เตือน! สวมหน้ากากอนามัยให้ "เด็กอายุต่ำกว่า 1 ขวบ" อันตรายต่อระบบประสาท

18 เม.ย. 63

กรมอนามัย เตือน! อย่าสวมหน้ากากอนามัย-เฟซชิลด์ให้เด็กทารกแรกเกิดและเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี เพราะอาจก่อให้เกิดภาวะคาร์บอนไดออกไซด์คั่ง กำชับงด "กอด" "หอม" ป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไวรัส

วันที่ 17 เม.ย. 63 แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า
ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 นอกจากกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ และหญิงหลังคลอดแล้ว ทารกแรกเกิดและเด็กเล็ก ถือเป็นอีกกลุ่มเสี่ยงที่ต้องให้ความสำคัญในการป้องกันเป็นพิเศษ โดยเฉพาะพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงเด็ก ควรสร้างสุขอนามัยที่ดีด้วยการล้างมือด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์ก่อนสัมผัสทารก และสวมหน้ากากเสมอ

 หากผู้เลี้ยงเด็กมีอาการไม่สบาย โดยเฉพาะมีอาการทางระบบหายใจ มีไข้ ไอ จาม งดเข้าใกล้ทารกเด็ดขาด สิ่งสำคัญ คือไม่ควรนำทารกแรกเกิดออกนอกบ้าน ยกเว้นการพาไปฉีดวัคซีนตามกำหนด หรือไปพบแพทย์เมื่อมีอาการป่วย โดยแนะนำให้อุ้มแนบกับอกหรือนำเด็กใส่รถเข็นที่มีผ้าคลุมปิด เว้นระยะห่างจากผู้อื่นในระยะ 2 เมตร อย่างเคร่งครัด และให้งดการหอมแก้มเด็กและใกล้ชิดเด็กมากเกินไป เพราะละอองฝอยของน้ำลาย อาจก่อให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสได้

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
กรมอนามัยแนะเลี่ยงขูดหินปูน-อุดฟัน เสี่ยงแพร่เชื้อโควิด-19

ทั้งนี้ ควรเลือกสวมหน้ากากป้องกันให้กับเด็กที่เหมาะสมตามช่วงอายุ เมื่อจำเป็นต้องออกนอกบ้าน ดังนี้

1. เด็กทารกแรกเกิดถึง 1 ปี พ่อแม่ไม่ควรสวมหน้ากากให้ เพราะเด็กเล็กระบบการหายใจยังไม่แข็งแรงพอ เสี่ยงภาวะคาร์บอนไดออกไซด์คั่งได้ เนื่องจากทารกแรกเกิดหายใจทางจมูกเป็นหลัก ยังไม่มีความสามารถในการหายใจชดเชยด้วยการอ้าปากหายใจได้ เมื่อมีการขาดอากาศหรือออกซิเจนจะมีโอกาสเกิดการสะสมของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เกิดอันตรายต่อระบบประสาทของทารกได้ และในกรณีการใช้วัสดุพลาสติก บังหน้าทารก ความคมของพลาสติกอาจทำให้บาดใบหน้า และดวงตาของทารกได้

2. เด็กอายุ 1-2 ปี เด็กบางคนสามารถถอดหน้ากากเองได้เมื่อรู้สึกอึดอัด หากจำเป็นต้องใส่หน้ากาก ควรใช้ด้วยความระมัดระวัง และใส่เพียงระยะเวลาสั้นที่สุด

3. เด็กอายุมากกว่า 2 ปี สวมใส่หน้ากากได้ เพราะสามารถถอดหน้ากากออกได้เมื่อรู้สึกอึดอัด ยกเว้นเด็กที่มีกล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือเด็กที่มีความบกพร่องทางสมอง พ่อแม่ควรให้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ นอกจากนี้ พ่อแม่ควรเน้นการล้างมือบ่อย ๆ ให้กับลูกเพราะเด็กมักจะหยิบเล่นของอยู่ตลอดเวลา อาจทำให้มือสัมผัสกับเชื้อโรคได้ และเน้นการทำความสะอาดบริเวณที่เด็กเล็กเล่นของเล่น

 

 

advertisement

ข่าวยอดนิยม

ข่าวที่ได้รับความสนใจ