น้ำท่วมเชียงราย น้ำท่วมแม่สาย วิกฤตปรากฏการณ์คนติดบนหลังคา-ติดอยู่ในบ้าน ประมวลความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้ว สาเหตุ ทำไมครั้งนี้ท่วมหนัก จนท.-กู้ภัยฯ-พลเมืองดีจิตอาสา ผนึกกำลังช่วย
น้ำท่วมเชียงราย น้ำท่วมแม่สาย สาเหตุ ทำไมครั้งนี้ถึงท่วมหนัก
อ้างอิงจาก ประกาศ กรมอุตุนิยมวิทยา และ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เกี่ยวกับผลกระทบจาก "พายุยางิ" ขึ้นฝั่งถล่มยับเวียดนาม ก่อนเคลื่อนตัวผ่าน สปป.ลาว ผ่าน เมียนมา แม้ประเทศไทยจะไม่ใช่เส้นทางพายุลูกนี้โดยตรง แต่ก็เจอในลักษณะของ ขอบพายุ ผลกระทบก็คือ เกิดฝนตกและตกหนักบางพื้นที่ ประกอบกับ ร่องมรสุมพาดผ่านตอนบนของภาคเหนือและตอนบนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กับหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงปกคลุมบริเวณประเทศเมียนมา ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุม ทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยตอนบน ทำให้ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในบริเวณภาคเหนือ
ขณะที่ล่าสุดมีข้อมูลอีกชุดจาก นายรอยล จิตรดอน ที่ปรึกษาสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ระบุถึงสาเหตุน้ำท่วมหนักที่แม่สาย เป็นเพราะพายุยางิทำฝนตกหนักในเมียนมา อ.แม่สาย ที่เป็นพื้นที่ติดกันจึงได้รับผลกระทบไปด้วย
10 ก.ย. 67 ฝนตกไม่หยุด มวลน้ำทะลักท่วม "แม่สาย"
ปภ.เชียงราย รายงาน สถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย รวม 2 ตำบล 5 หมู่บ้าน แยกเป็น ต.เวียงพางคำ เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 2 หมู่บ้าน ได้แก่ ชุมชนแม่สาย และชุมชนดอยเวา ประชาชนได้รับผลกระทบ 83 ครัวเรือน ร้านค้าได้รับความเสียหาย 92 แห่ง
ส่วนที่ ต.แม่สาย เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 3 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ที่ 2 บริเวณชุมชนเหมืองแดง ประชาชนได้รับผลกระทบ 313 ครัวเรือน หมู่ที่ 7 บริเวณชุมชนเกาะทราย ประชาชนได้รับผลกระทบ 325 ครัวเรือน และหมู่ที่ 10 บริเวณชุมชนไม้ลุงขน ประชาชนได้รับผลกระทบ 470 ครัวเรือน
สถานการณ์น้ำในภาพรวม ระดับแม่น้ำสายเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้น้ำเข้าท่วม ตลาดสายลมจอย และชุมชนแม่สาย ชุมชนหัวฝาย ชุมชนเหมืองแดง ชุมชนไม้ลุงขน ชุมชนเกาะทราย แนวโน้มระดับน้ำเพิ่มมากขึ้นและน้ำล้นพนังกั้นน้ำ โดยตลอดทั้งคืนยังมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมวลน้ำยังไหลมาเรื่อยๆ บางจุดระดับน้ำสูงตั้งแต่ 1- 2 เมตร มีประชาชนโพสต์ขอความช่วยเหลือผ่านโซเชียลมีเดีย ชุมชนคนแม่สาย จำนวนมาก ทว่า การช่วยเหลือเป็นไปอย่างลำบาก เนื่องจากกระแสน้ำเชี่ยวแรง และบางจุดน้ำสูงมาก
