แม่อภัยลูกเล่นมือถือ ดูดเงินนับหมื่นจ่ายเกมออนไลน์ ทนายชี้ธนาคารไม่ผิด (คลิป)

20 ต.ค. 60
นับว่าเป็นอุทาหรณ์ของพ่อแม่ เมื่อลูกนำโทรศัพท์มือถือไปเล่นเกมออนไลน์ แล้วซื้อตัวละครจากเกมจนเงินแม่นั้นหมดบัญชี โดยเพจเฟซบุ๊ก "แหม่มโพธิ์ดำ" ได้เผยแพร่เรื่องราวของหญิงสาวรายหนึ่ง ที่มีลูกชายวัย 11 ขวบ นำโทรศัพท์มือถือของเธอไปเล่น ตั้งแต่วันที่ 11-16 ตุลาคม พร้อมโพสต์ภาพการแจ้งเตือนเงินในบัญชี ก่อนพบว่าเงินในบัญชีหายไปจาก 18,483 เหลือแค่ 2 บาท เท่านั้น เมื่อสอบถามไปที่ธนาคาร ก็ได้รับคำตอบว่าถูกหักไปโดย Google ผ่านการเติมเกมของลูกชาย ซึ่งเธออยากหาวิธีได้เงินคืน เนื่องจากตอนนี้เดือดร้อนเป็นอย่างมาก
น.ส.พรรณทิพา วงษ์ศร อายุ 33 ปี เจ้าของเรื่อง
ล่าสุด วันนี้(19 ต.ค.60) น.ส.พรรณทิพา วงษ์ศร อายุ 33 ปี เจ้าของเรื่องราวดังกล่าว เปิดเผยว่า ตนได้ยกโทรศัพท์เครื่องเก่า ซึ่งเป็นระบบแอนดรอยด์ให้กับลูกชายวัย 11 ปี ซึ่งอาศัยอยู่กับญาติที่ต่างจังหวัด โดยช่วงนี้เป็นช่วงปิดเทอม แล้วคาดว่าลูกชายน่าจะนำโทรศัพท์ไปเล่นเกม จนช่วงวันที่ 16 ต.ค. ที่ผ่านมา มีการแจ้งเตือนในโทรศัพท์ว่า ยอดเงินในบัญชีเหลือ 2 บาท จากทั้งหมด 18,483 บาท ด้วยความตกใจ จึงเดินทางไปสอบถามที่ธนาคาร โดยธนาคารแจ้งว่ามีการหักเงินไปซื้อของออนไลน์ พร้อมพิมพ์หลักฐานยอดเงินที่ถูกโอนออกไปมาให้ จึงพบว่า เงินถูกโอนครั้งละ 35 บาท และ 99 บาท จำนวนกว่า 100 ครั้ง
ข้อความแจ้งเตือนยอดเงินทางมือถือ
น.ส.พรรณทิพา เปิดเผยอีกว่า ตอนแรกตนคิดว่าถูกแฮกระบบ แต่เมื่อถามลูกชาย จึงได้รับคำตอบว่า ได้กดซื้อตัวเล่นในเกม ROV จำนวนหลายครั้ง โดยลูกชาย ระบุว่า โทรศัพท์ได้ถามเลข CVC หลังบัตรเครดิต โดยเป็นเลขรหัสความปลอดภัยของบัตรที่มี 3 หลัก เพียงแค่อย่างเดียว ซึ่งลูกชายได้กดแบบสุ่มจำนวนกว่า 10 ครั้ง จนสามารถซื้อของได้ โดยโทรศัพท์ที่ให้ลูกชายไป เคยผูกกับอีเมล์เก่าที่เชื่อมต่อกับบัตรเครดิต ซึ่งแต่ละครั้งที่ลูกชายทำการโอนเงินในแต่ละครั้งนั้น จะไม่มีการแจ้งเตือน รวมถึงได้รับข้อมูลจากธนาคารว่า ยอดเงินในการโอนแต่ละครั้งมีจำนวนเงินไม่ถึง 500 บาท อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ธนาคาร แนะนำให้ตนเอง ไปติดต่อกับทางบริษัทเกมโดยตรง เพื่อสอบถามว่า สามารถคืนเงินได้หรือไม่ ความเห็นส่วนตัว น.ส.พรรณทิพา ยอมรับทำใจไว้แล้วว่าตนไม่น่าจะได้เงินคืน จึงอยากให้เรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์ของผู้ปกครอง ส่วนทางด้านลูกชาย ก็ยอมรับผิด และไม่กล้าเล่นเกมอีกแล้ว
ดร.โกเมน พิบูลย์โรจน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ
จากการสอบถาม ดร.โกเมน พิบูลย์โรจน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ เปิดเผยว่า กรณีดังกล่าวสามารถเป็นไปได้ เพราะการซื้อของออนไลน์แต่ละครั้ง หากเจ้าของบัตร บันทึกข้อมูลบัตร โดยผูกไว้กับโทรศัพท์ การซื้อของครั้งต่อไปก็เพียงแค่กรอก เลข CVC 3 ตัวเท่านั้น ซึ่งก็เป็นไปได้ที่จะสุ่มจนตรง เพราะทางธนาคารไม่ได้กำหนดว่ากรอกผิดหลายครั้งแล้วจะถูกบล็อค นั่งจึงไม่ใช่ความผิดของธนาคาร แต่เป็นเรื่องของผู้ใช้งาน เพราะหากไม่อยากถูกหักเงินโดยง่าย ก็ควรล็อกเอ้าท์ออกจากระบบอีเมลในโทรศัพท์ทุกครั้ง หรือไม่ควรให้โทรศัพท์จดจำข้อมูลแต่ควรกรอกเป็นรายครั้งเมื่อซื้อของออนไลน์
ทนายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ทนายความ
ด้าน นายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ทนายความ มองว่า กรณีดังกล่าวที่ลูกอายุ 11 ขวบ เอาโทรศัพท์แม่ไปเล่น แล้วโหลดเกม ROV ไปซื้อของในเกมดังกล่าว โดยต้องโอนเงินผ่านธนาคาร จนเงินแม่หายไปกว่า 20,000 บาท โดยที่แม่ไม่รู้ ซึ่งสำหรับเรื่องดังกล่าว ผู้ปกครองสามารถยื่นคำร้องขอเงินคืนจากบริษัทของแอพพลิเคชั่นดังกล่าว และผู้ผลิตเกม ROV ได้ ส่วนทางธนาคาร เป็นแค่ทางผ่านหรือช่องทางจ่ายเงินเท่านั้น โดยกรณีดังกล่าว ผู้ทำธุรกรรม ซึ่งเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี การจะทำนิติกรรมสัญญา อย่างเช่น ไปซื้อของ ซื้อไอเทม ในเกม ROV กรณีนี้ ต้องได้รับอนุญาตจากทางผู้ปกครองเสียก่อนถึงจะสามารถทำได้ ทั้งนี้ ทนายรณณรงค์ ให้ความรู้ในด้านข้อกฎหมายเพิ่มเติมว่า เด็กที่อายุต่ำกว่า 20 ปี ยังไม่บรรลุนิติภาวะจะทำนิติกรรมใดๆ ต้องได้รับอนุญาตจากผู้ปกครอง เนื่องจาก กฎหมายป้องกันการถูกบังคับ หรือ กระทำโดยรู้ตัว รวมถึงทำไปเพราะถูกหลอกให้เข้าใจผิด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 19 และมาตรา 21

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวที่ได้รับความสนใจ