้องภาครัฐ หรือที่เรียกว่า กลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชน (ISDS) ที่ผ่านมานโยบายของประเทศไทยชัดเจนว่าคุ้มครองการลงทุน ที่เป็นการลงทุนโดยตรงหรือลงทุนจริงเท่านั้น แต่สิ่งที่ไทยต้องยอมรับหากจะเข้า CPTPP คือ การลงทุนใน portfolio หรือการลงทุนโดยการซื้อหุ้น ซึ่งเป็นการลงทุนที่ไม่ได้รับอนุมัติคุ้มครองเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งตอนนี้คดีของวอลเตอร์ บาวกับทางด่วนดอนเมืองโทลล์เวย์ ก็เป็นแบบนี้เพราะนักลงทุนไม่ได้รับการอนุมัติการคุ้มครองที่เป็นลายลักษณ์อักษร แต่มาอ้างขอรับการคุ้มครองการลงทุน  นอกจากนี้ยังมีกรณีต่างประเทศที่นักลงทุนต่างชาติเช่าตู้ไปรษณีย์ก็มีสิทธิฟ้องร้องรัฐเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจากการกำหนดนโยบาย การออกกฎหมาย ไม่เพียงเรียกค่าเสียหาย แต่ยังสามารถฟ้องเพื่อยกเลิกนโยบายได้เลย หรือในกรณีของการฟ้องยกเลิกของศาลที่เม็กซิโกไม่ให้ออกใบอนุญาตทำที่ทิ้งขยะบนพื้นที่ต้นน้ำ เม็กซิโกก็เคยถูกฟ้องและแพ้มาแล้วด้วย หรือการฟ้องแคนาดานโยบายห้ามนำเข้าสารเติมในน้ำมันซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง
  • ประเทศไทยต้องยอมรับการที่จะให้สินค้าที่ปรับสภาพเป็นของใหม่ (remanufactured goods) โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับเครื่องมือทางการแพทย์ อันนี้จะเท่ากับเอาขยะเครื่องมือแพทย์มาทิ้งที่ประเทศไทย เพราะในความตกลงฯ ระบุว่า "ห้ามปฏิบัติต่อสินค้าดังกล่าวเหมือนสินค้าใช้แล้ว" ขณะที่ประเทศไทยไม่มีเทคโนโลยีในการตรวจสอบในเรื่องนี้ ถ้ารับมาแล้ว ใช้ได้ไม่นานก็ไม่ต่างกับรับซากเครื่องมือเหล่านี้มาทิ้งที่ประเทศไทย 


ขอบคุณ -  iLaw / https://library2.parliament.go.th/ebook/content-issue/2561/hi2561-074.pdf

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวที่ได้รับความสนใจ