83 ปี มีบ้านหลังแรก เรื่องเล่าจากจ้างวานข้า 70% เป็นกลุ่มผู้สูงอายุ ยังหางานทำเลี้ยงชีพ

11 ก.ย. 67

“มีลุงคนหนึ่งในกลุ่มคนจนเมือง อายุ 83 ปี เขาสามารถซื้อบ้านที่เขาเช่าอยู่อาศัยมาตลอดได้ คือบ้านมันก็ราคาไม่ได้สูงหรอก ก็ประมาณ 2-3 แสน เขาไม่ได้ซื้อที่ดินด้วยนะเขาซื้อแต่ตัวบ้านอย่างเดียว คือแกอยู่ในบ้านเช่านี้มานานจนเกษียณ หลังจากนั้นรายได้ก็ไม่มี เป็นแรงงานที่รับเงินประกันสังคมไม่เท่าไหร่เอง มันก็เป็นความภาคภูมิใจของเขา ที่เราก็คิดว่าเรามีส่วนในการทำให้เขาทำสิ่งนี้เกิดขึ้นได้ครับ”

เรื่องเล่าของผู้สูงอายุที่เข้ามาทำงานกับจ้างวานข้า เก็บรวบรวมเงินที่สะสมมาทั้งชีวิตตั้งแต่ยังทำงานอยู่จนถึงวันเกษียณจากงาน จนวันหนึ่งได้มาเข้าร่วมเป็นสมาชิกจ้างวานข้าได้ 3 ปี ก็สามารถมีบ้านเป็นของตัวเองได้ จากปากของ "เอ๋-สิทธิพล ชูประจง" หัวหน้าโครงการจ้างวานข้า ผู้เปิดแสงสว่างให้คนไร้บ้านและคนจนเมืองซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุได้มีงานทำ จนวันนี้สามารถมีบ้านเป็นของตัวเองในช่วงปั้นปลายชีวิตได้สำเร็จ

312845307_5318867394888418_51
"เอ๋-สิทธิพล ชูประจง" หัวหน้าโครงการจ้างวาน

โครงการจ้างวานข้า เสาหลักของการช่วยเหลือคนไร้บ้าน ภายใต้การดูแลของมูลนิธิกระจกเงา เพื่อให้กลุ่มคนไร้บ้านและคนจนเมืองซึ่งประสบปัญหาในด้านคุณภาพชีวิต ไม่มีเงินเก็บ ไม่มีรายได้ ขาดโอกาสเข้าถึงสวัสดิการพื้นฐานดีๆ ในชีวิตอย่างบ้านและอาหาร ได้มีงานทำ มีรายได้ในการเลี้ยงชีพ นำไปสู่การเข้าถึงคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยปัจจุบันสมาชิกของจ้างวานข้า แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มคนไร้บ้านกับกลุ่มคนจนเมือง ซึ่งส่วนใหญ่พบว่าเป็นกลุ่มผู้สูงอายุมากถึง 70% อยู่ตัวคนเดียว ไม่ได้อยู่กับครอบครัว ไม่ได้อยู่กับญาติพี่น้อง กรณีผู้สูงอายุที่เข้ามาทำงานกับจ้างวานข้าที่มีอายุมากที่สุดคือ 83 ปี ซึ่งเอ๋ ประสิทธิพล คอนเฟิร์มว่ายังแข็งแรง และยังสามารถทำงานไหวอยู่

นิยามคนไร้บ้าน-คนจนเมือง

เอ๋ สิทธิพล ให้นิยามสั้นๆ ของ "คนไร้บ้าน" ว่าคือกลุ่มคนที่ใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะเต็มรูปแบบ หลับนอน กิน ไม่มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง มีปัญหาในเรื่องแง่มุมเศรษฐกิจที่ไม่สามารถทำให้เขาปรับเปลี่ยนตัวเองผ่านไปสู่คนที่มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงได้ ส่วนถ้าเป็น "คนจนเมือง" ก็จะเป็นคนที่มีปัญหาทางเศรษฐกิจ เรื่องรายได้ที่ไม่พอจะนำไปสู่การกินการอยู่ที่มีคุณภาพ อาจจะต้องอดมื้อกินมื้อ ต้องเจียดเงินที่พอมีมาจ่ายค่าห้อง เพื่อที่จะรักษาห้องให้ตัวเองมีที่อยู่อาศัยต่อไป

