พ่อโพสต์อุทาหรณ์ รพ.ชุ่ย ลูกถูกสลับตัวเกือบได้ไปอยู่เมียนมา ดีที่เอะใจมองยังไงก็ไม่ใช่ลูกเรา ขอตรวจเลือดผลออกมาคนละกรุ๊ป แทบใจสลาย
พ่อรายหนึ่งในจังหวัดสมุทรสาคร โพสต์เหตุการณ์โรงพยาบาลสลับตัวลูกกับครอบครัวชาวเมียนมา ดีที่เอะใจว่าเด็กที่เห็นทุกวัน หน้าเปลี่ยนไปไม่ใช่ลูกของตนจึงขอตรวจเลือดก่อนจะพบว่าไม่ใช่ลูกของตนจริงๆ โดยระบุว่า
#เหตุการณ์เด็กแรกเกิดสลับตัวกัน!!! ลูกสาวผมเกิดวันที่ 11/8/67 น้องหายใจเร็วเลยต้องแยกห้องกับแม่ แม่นอนห้องพักฟื้นลูกนอนห้องอภิบาลแล้วต้องมีการให้ยาฆ่าเชื้อ 7 วัน โรงพยาบาลให้เยี่ยมได้ 18:30-20:00 ผมกับแฟนก็ไปเยี่ยมตั้งแต่วันที่ 12 ในห้องอภิบาลเขาห้ามถ่ายรูปแต่ผมก็แอบถ่ายลูกผมใว้ทุกวันไว้ส่งให้แม่ผมดู ส่งให้ญาติๆ ผม ตามปกติ วันที่ 13-14-15-16 ผมก็ไปเยี่ยมปกติ ผมก็แอบถ่ายรูปลูกผมไว้ทุกวัน
พอวันที่ 17 ก็ไปเยี่ยมหน้าลูกผมเปลี่ยน จากผมยาวก็สั้น จากมีคิ้วคิ้วก็หาย ป้ายชื่อที่ข้อมือซ้ายกับขาขวาก็หาย เสื้อผ้าผ้าขนหนูก็ไม่ใช่ของลูก ผมสอบถามพยาบาลก็ตอบว่าป้ายชื่อหายไปไหนครับ เขาบอกว่าอาจหายตอนอาบน้ำ แล้วเสื้อผ้าในกล่องอ่ะครับ อาจจะสลับกันได้ ตอนแรกกะว่าจะเดินดูเด็กทุกคนแต่มีเด็กข้างๆ มีการเอกซเรย์เลยต้องออกจากห้องก่อน
แล้ววันที่ 18 ลูกผมครบกำหนดให้ยาฆ่าเชื้อก็กลับบ้าน ก็ไปรับกลับบ้าน ผมมองลูกที่ได้กลับมาบ้านมองยังไงก็ไม่ใช่ลูก ผมสับสนกับตัวเองว่าใช่หรือไม่ใช่ดูรูปที่ถ่ายไว้กับตัวจริงตลอด จนวันจันทร์ผมได้โทรไปสอบถามโรงพยาบาลอีกทีว่า ผมสงสัยว่าไม่ใช่ลูกผม ผมช่วยให้โรงพยาบาลการันตีหรือพูดให้ผมสบายใจหน่อยได้ไหมว่าคนนี้เป็นลูกผม เขาก็บอกว่าลูกของคุณพ่อไม่เหมือนเด็กคนอื่น ลูกคุณพ่อต้องให้ยา 7 วันที่ข้อมือจะมีรอยช้ำจากการถูกเจาะเลือด มันก็มีจริง ผมก็ถามไปอีกว่าแล้วทำไมผมสั้นลง คิ้วหายไป เขาก็บอกว่าเด็กหน้าเปลี่ยนทุกวัน
จนคืนวันอังคารผมทนไม่ไหวเลยโพสต์ลงในกลุ่มข่าวให้เพื่อนๆ ดูว่าเด็กในรูปคนเดียวกันไหม ส่วนใหญ่บอกว่าคนละคน แนะนำให้ไปโรงพยาบาลไปตรวจ DNA รวมกับในใจก็คิดว่าคนละคน เช้าวันพุธที่ 21/8/67 จึงรีบพาลูกกับแฟนไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจสอบ แล้วก็เล่าเหตุการณ์ให้พยาบาลฟังทั้งหมด แล้วก็เริ่มการเจาะเลือดผม แฟนผม แล้วก็เด็กที่ผมนำกลับบ้านไปวันที่ 18/8/67 ผลออกมาคือเด็กกรุ๊ป B ผมกรุ๊ป AB แฟนผมกรุ๊ป A ผมโกรธและโมโหมากเสียใจมาก สงสารลูกผมมาก
