“ทนายนิด้า” ลั่น ทนายไม่ได้ชั่วทุกคน ขอฝากถึงทนายคนดังออกมาชี้แจงคนจองกฐิน ส่วนค่าทนายเรียก 10 ล้านแล้วไม่ทำงานถือว่าแพง
วันที่ 29 ต.ค.67 นางสาวศรันยา หวังสุขเจริญ หรือ ทนายนิด้า ทนายความชื่อดัง เปิดเผยถึงเรื่องทนายคนดังถูกจองกฐินว่า ในฐานะประชาชนผู้เสพสื่อต้องใช้วิจารณญาณ ยอมรับว่าติดตามข่าวอยู่ และเป็นคนหนึ่งที่เฝ้ามองข่าวเพราะทนายความคนนี้ก็เป็นคนที่มีชื่อเสียง ต้องยอมรับว่ายังไม่เคยเห็นทนายความคนไหนดังระดับคนนี้
ทนายนิด้า ระบุว่า ที่ผ่านมาทนายความที่อยู่ในสื่อในแสงหลายคนแม้แต่ตนเองก็ตาม บางครั้งอาจไปก่อให้เกิดผลกระทบต่อเพื่อนร่วมวิชาชีพคนอื่น ทนายความที่อยู่ในสื่อในแสงมีอานุภาพในการชี้นำสังคมได้ หากเป็นคนดีก็ชี้นำไปสิ่งที่ดี หากไม่ดีก็ทำให้สังคมตกต่ำได้ ทำให้ทนายที่อยู่ในแสงหลายคนที่ผ่านมามักจะถูกเพื่อนร่วมวิชาชีพเดียวกันหรือประชาชนติเตือน คนมองว่าไม่มีความรู้ความสามารถจริง เรียกกระแสไปวันๆ ส่วนตัวก็ได้รับผลกระทบนี้ไปด้วย แม้จะไม่ได้ดังแต่เชื่อว่าก็อยู่ในสื่อในแสงประมาณนึง เวลาที่สังคมบอกว่าทนายที่อยู่ในสื่อไม่ดี ตนเองก็มักจะถูกมองไปด้วย ถูกเหมารวมไปด้วย ตนเองไม่ได้ยืนยันหรือหมายถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่ก็กระทบต่อเพื่อนร่วมอาชีพที่ไม่ได้อยู่ในสื่อในแสงสาธารณะด้วย เหมือนประชาชนเห็นเพียงแค่คนเดียวแต่ก็เหมารวมไปทั่วประเทศ ตนเองก็ติดตามข่าวสาร ที่ทนายความคนดังถูกกล่าวหาว่าไปฉ้อโกง หรือเรียกรับเงิน ซึ่งตนเองก็มองอยู่ว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่ เพราะหากเป็นเรื่องจริง ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่แย่ แต่หากไม่เป็นความจริงก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับทนายความคนดังกล่าว ตอนนี้รอเพียงแค่ทนายความคนดังกล่าวชี้แจง
ส่วนประเด็นที่ทนายคนดังกล่าวเงียบหลังกลายปรากฎชื่อในข่าวดัง ส่วนตัวก็มองว่าผิดวิสัย หลังจากที่รู้จักผ่านสื่อมาหลายปีก็เห็นบุคลิกเป็นคนคล่องแคล่วว่องไว และเป็นคนที่ใครต่อยมาก็พร้อมจะต่อยสวน เป็นเรื่องของคนอื่นหรือแม้เป็นเรื่องตัวเขาเอง จะเห็นทนายความคนดังกล่าวตอบโต้อย่างฉับไว ซึ่งประชาชนก็ได้คลายความสงสัย แต่กลายเป็นว่าครั้งนี้ ทนายความคนดังกล่าวยังไม่ได้มีคำตอบ จากสิ่งที่ถูกกล่าวหา ซึ่งเมื่อไม่ออกมาตอบคำถาม ก็ยิ่งทำให้คนคิดได้ว่าเป็นเรื่องจริง