ซึ่งจริงๆ แล้วสภาพของคนจนเมืองกับคนไร้บ้านแทบไม่ได้แตกต่างกันมากนัก ในแง่เศรษฐกิจ รายได้และคุณภาพชีวิต แต่ที่ต่างกันก็คือแค่กลุ่มหนึ่งยังมีเงินพอที่จะรักษาห้องเช่าที่เป็นที่อยู่อาศัยไว้ได้

istock-1985539349

เกณฑ์การคัดคน-หางาน ของ "จ้างวานข้า"

เอ๋ ประสิทธิพล เล่าว่าจริงๆ เราไม่มีหลักเกณฑ์อะไรมากครับ เพียงแค่สิ่งที่เราดูเป็นหลักคือเรื่องของปัญหาเศรษฐกิจ ไม่มีรายได้ ซึ่งการไม่มีรายได้มันส่งผลให้คุณภาพชีวิตเขาแย่ เราก็จะรับเข้ามาแล้วช่วยดูเรื่องของวิถีเศรษฐกิจเป็นหลัก เช่น ถ้าเราดูแล้วว่าเขามีรายจ่ายประมาณเท่าไร มีปัญหาเกี่ยวกับค่าครองชีพประมาณเท่าไร เราก็จะช่วยดูในเรื่องการจ้างงานให้ว่าควรจะให้งานเขากี่วันตามความเหมาะสมกับค่าใช้จ่ายที่เป็นจริงของเขา อีกส่วนที่เป็นกลุ่มคนไร้บ้าน กลุ่มนี้พอเข้ามาในระบบเสร็จเราจะมีเรื่องของโปรแกรมการเปลี่ยนผ่าน เมื่อคนไร้บ้านทำงานได้สักพัก ประมาณ 1-2 เดือน พอหนึ่งเขารู้สึกว่าเขาทำงานที่นี่ได้ และสองเมื่อเขาคิดว่าเขาไม่อยากอยู่แบบคนไร้บ้านแล้ว อยากกลับไปอยู่บ้านหรือต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นหลักเป็นแหล่ง เขาก็จะเข้ามาปรึกษากับเรา

"เราก็จะช่วยดูในเรื่องของเพิ่มงานเขามากขึ้น ซึ่งปกติเราจะให้งานเขาแค่ 2 วันต่ออาทิตย์ แต่ถ้าเขาเข้าโปรแกรมเปลี่ยนผ่านเราก็จะให้ 5 วันติด เพื่อให้เขามีรายได้เพิ่มมากขึ้น นำไปสู่สเต็ปต่อไปถ้าหากเขาอยากจะเช่าห้องอยู่อาศัยด้วยตัวเอง พอเขามาคุยแล้วเราก็จะช่วยในการจ่ายค่าเช่าห้อง-ค่ามัดจำให้ในเดือนแรก แล้วก็มีพวกของใช้ เฟอร์นิเจอร์ ที่นอน เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ที่มันจำเป็นต่อการใช้ชีวิตในห้อง รวมถึงข้าวสารอาหารแห้ง เพื่อให้เขาได้ประหยัดต้นทุนในการใช้จ่ายช่วงแรก คิดง่ายๆ ก็คือในเดือนแรกเขาแทบไม่ต้องควักค่าใช้จ่ายอะไรเลย เราอำนวยความสะดวกให้เพื่อให้เขาสามารถจัดเก็บเงินตรงนี้ได้ ส่วนคนจนเมือง "เราจะให้งานเป็นสำคัญ"

500 บาท คือค่าจ้างต่อวันของการจ้างงาน

"ต่อวัน 500 บาทครับ (ถือว่าเพียงพอไหม?) จริงๆ ถามว่าพอไหม เขาก็ต้องใช้ประหยัดนิดหน่อย แต่ว่าเราให้บนมาตรฐานที่เยอะกว่าค่าแรงขั้นต่ำ เพราะเราคิดว่าสิ่งหนึ่งที่เขาควรได้หลังจากที่ได้เงินส่วนนี้แน่นอนว่ามันจะต้องนำไปสู่ในเรื่องของการเช่าที่อยู่อาศัยหรือการกินอยู่ที่ดีมากขึ้น เพราะส่วนมากแต่ก่อนที่เขาไม่มีงานไม่มีเงิน เขาก็ไปรับข้าว-ของแจก พอได้เงินที่มาจากการทำงาน พวกเขาก็ได้กินดีขึ้น เลือกกินได้เยอะขึ้น ส่วนถ้าเป็นคนที่ประหยัดหน่อยก็สามารถที่จะมีเงินเก็บได้ด้วย"