แล้ว รอง ผอ.ก็มาคุย ผมบอกทำยังไงก็ได้ผมขอเจอลูกผมตัวจริง วันนี้คือวันที่ 21/8/67 ทางโรงพยาบาลก็หามาจนเจอ ก็มีการเจาะเลือดทั้งสองครอบครัว ครอบครัวเขา B ทั้งบ้านส่วนลูกผม AB แล้วผมได้คุยกับอีกครอบครัวนั้นเขาบอกว่าน่าจะสลับวันเสาร์ เพราะเขาก็ว่าอยู่ทำไมลูกเขามีคิ้ว ทั้งที่ตอนแรกไม่มี ครอบครัวนั้นเป็น (พม่า) นะครับ ลูกผมถูกให้ยาฆ่าเชื้อเกิน ลูกพม่าถูกให้ยาฆ่าเชื้อขาดกำหนดคือต้อง 7 วันตามที่พยาบาลบอกผม วันแรกที่ลูกผมแยกห้องกับแม่เขาแล้วก็ไม่รู้ว่าจะมีผลอะไรไหม ตอนนี้ที่ทางโรงบาลรับผิดชอบคือเจาะเลือดให้ฟรีแล้วก็พาไปตรวจ DNA ที่โรงพยาบาลรามา ตอนนี้รอผล DNAแล้วจะนัดไกล่เกลี่ยกันอีกที ครอบครัวเราควรทำยังไงดี #เสียใจมากๆ ถ้าเราไม่มีหลักฐานรูปถ่าย เราคงเลี้ยงลูกคนอื่นไปจนโตไปแล้ว รอการอัปเดตอีกครั้ง หลังจากผล DNA ออกจะมาเล่าให้ฟังว่าทางโรงพยาบาลเขารับผิดชอบอย่างไรบ้างนะครับ
#อัปเดตล่าสุด 15/9/67 ผล DNA ออกแล้ว ผมได้ไปคุยกับทางโรงพยาบาลมาแล้วในวันศุกร์ที่ 13/9/67 ผลก็เป็นไปตามนั้น เด็กสลับตัวกันจริงทางโรงพยาบาลจึงรับผิดชอบโดยให้สิทธิรักษาลูกผมฟรีแบบพิเศษ แบบพิเศษที่เขาว่าคือไม่ต้องต่อคิว ถ้าจะไปให้โทรไปบอกเขาว่าเป็นไร เขาจะเตรียมทำเอกสารไว้ให้จนน้องอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ครับแค่นั้น ผมจึงขอค่าเยียวยาจิตใจไปสองแสนบาทโดยแบ่งให้บ้านของพม่าด้วยหนึ่งแสนบาท โดยสองครอบครัวไม่ได้เข้าไปคุยพร้อมกันนะครับ คุยคนละวัน แต่ที่หมอบอกเขาจะให้สิทธิเหมือนกันครับทั้งสองครอบครัว โดยทางโรงพยาบาลบอกว่ารักษาฟรีทำได้เลยทันที ส่วนเงินเขาให้รอไปอีก 2 อาทิตย์แต่ไม่รับปากนะว่าจะได้ครบไหม อาจจะครบหรือไม่ครบ เขาจะไปลงขันรับบริจาคกันก่อน มีแบบนี้ด้วยเหรอครับ??
ไม่เป็นไรรอก็รอครับ เรื่องแบบนี้ทางโรงพยาบาลน่าจะทำให้จบให้เร็วที่สุด ไม่น่าปล่อยเวลาให้มันนาน เดี๋ยวมันจะเป็นเรื่องใหญ่ ฝากด้วยครับเพื่อนๆ ทำไรอย่าประมาท ทำไรควรมีหลักฐานยืนยัน ในกรณีนี้ถ้าผมไม่มีหลักฐานยืนยันจบครับลูกผมไปอยู่พม่าแล้ว!!! #ผมมาโพสต์เป็นกรณีศึกษาไว้นะครับ
ขณะเดียวกัน ดร.ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาครแล้ว ยอมรับว่าเป็นความผิดพลาดของโรงพยาบาลจริง คาดว่าเกิดเหตุสลับตัวขณะนำเด็กไปตรวจ โดยเมื่อพ่อของเด็กท้วงติงถึงความผิดปกติ รพ.ได้ดำเนินการส่งตรวจดีเอ็นเอ โดยในวันนี้ (16 ก.ย.67) โรงพยาบาลได้นัดพ่อแม่ของเด็กมาพูดคุยเพื่อไกล่เกลี่ยเรื่องค่าเสียหาย
ดร.ธนกฤต เปิดเผยด้วยว่า ได้ให้คำแนะนำกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดให้ปรับแผนการดูแลเด็ก โดยให้ติดตั้งกล้องวงจรปิดเพิ่มเติมเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดซ้ำรอย เพราะการติดป้ายชื่อเด็กอาจไม่เพียงพอ ซึ่งนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด และทางโรงพยาบาล รับที่จะนำไปดำเนินการ