เปิด 4 สาเหตุแห่พบจิตแพทย์ เครียดโควิด-19 กระทบปากท้อง กังวลวิกฤตลากยาวไม่รู้สิ้นสุด

20 เม.ย. 63

เมื่อวันที่ 20 เม.ย.63 พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผอ.ศูนย์จิตรักษ์​ กล่าวว่า ความเครียดเป็นกลไกโดยธรรมชาติที่ช่วยให้มนุษย์เตรียมตัววางแผน และรับมือกับสถานการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ การที่เรารู้สึกเครียดกลัว วิตกกังวล เป็นสิ่งที่ดี เพราะเราจะได้ขวนขวายหาความรู้ หาข้อมูลมาประกอบการตัดสินใจ ให้มีการวางแผนและเตรียมการ รับมือกับโรคระบาดที่เกิดขึ้น

ลองสังเกตอาการของตัวเองในสถานการณ์ COVID-19 โดยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ (CDC) แนะนำให้สังเกตอาการว่ามีดังต่อไปนี้หรือไม่ อาทิ อารมณ์แปรปรวน กลัว เครียด กังวล หงุดหงิดง่าย นอนไม่หลับหรือหลับไม่สนิทฝันร้ายต่อเนื่องเรื้อรัง พฤติกรรมการกินผิดปกติ บางรายกินไม่ลง บางรายกินมากผิดปกติ รู้สึกไม่กระปรี้กระเปร่า ไม่สดชื่น เฉื่อยชาเบื่อ ไม่อยากทำอะไร สมาธิจดจ่อไม่ดี หลง ๆ ลืม ๆ ทำงานบกพร่อง สูญเสียการตัดสินใจ ผู้ป่วยที่มีโรคทางกาย เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคไต โรคหัวใจ ในระยะนี้อาการอาจกำเริบแปรปรวน เช่น ปวดท้อง ปวดหัว ปวดตามตัวหรือมีผื่นขึ้น ตื่นตระหนก เริ่มรู้สึกท้อแท้หมดหวัง รู้สึกไร้ค่า ไม่อยากมีชีวิตอยู่ เป็นต้น

610241

เพราะหลายคนไม่ตระหนักว่า กำลังเกิดความผิดปกติด้านอารมณ์ เมื่อไม่รู้ตัวก็ไม่ได้จัดการอย่างถูกต้อง จนอาจส่งผลกระทบกับประสิทธิภาพในการทำงาน มีปัญหาความสัมพันธ์ ทั้งเรื่องส่วนตัวและกับเพื่อนร่วมงาน ความเครียดสะสมยังอาจนำไปสู่การตัดสินใจผิดพลาด นำชีวิตดิ่งลงได้โดยง่าย

สำหรับ 4 สาเหตุหลักในผู้ป่วยที่มาพบจิตแพทย์ ระบุว่า Covid-19 ทำให้เกิดความเครียดดังนี้

1.กลัวการติดเชื้อ เพราะไม่แน่ใจว่าที่ไหนปลอดภัย ทุกที่เกิดการแพร่เชื้อได้หมด เกิดอาการหวาดระแวงคนรอบข้าง คนใกล้ตัว หรือแม้แต่คนที่แข็งแรงก็กลายเป็นผู้ติดเชื้อแบบไม่มีอาการและแพร่เชื้อได้

2.สถานการณ์รายวันที่เปลี่ยนแปลง มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น นโยบายรัฐบาลปรับตามสถานการณ์ วันนี้อาจไปทำงานปกติ วันรุ่งขึ้นที่ทำงานอาจถูกปิด

3.ความกังวลหน้าที่การงาน ถูกสั่งพักงานหรือที่ทำงานต้องปิดตัว

4.สิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดความเครียดมาก คือ การที่ไม่มีทางรู้ว่าสถานการณ์นี้จะยาวนานเพียงใด ผลกระทบทางเศรษฐกิจจะยาวนานแค่ไหน แม้หลายคนให้ความร่วมมือกับนโยบายเว้นระยะห่างทางสังคม แต่การระบาดอาจจะยังไม่ยุติในระยะเวลาอันใกล้

ทั้งนี้ในผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพจิตอยู่เดิม อาการอาจกำเริบรุนแรงขึ้นได้ ทั้งนี้ก่อนเกิดวิกฤติ COVID-19 มีผู้คนจำนวนมากตกอยู่ในภาวะเครียด องค์การอนามัยโลกรายงานเมื่อต้นปี 2020 ว่าทั่วโลกมีคนป่วยเป็นโรคซึมเศร้า 264 ล้านคน โดยประเทศไทยพบอัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นจากปี 60 คือ 4.94 ต่อประชากรแสนคน เป็น 5.33 ต่อประชากรแสนคนในปี 61

นอกจากนี้ยังมีโรควิตกกังวล ซึ่งในสหรัฐฯ รายงานผู้ป่วยวิตกกังวล โดย The Anxiety and Depression Association of America สูงถึง 18.1% ของประชากร หรือประมาณ 40 ล้านคน เมื่อเกิดวิกฤติ COVID-19 ผู้ป่วยเหล่านี้อาจมีอาการกำเริบหรือแย่ลงได้ แม้ยังได้รับการรักษาอย่างสม่ำเสมอ ดังนั้นหากคุณหรือคนใกล้ชิดเป็นคนหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มผู้ป่วยหรือสงสัยว่าจะป่วย ควรพบจิตแพทย์เพื่อประเมินและรักษาอย่างเหมาะสม หรือหากมีนัดก็ไม่ควรหยุดพบแพทย์ เพราะอาจนำไปสู่อาการรุนแรง และเป็นอันตรายได้ ซึ่งปัจจุบันมีการให้บริการการรักษาทางไกลที่เรียกว่า E - Mental Health ทำให้คนไข้ได้รับความสะดวกมากขึ้น

677126

วิธีการรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 อย่างเข้าใจ คือ ฝึกปรับทัศนคติ อย่าตระหนกและกังวลจนเกินไป ทุกครั้งที่มีความรู้สึกแย่ ๆ เกิดขึ้นต้องรู้สึกตัว ลองใช้เวลาวันละ 5 นาที สำรวจทบทวนความคิดและความรู้สึก หรือการตอบสนองทางร่างกาย ถ้าไม่แน่ใจลองถามคนรอบข้าง เมื่อรับรู้ถึงความรู้สึกลบ ไม่ต้องพยายามปรับเป็นบวก อยู่บนพื้นฐานความจริง อยู่แบบกลาง ๆ มีทั้งลบและบวก

เมื่อรู้สึกแล้วก็แค่รับรู้ว่าเป็นความรู้สึก ยอมรับว่าความผิดพลาด ความล้มเหลวเป็นสิ่งที่อาจจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ ใช้ชีวิตให้ช้าลงสักนิด เช่น ทานข้าวไม่ต้องเปิดดูข่าว ไม่ต้องคุยกันเรื่อง Covid-19 ลองใช้เวลาสั้น ๆ รับรู้รสชาติ พักความคิดสัก 10 วินาที แล้วลองฝึกที่จะจดจ่ออยู่กับวินาทีปัจจุบัน คือช่วงที่จิตใจได้รับบำบัด ฝึกให้ได้วันละนิดเมื่อนึกได้ จิตใจได้พักเติมพลังเป็นระยะ ๆ จะมีเรี่ยวแรงออกไปสู้รบกับสถานการณ์ยาก ๆ ได้ใหม่

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวที่ได้รับความสนใจ