994347
จ้างวานข้า // ขอบคุณภาพจาก จ้างวานข้า โดยมูลนิธิกระจกเงา

"จริงๆ แล้วมูลนิธิกระจกเงาเราจะมีการรับเงินบริจาคใช่ไหมครับ ตัวนี้แหละจะเป็นตัวงานที่แยกส่วนงานได้หลายตัวงาน ที่สามารถสร้างพื้นที่ในการทำงานได้เยอะมากพอสมควร เช่น แค่มีคนเอาของมาบริจาคที่มูลนิธิ ก็จะมีการคัดแยกของประเภทต่างๆ เพราะแน่นอนว่าคนบริจาคเขาไม่ได้บริจาคของแค่เสื้อผ้าอย่างเดียว มีเครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์ มีนู่นนี่นั่น คัดแยกหมดแล้วทุกอย่าง สุดท้ายมันก็ยังมีของที่ไม่สามารถใช้งานได้ เอาไปใช้ประโยชน์อื่นๆ ได้ มันก็จะเป็นขยะ เราก็จะมีกระบวนการตรงนี้ไปคัดแยก เพื่อทำในเรื่องของการรีไซเคิลด้วย"

จึงเป็นที่มาของโปรเจ็กต์ “ชรารีไซเคิล” จ้างงาน "ผู้สูงอายุ" โดยเฉพาะ

"ใช่ครับ ชรารีไซเคิลก็จะตอบโจทย์สำหรับกลุ่มที่เป็นผู้สูงอายุ ที่งานไหนๆ เขาก็ทำไม่ได้แล้ว แน่นอนว่างานที่นั่งเฉยๆ แล้วก็คัดแยกมันน่าจะเป็นงานที่เขาทำได้ดีที่สุดแล้ว ก็เลยเกิดโปรเจ็กต์นี้เกิดขึ้น ซึ่งโปรเจ็กต์นี้เราเริ่มมาได้ประมาณ 2 ปีแล้วครับ ผู้สูงอายุที่มาทำงานในโปรเจ็กต์นี้ก็มีประมาณ 20-30 คน สถานที่ทำงานก็เป็นที่มูลนิธิกระจกเงาของเราเลย ส่วนค่าจ้างค่าตอบแทนก็เหมือนกันครับ 500 บาทต่อวัน"

355322268_639501011557890_796
"ชรารีไซเคิล" หนึ่งในโปรเจ็กต์ของโครงการจ้างวานข้า // ขอบคุณภาพจาก จ้างวานข้า โดยมูลนิธิกระจกเงา

"อย่างมีลุงคนหนึ่งในกลุ่มคนจนเมืองอายุ 83 ปี ทำงานกับจ้างวานข้ามา 3 ปี เขาสามารถซื้อบ้านที่เขาเช่าอยู่อาศัยมาตลอดได้ คือบ้านมันก็ราคาไม่ได้สูงหรอก ก็ประมาณ 2-3 แสน เขาไม่ได้ซื้อที่ดินด้วยนะเขาซื้อแต่ตัวบ้านอย่างเดียว คือแกอยู่ในบ้านเช่านี้มานานจนเกษียณ หลังจากนั้นรายได้ก็ไม่มี เป็นแรงงานที่รับเงินประกันสังคมไม่เท่าไหร่เอง มันก็เป็นความภาคภูมิใจของเขา ที่เราก็คิดว่าเรามีส่วนในการทำให้เขาทำสิ่งนี้เกิดขึ้นได้ครับ”

"แล้วก็จะมีโปรแกรมอีกอันหนึ่งคือเรื่องของการดูแลสุขภาพ อันนี้เราจะทำข้อมูลให้ทุกคนในจ้างวานข้า เพราะอย่างที่บอกไปส่วนมากค่อนข้างเป็นผู้สูงอายุ เราคิดว่าในมุมผู้สูงอายุจะมีเรื่องของโลกภัยไข้เจ็บต่างๆ ก็เลยทำเรื่องของการตรวจสุขภาพทั้งหมดให้กับจ้างวานข้าทั้งหมด แล้วก็ทำในเรื่องของการดูแลสนับสนุนเขา อย่างเช่นถ้าเราพบว่าคนไหนที่มีปัญหาเรื่องความดันสูง เบาหวาน เราก็จะพาไปหาหมอ"

