สธ.แนะนำวิธีป้องกันโควิด-19 ในช่วงเดือนรอมฎอน

17 เม.ย. 63

คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ออกคำแนะนำในการป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงเดือนรอมฎอน สำหรับชาวไทยที่นับถือศาสนาอิสลามทั่วประเทศ เพื่อเป็นการป้องกันการระบาดของโรค ทั้งภายในครอบครัวและในชุมชน

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค ในฐานะกรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ได้ลงนามคำแนะนำในการป้องกันการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในช่วงเดือนรอมฎอน ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ในฐานะคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ลงวันที่ 10 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย ยังมีผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตอย่างต่อเนื่อง ทำให้ต้องมีการดำเนินมาตรการอย่างเข้มข้นทุกพื้นที่ กรมควบคุมโรค จึงขอความร่วมมือจากประชาชนชาวไทยผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามทั่วประเทศ ร่วมกันป้องกันและลดการแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 โดยเฉพาะในช่วงเดือนรอมฎอนปีนี้ ซึ่งจะเริ่มในห้วงระหว่างวันที่ 24 หรือ 25 เมษายน - 23 หรือ 24 พฤษภาคม 2563 นี้

การถือศีลอดในเดือนรอมฎอนเป็นหนึ่งในบทบัญญัติตามหลักปฏิบัติศาสนบัญญัติของผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งจะงดเว้นการรับประทานอาหาร เครื่องดื่ม และการปฏิบัติตัวตามหลักศาสนา โดยเริ่มปฏิบัติทุกวันตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นจนพระอาทิตย์ตกดินเป็นระยะเวลา 1 เดือน ซึ่งระยะเวลาดังกล่าว เป็นช่วงเวลาที่ครอบครัวจะได้อยู่ร่วมกันอย่างใกล้ชิด ทำให้มีความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อทั้งภายในครอบครัวและในชุมชน กรมควบคุมโรค ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ จึงได้ออกคำแนะนำในการป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19 โดยขอความร่วมมือให้ผู้ที่ถือศีลอดปฏิบัติตามคำแนะนำ ดังนี้

93317227_4370335209659467_577

1.หลีกเลี่ยงการสลามด้วยการสัมผัสมือ การสวมกอด และการสัมผัสแก้ม โดยให้ยกมือสลามกันเท่านั้น

2.งดการไปร่วมละหมาดญะมาอะฮ์หรือละหมาดวันศุกร์ที่มัสยิด และปฏิบัติตามประกาศจุฬาราชมนตรี เรื่อง มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) อย่างเคร่งครัด โดยแนะนำให้ปฏิบัติศาสนกิจภายในบ้าน

3.หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารร่วมกัน และงดการแบ่งปันอาหารให้แก่กัน หากจำเป็นให้นั่งห่างกันอย่างน้อย 1-2 เมตร และไม่จัดอาหารแบบใส่ถาดรวม (บุฟเฟต์) ให้แยกเป็นอาหารจานเดียว มีช้อนส้อมและแก้วน้ำเฉพาะของตนเอง และล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหาร

4.หลีกเลี่ยงการไปสถานที่ที่มีการรวมตัวกันของคนเป็นจำนวนมาก หากจำเป็นควรเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลอย่างน้อย 1-2 เมตร สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยทุกครั้ง และล้างมือด้วยน้ำและสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจลให้สะอาดอยู่เสมอ

5.กรณีมีความจำเป็นต้องปฏิบัติศาสนกิจในมัสยิด แนะนำให้เปิดหน้าต่างและผ้าม่านเพื่อให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก งดการใช้เครื่องปรับอากาศ และให้คัดกรองทุกคนก่อนเข้ามัสยิด หากมีอาการไข้ (อุณหภูมิตั้งแต่ 37.5 องศาเซลเซียส) ไอ เจ็บคอ แม้จะมีอาการไม่มาก ให้งดเข้าร่วมและแนะนำให้สังเกตอาการที่บ้าน

6.หากมีการสัมผัสบุคคลหรือไปสถานที่เสี่ยง เมื่อกลับเข้าบ้าน แนะนำให้รีบทำความสะอาดร่างกาย อาบน้ำสระผม และเปลี่ยนเสื้อผ้า

7.เลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และดื่มน้ำสะอาดมากๆ หลังรับประทานอาหาร นอกจากจะเป็นข้อควรปฏิบัติในการถือศีลอดที่ถูกต้องแล้วยังช่วยให้ร่างกายไม่ขาดน้ำในสภาพอากาศร้อนด้วย

นายแพทย์สุวรรณชัย ให้คำแนะนำเพิ่มเติมว่า ในกลุ่มผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว ไม่ควรออกไปร่วมกิจกรรมทางศาสนาข้างนอกบ้าน ให้ปฏิบัติศาสนกิจภายในบ้าน เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 จากสิ่งแวดล้อมภายนอก เพราะหากกลุ่มดังกล่าวได้รับเชื้อ จะมีอาการรุนแรงอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวที่ได้รับความสนใจ