ส่วนตัวเป็นทนายความก็ฟังหูไว้หูอยู่แล้ว เพราะเวลาใครเล่าเรื่องอะไรก็มักจะเล่าเรื่องดีของตัวเอง ในฐานะทนายความ มีศักยภาพมากพอที่จะประมวลผลสิ่งที่ได้ฟัง
นักข่าวถามต่อว่าที่เงียบไปเพราะเตรียมจะสู้กลับหรือไม่นั้น ส่วนตัวในฐานะที่เป็นอาชีพทนายความด้วยกัน ก็ไม่สามารถตอบได้ว่าทนายความคนดังกล่าวจะใช้วิธีการสู้แบบใด เพราะที่ผ่านมาที่ทนายความคนดังกล่าวทำมา ตนเองก็ไม่ได้เลือกใช้วิธีที่ทนายความคนนั้นทำอยู่แล้ว
ขณะที่ประเด็นการเรียกราคาว่าความแพงเกินจริงนั้น ทนายนิด้า ระบุว่าเรื่องของค่าวิชาชีพไม่ได้มีข้อกำหนดว่าจะต้องกี่บาท แต่หากพูดถึงตนเองหรือทนายความที่รู้จัก จะมีกรอบวิธีคิดคือการประเมินเนื้อหาคดีความยากง่ายเป็นอย่างไร มีหลักฐานมากพอหรือไม่ จำเป็นต้องใช้บุคลากรของทนายความที่เข้ามาร่วมดูคดีดังกล่าวมากแค่ไหน และประเมินจากศักยภาพของตัวผู้ว่าจ้าง ซึ่งก็มีหลายคนที่ประเมินว่าหากมีศักยภาพสูงก็จะเรียกเก็บแพง แต่หลายคนก็จะมีเกณฑ์อยู่แล้วโดยที่ไม่ได้สนใจ ว่าจะเรียกเท่าที่ตั้งเอาไว้และไม่เรียกสูงมากไปกว่านั้น แต่หากศักยภาพของผู้ว่าจ้างน้อย ก็เลือกลดลงมา
ซึ่งหากผู้ว่าจ้างประสงค์ที่จะบอกเลิกจ้างตนเองเราจึงจะยุติการทำงาน แต่หากทางผู้ว่าจ้างไม่เคยบอก ก็ควรจะทำคดีจนถึงที่สุด ทั้งนี้ ควรมีการพูดคุยกันอย่างชัดเจนว่าผู้ว่าจ้างต้องการที่ทำในส่วนใด ซึ่งคำว่าจบของแต่ละคนไม่เหมือนกัน
ส่วนกรณี เรื่องเรียกเงิน 10 ล้านบาทตนเองมองว่า หากนำเงิน 10 ล้านบาทไปทำงานก็ถือว่าไม่แพง แต่หากไม่ได้ทำงานแล้วเรียกมาเพียงแค่ 10 บาทก็ถือว่าแพง
ส่วนตัวอยากเห็นทนายความทุกคนที่มีโอกาสอยู่ในสื่อในกระแสที่สามารถชี้นำสังคมได้ ให้ประพฤติตนโดยนึกถึงประชาชนและเพื่อนร่วมวิชาชีพ
ส่วนตัวเคยถูกทนายความที่มีชื่อเสียงและมีผู้ติดตามจำนวนมาก หลายคนรังแก แต่ตนเองไม่ขอยืนยันว่าเป็นบุคคลใด แต่ก็มองเป็นข้อดีว่าทุกวันนี้ต้องลุกขึ้นสู้ ที่ผ่านมาเห็นทนายความหลายคนชี้นำสังคมไปในทางที่ผิด แต่เมื่อก่อนก็ไม่เคยคิดจะออกมาพูด เพราะไม่อยากถูกแกล้งหรือถูกรังแก แต่เมื่อวันหนึ่งตนเองถูกรังแก ทำให้มีความรู้สึกว่าต้องออกมาพูดว่าคือสิ่งไม่ถูกต้อง ส่วนตัวไม่ชอบคบคนเยอะ ทุกวันนี้ทำงานมีคนเข้ามาอยากรู้จักตนเอง แต่ตนเองชอบสันโดษ ไม่อยากวุ่นวายหรือต้องไปรบกวนใคร