เรื่องควรรู้เกี่ยวกับ "พ.ร.ก.ฉุกเฉิน" และ "เคอร์ฟิว"

24 มี.ค. 63

หลังจากที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศใช้พ.ร.ก. ฉุกเฉิน เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนา หรือ โควิด-19 กำลังพุ่งสูงขึ้นมาในประเทศไทย หลายคนเริ่มมีคำถามในใจว่า  พ.ร.ก. ฉุกเฉิน  มีผลอะไรกับชีวิตบ้าง และ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน กับ เคอร์ฟิว ใช่เรื่องเดียวกันหรือไม่ 

พ.ร.ก.ฉุกเฉิน  หรือพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เป็นกฎหมายพิเศษ ใช้สำหรับช่วงเวลาที่ใประเทศอยู่ในภาวะไม่ปกติ เช่น เกิดสงคราม หรือกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ  หรือเกิดโรคระบาดรายแรง

ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยเคยประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในช่วงเปิดการชุมนุม คือช่วง พฤษภาคม 2535 โดยพลเอกสุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น จากเหตุการณ์ ชุมนุมขับไล่นายกรัฐมนตรี หรือช่วงเดือน มีนาคม 2553 โดยศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) จากการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง ครั้งนี้จึงนับเป็นครั้งแรกที่ประกาศใช้เนื่องจากเกิดโรคระบาดครั้งใหญ่ 

โดยสาระสำคัญของพ.ร.ก.ฉุกเฉิน นายกรัฐมนตรีมีอำนาจออกข้อกำหนด คือ

(1) ห้ามมิให้บุคคลใดออกนอกเคหสถานภายในระยะเวลาที่กำหนด เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นบุคคลซึ่งได้รับการยกเว้น

(2) ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ หรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย

(3) ห้ามการเสนอข่าว การจำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใดที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวหรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน

(4) ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ หรือกำหนดเงื่อนไขการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ

(5) ห้ามการใช้อาคาร หรือเข้าไปหรืออยู่ในสถานที่ใดๆ

(6) ให้อพยพประชาชนออกจากพื้นที่ที่กำหนดเพื่อความปลอดภัยของประชาชนดังกล่าว หรือห้ามผู้ใดเข้าไปในพื้นที่ที่กำหนด

ผู้ใดฝ่าฝืนข้อกำหนด ประกาศ หรือคำสั่งที่ออกมาตรา 9 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

จะเห็นได้ว่า พ.ร.ก. ฉุกเฉินเป็นกฎหมายที่ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีในการกำหนด ควบคุม ความสงบเรียบร้อยในภาพกว้าง ซึ่งเป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรีที่จะออกกฎอื่นตามมาได้ หนึ่งในนั้นคือการประกาศ “เคอร์ฟิว” ห้ามประชาชนออกจากเคหสถาน ตามระยะเวลาที่ระบุไว้อย่างชัดเจน

สรุปได้ว่า วันนี้ นายกรัฐมนตรีประกาศพ.ร.ก. ฉุกเฉินก่อน แล้วเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมค่อยใช้อำนาจใน พ.ร.ก. ประกาศเคอร์ฟิวตามมา ซึ่งอาจจะมีหรือไม่มีก็ได้ เพราะการประกาศ “เคอร์ฟิว” จะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของประชาชน จึงเป็นวิธีที่ต้องระมัดระวังอย่างสูงในการประกาศใช้

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวที่ได้รับความสนใจ