11 ก.ย.67 วิกฤตปรากฏการณ์คนติดบนหลังคา-คนติดอยู่ในบ้าน รอความช่วยเหลือจำนวนมาก
กรณีของ ลุงเขียงหมู หนีน้ำขึ้นไปรอการช่วยเหลืออยู่บนหลังคาเต็นท์ การรอคอยท่ามกลางมวลน้ำเชี่ยวกราก ฝนที่ตกลงมาอย่างไม่ขาดเม็ด เป็นชั่วโมง สู่หลายชั่วโมง กระทั่งข้ามวันข้ามคืน ช่างเป็นสถานการณ์บีบหัวใจของคนที่ติดตามเอาใจช่วยลุงเขียงหมูเป็นอย่างมาก ล่าสุด วันที่ 11 ก.ย.67 เวลา 10.50 น. ทีมงาน "กัน จอมพลัง" ได้เข้าช่วยเหลือ ลุงเขียงหมู สำเร็จ ปลอดภัยดีหลังเกาะเสาร้านค้าใกล้เคียง ประคองชีวิตรอความช่วยเหลือนานกว่า 18 ชั่วโมง ส่วนอีกเคส ติดอยู่ในบ้าน ยายแขนขาอ่อนแรงจมนานเกิน 24 ชม. ทีมงาน กัน จอมพลัง ก็ได้เข้าช่วยเหลือสำเร็จเช่นกัน
และอีกเหตุการณ์สะเทือนใจไม่แพ้กัน ลูกลอยคอแบกแม่ท่ามกลางกระแสน้ำ โชคยังมีเจอคนใจดีช่วยดึงขึ้นมานั่งบนขอบปูนฝากั้นห้อง ไม่ได้กินข้าว 2 วัน ดื่มน้ำท่วมประทังชีวิต ล่าสุด มีผู้ประสบภัยได้นำตัว 2 แม่ลูก ขึ้นมาอยู่บนหลังคา ปลอดภัยในระดับหนึ่งและยังรอการช่วยเหลือ (ข้อมูล ณ เวลา 15.44 น. / 11 ก.ย.67)
เฟซบุ๊ก เรียนหมอ โพสต์ขอความช่วยเหลือ ติดอยู่กันหลายคนค่ะ หอพักแมรี่จอย ใกล้ๆ ป้อม ชรบ. เหมืองแดงใต้ หมู่ 1
ติดตั้งแต่เมื่อวานตอนเช้า เป็นหอพัก ลงไม่ได้ น้ำแรงมาก พิกัดผู้ประสบภัยขอความช่วยเหลือ https://maps.app.goo.gl/EzrNndWJmhm8HMMC9...
"มันเป็นฟิวเหมือนในหนังที่ทุกคนหนีตาย พยายามดิ้นรนเอาชีวิตรอด ช่วยแม่สายด้วยค่ะ อีกไม่กี่ชั่วโมงก็จะมืด"
เพจฯดังตั้งคำถาม พายุเข้ารู้ล่วงหน้าก่อนหลายวัน ไม่แจ้งเตือน ปชช. หรือ ?
วันที่ 11 ก.ย.67 Survive - สายไหมต้องรอด โพสต์ข้อความตั้งคำถามไปยังผู้เกี่ยวข้อง โดยระบุว่า "พายุจะเข้าก็รู้ก่อนล่วงหน้าหลายวัน ทางจังหวัดไม่ได้แจ้งเตือนประชาชนหรือสั่งอพยพ ผู้สูงอายุ - เด็ก ออกมาก่อนเลยรึ" ขณะที่ชาวเน็ตจำนวนมากเข้ามาร่วมแสดงความเห็น ชี้ เป็นคำถามที่อยู่ในใจของพวกเขาเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์เช่นนี้ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น หลายๆ หน่วยงานรัฐบาล เจ้าหน้าที่ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่กู้ภัย จิตอาสา ต่างผนึกกำลังเข้าช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยอย่างเร็วที่สุด เพื่อความปลอดภัยของทุกชีวิตอย่างสูงสุด แต่วิกฤตการณ์คนหนีตายขึ้นหลังคา ติดค้างอยู่ท่ามกลางกระแสน้ำ เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สะท้อนว่า "ฝ่ายบริหาร" ต้องฉุกคิดแล้วหรือไม่?
จากนี้ ประเทศไทยจะมีวิธีรับมือ วิธีแก้ปัญหา และวิธีการช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างไร ในเมื่อพิบัติภัยที่นับวันยิ่งรุนแรง ซึ่งต้นตอมาจาก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) มนุษย์ข้ามเส้นที่ไม่อาจย้อนกลับได้แล้ว