"ตอนนี้เรามีจ้างวานข้าอยู่ทั้งหมด 200 คนแล้ว ซึ่งมันแน่นระบบแล้ว เราเลยยังไม่มีการรับคนมาเพิ่ม แต่ว่าเราก็พยายามที่จะหาช่องทางที่จะทำให้เกิดการจ้างงานคนกลุ่มนี้ได้เพิ่มขึ้น แต่ว่ายังหาไม่ได้ครับ (หัวเราะ)"

จากสถิติของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เปิดเผยจำนวนผู้สถิติจำนวนผู้สูงอายุสัญชาติไทย พ.ศ. 2567 ข้อมูล ณ วันที่ 30 มิ.ย. 2567 พบว่ามีจำนวนผู้สูงอายุทั้งหมด 13,450,391 คน จากจำนวนประชากรไทยทั้งหมด 64,989,504 คน หรือร้อยละ 20.70 ของจำนวนผู้สูงอายุทั้งหมด ข้อมูลส่วนนี้ เอ๋ สิทธิพล กล่าวว่าจะส่งผลต่อยอดคนไร้บ้านและคนจนเมือง โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ ที่จะมีเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย

"เป็นกลุ่มใหญ่อยู่แล้วนะครับ ทั้งคนไร้บ้านและกลุ่มผู้สูงอายุคือกลุ่มใหญ่ที่สุด ประชากรกลุ่มอายุนี้เป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดแล้วของกลุ่มคนไร้บ้าน 60-70% เหมือนกัน ผมคิดว่าคนจนเมืองกลุ่มที่มีปัญหาทางเศรษฐกิจมากๆ ก็จะเป็นกลุ่มที่เป็นผู้สูงอายุนี่แหละ เพราะว่าไม่มีศักยภาพในการหารายได้อีกแล้ว ส่วนวิธีเตรียมรับมือกับสถานการณ์คนไร้บ้าน-คนจนเมืองที่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุเป็นส่วนใหญ่ที่อาจจะมีมากขึ้นในอนาคต เอ๋ สิทธิพล กล่าวว่า เราอยากจะทำในเรื่องของการออกแบบงาน การรองรับผู้สูงอายุ แต่ว่ามันก็ไม่ง่าย มันต้องการทรัพยากรอีกพอสมควร ต้องการแรงสนับสนุนด้วย เราคิดว่าถ้ามันมีทรัพยากร ถ้ามันมีการสนับสนุนอย่างเช่น จากภาครัฐ กรุงเทพมหานคร อย่างนี้ ผมคิดว่าเราพอมีความสามารถในการที่จะทำเรื่องนี้ให้เกิดขึ้นได้"

974252
สมาชิกจ้างวานข้าทำงาน // ขอบคุณภาพจาก จ้างวานข้า โดยมูลนิธิกระจกเงา

 ยังไร้ภาพที่ชัดเจน การช่วยเหลือกลุ่มผู้สูงอายุที่เป็นคนจนเมืองจาก กทม. 

"ถ้ากลุ่มผู้สูงอายุ ผมไม่ค่อยเห็นภาพตรงนี้นะ ผมไม่แน่ใจว่ามีการทำงานกับกลุ่มผู้สูงอายุมากน้อยขนาดไหน เพราะว่ามันยังไม่เห็นภาพชัดว่ามีอีเวนต์มีแคมเปญอะไร ที่ลงไปทำงานกับคนกลุ่มนี้ ผมายังไม่เห็นภาพชัดเจนสักเท่าไหร่ แต่ถ้าถามว่าอย่างเช่น เขาทำงานเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาคนไร้บ้าน ก็อย่างที่บอกไปคนไร้บ้านส่วนมากยังเป็นผู้สูงอายุ เพราะฉะนั้นมันก็อาจจะเป็นการทำงานหนึ่งที่เป็นการแก้ไขปัญหาผู้สูงอายุไปด้วยในตัวแต่ว่าเป็นในกลุ่มของคนไร้บ้าน แต่ในกลุ่มผู้สูงอายุยังไม่เห็นภาพนั้น"

