"ประเดิมชัย" แฉยับ กทม.รวบรัดโครงการรถขยะ 4 พันล้าน จนสะดุด ปูดเอื้อเอกชนรายใหญ่เตรียมรถรอแล้ว จี้ ผู้ว่าฯชัชชาติ ตั้งกก.สอบ รักษาผลประโยชน์คนกทม.
วันที่ 10 ต.ค. 67 ที่โรงแรมปริ๊นซ์ตัน พาร์ค สวีท นาย ประเดิมชัย บุญช่วยเหลือ อดีตสส.กทม. และอดีตประธานสภากทม. แถลงข่าวถึงโครงการเช่ารถเก็บขนมูลฝอยพลังงานไฟฟ้า (EV) จำนวน 884 คัน วงเงิน 3,993 ล้านบาท ที่ดำเนินการจัดจ้างอยู่ในเวลานี้ว่า
ช่วงปี 67-68 จะมีรถเก็บขนขยะมูลฝอยของ กทม. ประกอบด้วยรถเก็บขนมูลฝอยแบบอัดขนาด 2 ตัน และขนาด 5 ตัน และรถเก็บขนมูลฝอยแบบยกภาชนะรองรับมูลฝอย ขนาด 3 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) และ 8 ลบ.ม. ทยอยหมดสัญญาเช่า ไล่ตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย.67 ที่ผ่านมา จนถึงเดือน มี.ค. 68 ทำให้ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. ที่เข้ามาบริหาร กทม.ในช่วงปีงบประมาณ 2566 ได้แต่งตั้ง คณะกรรมการจัดทำทีโออาร์ เพื่อจัดหารถขยะทั้ง 4 ประเภท วงเงิน 3,993 ล้าน
และจากเดิมคณะกรรมการจัดทำทีโออาร์ จะให้ใช้รถสันดาบล้วน แต่นายชัชชาติ มีนโยบายให้ปรับมาใช้เป็นรถพลังงานไฟฟ้า ทำให้ผู้รับผิดชอบโครงการไม่มั่นใจว่า จะสามารถดำเนินการได้หรือไม่ จนมีการสอบถามไปยัง กรมบัญชีกลาง รวมถึงมีผู้ร้องไปที่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ถึงความไม่โปร่งใสของโครงการ และ กทม.ก็ได้มีข้อเสนอแนะมายัง นายชัชชาติว่า การดำเนินการโครงการมีความสุ่มเสี่ยง เพราะการเปลี่ยนเป็นรถพลังงานไฟฟ้าอาจต้องปรับเปลี่ยนงบประมาณ แต่กทม.ยืนยันว่า สามารถใช้งบประมาณได้เท่าเดิม ส่งผลให้ต้องมีการใช้ทรัพยากรของสำนักงานโยธา กทม. ที่เตรียมไว้สำหรับซ่อมแซมถนนมาปรับปรุงสถานที่สำหรับการเป็นพื้นที่ชาร์ตรถที่เขตหนองแขม กทม.
“ที่สุดแล้วจนถึงขณะนี้ผู้ว่าฯชัชชาติ ไม่สามารถดำเนินการโครงการได้จนต้องยกเลิกไปในที่สุด แล้วนายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่า กทม. ออกมาอ้างว่า มีคนร้องเรียนทำให้โครงการไม่สามารถเดินหน้าได้ และพูดถึงขั้นว่า จะลาออกจากตำแหน่ง เข้าใจว่า รองฯจักกพันธุ์ อาจจะเพี้ยนไป เพราะไม่ควรโยนความผิดว่า มีคนไปร้องเรียน จนโครงการเดินหน้าไม่ได้ แต่เป็นเพราะ กทม.ไม่กล้าทำเอง และหากมั่นใจว่าโปร่งใส ก็ไม่มีใครห้าม แม้แต่ความเห็นจาก ป.ป.ช. ก็เป็นเพียงข้อแนะนำ แต่หากมีคนร้อง ป.ป.ช. ก็มีหน้าที่ตรวจสอบตามกฎหมาย“ นายประเดิมชัย ระบุ
นายประเดิมชัย กล่าวต่อว่า เมื่อการจัดหารถไม่ทันกับรถที่จะหมดสัญญาไปแล้วทำให้ กทม. จัดทำโครงการเช่ารถเก็บขนมูลฝอยจำนวน 470 คัน วงเงิน 241 ล้านบาท ระยะเวลา 270 วัน โดยมีการปรับเป็นรถพลังงานไฟฟ้าทั้งหมด ซึ่งทราบข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ กทม.ว่า ขั้นตอนการดำเนินการอาจมีปัญหา มีการออกหนังสือเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่เร่งรีบผิดปกติ เพราะโครงการดังกล่าวมีการตั้งโครงการ เพื่อส่งเรื่องให้บริษัทต่างๆเสนอราคาและรายละเอียด วันที่ 26 เม.ย.67 เพื่อให้บริษัทเอกชนเสนอราคามาภายในวันที่ 9 พ.ค.67 ซึ่งหนังสือดังกล่าวนำส่งไปยังบริษัทต่างในวันที่ 1 พ.ค. 67 แต่วันที่ 3 พ.ค.67 มีการเรียกเจ้าหน้าที่จัดทำเอกสารเพื่อเตรียมเบิกจ่ายงบกลาง ทั้งที่ไม่มีรายละเอียด สุดท้ายมีการเห็นชอบให้ใช้งบกลางเพื่อดำเนินการโครงการในวันที่ 4 มิ.ย.67 โดยระบุว่า เพื่อให้มีรถมาใช้ทดแทนรถที่จะหมดอายุช่วงเดือน ก.ย.67-มี.ค.68 ทำให้เอกชนทั่วไปเตรียมการไม่ทัน เพราะรถไฟฟ้าจำนวน 470 คัน ถ้าไม่มีการเตรียมการ หรือรู้ตัวไว้ก่อน ก็ไม่มีเอกชนรายใดจัดหารถได้ทัน
“อยากตั้งคำถามว่าการดำเนินการรวบนัดตัดตอนแบบนี้เอื้อประโยชน์ให้ใครหรือไม่ เพราะผมได้ยินมาว่า มีเอกชนรายใหญ่เตรียมรถไว้แล้วที่ จ.สระบุรี แต่ที่สุดแล้ว กทม.ไม่กล้าเดินหน้าจนโครงการต้องพับไป ซึ่งหากตั้งเรื่องโครงการใหม่ แตายังคงเดินหน้าทำแบบเดิมอีก ก็ไม่มีใครเตรียมรถทันอยู่ดี เรื่องนี้ผมได้ร้องไปที่ ป.ป.ช.แล้ว และทราบว่าป.ป.ช. ได้เรียก กทม. ไปชี้แจงแล้วด้วยเช่นกัน จึงขอเรียกร้องให้ผู้ว่าฯชัชชาติ ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเรื่องนี้อย่างจริงจัง เหมือนเมื่อครั้งที่ตรวจสอบการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายที่แพงเกินจริง ควบคู่ไปกับการตรวจสอบของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อรักษาผลประโยชน์ของคน กทม.” นายประเดิมชัย กล่าว