เอ๋ สิทธิพล กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ยังโชคดีที่สมาชิกจ้างวานข้าทั้ง 200 คนนี้ มีคนที่เข้าถึงสิทธิและสวัสดิการของรัฐอย่างเบี้ยผู้สูงอายุและผู้พิการ ที่ช่วยให้การใช้ชีวิตในแต่ละเดือนไม่ขัดสนมากไปกว่านี้

โจทย์ยากในอนาคต สำหรับการช่วยกลุ่มผู้สูงอายุในจ้างวานข้าให้มีงานทำ

"ถ้าโจทย์ยากที่สุดก็คือเรื่องของการหาพื้นที่ในการทำงานให้กับคนกลุ่มนี้ครับ เพราะถ้ามองในต่างประเทศ เขาก็จะมีงานที่สงวนไว้สำหรับคนสูงอายุเลย อย่างเช่นงานตามฟู้ดคอร์ท งานบริการที่ไม่ต้องใช้แรงมาก เช่น เก็บถ้วยเก็บจานอะไรอย่างนี้ ไม่ใช่งานที่ใช้กำลังอะไรสูงนัก แต่ว่าในไทยเรายังไม่มีอะไรแบบนี้เลย ผมว่าเรื่องของการสำรองงานและการจัดพื้นที่งานให้กับผู้สูงอายุที่เหมาะกับวัยของเขา เหมาะกับศักยภาพของเขา เหมาะกับสภาพร่างกายในทางกายภาพของเขา มันยังไม่ถูกเซ็ตให้เป็นรูปเป็นร่าง แล้วก็หาได้ยากด้วยครับ"

"ผมเองมองว่าผู้สูงอายุเขายังมีศักยภาพในเรื่องการทำงานได้อยู่ อย่างเช่น ถ้าเป็นกลุ่มที่ใช้เรื่องของสกิลมากหน่อย ผมคิดว่ากลุ่มนี้น่าจะเป็นกลุ่มที่ยังทำงานได้อยู่ครับ แต่ว่ากลุ่มที่ใช้แรงงานมาหนักๆ บางคนเขาก็ยังฟิตอยู่ แต่ให้ไปใช้แรงงานแบบเดิมคงไม่ได้แล้ว ดังนั้นก็อาจจะต้องมีงานที่ออกแบบไว้รองรับกลุ่มนี้ เหมาะสมกับสภาพร่างกาย ณ ปัจจุบันของเขา"

ความช่วยเหลือที่อยากได้จากภาครัฐ

"ถ้าอยากได้ จริงๆ แน่นอนว่าเรื่องแรกก่อนเลย คือเรื่องของการขยับเงินที่ให้กับผู้สูงอายุ ควรที่จะเพิ่มขึ้น อย่างน้อยในเรทที่พอรับกันได้ เช่นที่ 3,000 บาท อะไรอย่างนี้นะครับ แน่นอนว่าผู้สูงอายุก็พอจะเลี้ยงดูปูเสื่อตัวเองได้อยู่บ้าง ในกรณีที่ไม่มีใครดูแล ไม่มีลูกหลานดูแลหรือว่าลูกหลานมีแต่ลูกหลานก็ไม่มีศักยภาพที่จะพอดูแลพ่อแม่ได้ หรือในลักษณะเรื่องของการจัดสรรงาน พื้นที่งาน ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องสำคัญ จริงๆ แล้วมีผู้สูงอายุหลายคนเขารู้สึกยังอยากมีรายได้ เพราะการมีรายได้มันคือความมั่นคงของชีวิตเลยใช่ไหมละครับ เขาก็ยังอยากได้รายได้ในการเลี้ยงดูตัวเอง"

ก่อนที่ เอ๋ สิทธิพล จะกล่าวทิ้งท้ายของการสัมภาษณ์เอาไว้ว่า สมมตินะครับ รัฐบาลปรับเงินขึ้น 3,000 บาท แต่ผู้สูงอายุหลายๆ คนเขาก็รู้สึกว่ามันไม่พอกินพอใช้หรอกสำหรับเขา 3,000 เขาก็ยังรู้สึกว่าฉันขอมีรายได้ในทางอื่นๆ ด้วยได้ไหม อยากออกมาทำงานก็ได้ แต่ว่ามันก็ไม่มีสิ่งแบบนี้พื้นที่แบบนี้ตอบโจทย์ให้กับเขาครับ

656714
ผู้สูงอายุในโครงการจ้างวานข้า // ขอบคุณภาพจาก จ้างวานข้า โดยมูลนิธิกระจกเงา

 

 

 

 

 

 

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม