ชู มินิฮาร์ท เป็นเหตุ เรืองไกร เจ้าเดิม ร้อง ป.ป.ช. สอบ นายกฯอิ๊งค์

10 ก.ย. 67

 

เรืองไกร เจ้าเดิม ร้อง ป.ป.ช. สอบ นายกฯอิ๊งค์ ชวน ครม. ชูนิ้วทำมือ มินิฮาร์ท ขณะใส่ชุดปกติขาว ฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมหรือไม่ 

วันที่ 10 ก.ย. 67 นาย เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยว่า วันนี้ได้ส่งหนังสือถึง ป.ป.ช. ทางไปรษณีย์ EMS เพื่อขอให้ ป.ป.ช. รีบทำการตรวจสอบ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ว่ามีพฤติการณ์ฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมฯ ข้อ 17 ข้อ 21 ประกอบข้อ 27 วรรคสอง หรือไม่ 

และต้องส่งศาลฎีกาพิพากษาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 235 วรรคหนึ่ง (1) หรือไม่ และจะถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดไปตาม มาตรา 235 วรรคสี่ หรือไม่ 

นายเรืองไกร กล่าวว่า เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 67 ป.ป.ช. ได้มีหนังสือที่ ปช 0004/1914 มาขอทราบรายละเอียดเพิ่มเติม กรณีกล่าวหา สส. พรรคเพื่อไทย ดูฟุตบอลจากเว็บไซต์เถื่อน ซึ่งได้ตอบไปในหนังสือวันนี้ว่า ขอให้สอบถามรายละเอียดจาก น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย 

นายเรืองไกร กล่าวว่า ต่อมาเมื่อวันที่ 7 ก.ย. 67 ปรากฏข่าวเกี่ยวกับกรณี น.ส.แพทองธาร ใส่ชุกปกติขาวชูนิ้วทำมินิฮาร์ททั้งสองมือ ขณะถ่ายรูปหมู่คณะรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล รวมทั้งชักชวนรัฐมนตรีในคณะทำตามด้วย ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาอย่างกว้างขวาง 

กรณีดังกล่าว ทำให้นึกถึงกรณีที่ ป.ป.ช. ตรวจสอบ นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ อดีต สส.บัญชีรายชื่อ และอดีตหัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ เรื่องการไปดูภาพยนตร์ “4 KINGS อาชีวะ ยุค 90” และเรื่องการไปชูนิ้วมือสามนิ้ว ซึ่ง ป.ป.ช. มีมติว่า เข้าข่ายฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรม ข้อ 17 

นายเรืองไกร กล่าวว่า จากกรณี สส.ดูฟุตบอลจากเว็บไซต์เถื่อน และ สส.ไปดูภาพยนตร์ และไปชูนิ้วมือสามนิ้ว เมื่อเปรียบเทียบกับกรณีของ น.ส.แพทองธาร ชูนิ้วทำมินิฮาร์ททั้งสองมือ จึงควรมีการตรวจสอบให้เป็นไปตามมาตรฐานแบบเดียวกัน 

สำหรับกรณีน.ส.แพทองธาร มีประเด็นที่ควรตรวจสอบว่า มีการกระทำที่เข้าข่ายฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมฯ ข้อ 17 ข้อ 21 หรือไม่ ซึ่งกำหนดไว้ดังนี้  

“ข้อ 17 ไม่กระทำการใดที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่ง”

“ข้อ 21 ปฏิบัติหน้าที่ราชการอย่างเต็มกําลังความสามารถ และยึดมั่นในความถูกต้องชอบธรรม โปร่งใสและตรวจสอบได้ และปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบแบบแผนของทางราชการ โดยคำนึงถึง ผลประโยชน์ของชาติ และความผาสุกของประชาชนโดยรวม” 

นายเรืองไกร กล่าวว่า การฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรม ข้อ 17 ข้อ 21 เคยมีคำพิพากษาศาลฎีกาคดีหมายเลขแดงที่ คมจ. 1/2567 ไว้ในหน้า 42 (บางส่วน) ดังนี้

“... นอกจากนี้การกระทำของผู้คัดค้านทั้งสามดังกล่าวยังเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมฐานกระทำการที่ก่อให้เกิดความเสื่อเสียต่อเกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่ง ... และไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบแบบแผนของทางราชการ ... ตามมาตรฐานทางจริยธรรม ... ข้อ 17 และข้อ 21 อีกด้วย ...” 

นายเรืองไกร กล่าวว่า กรณีของ น.ส.แพทองธาร ที่เป็นตัวการทำท่ามินิฮาร์ท และชวน ครม. ทำตามในระหว่างการถ่ายภาพร่วมกัน แต่หลังจากมีทีมงานทัก นายกรัฐมนตรียิ้มรับว่า “ลืมไปว่าใส่ชุดขาว” ซึ่ง ครม. ก็มีการยกมือทำท่ามินิฮาร์ท ก่อนเอามือลงในเวลารวดเร็ว โดยมีรัฐมนตรีหลายคนทำตาม เช่น นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน นายภูมิธรรม เวชยชัย เป็นต้น และมีรัฐมนตรีอีกหลายคนไม่ได้ทำตาม เช่น นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นต้น รัฐมนตรีแต่ละคนจึงเป็นบุคคลที่อยู่ในเหตุการณ์และสถานที่ดังกล่าว อีกทั้งเมื่อค้นหาคลิปจาก tiktok จะพบพยานหลักฐานเป็นคลิปวิดีโอที่ชัดเจนทั้งภาพ และเสียงจำนวนมาก ซึ่งสาธารณชนและประชาชนทั่วไปเข้าถึงได้โดยง่าย ต่างแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้าง 

นายเรืองไกร กล่าวสรุปว่า ดังนั้นการที่ น.ส.แพทองธาร ซึ่งร่วมถ่ายรูปที่ทำเนียบรัฐบาล และเป็นผู้เชิญชวนให้คณะรัฐมนตรีร่วมทำท่ามินิฮาร์ท ขณะใส่เครื่องแบบราชการชุดปกติขาวนั้น จึงมีเหตุอันควรขอให้ ป.ป.ช. ควรตรวจสอบก่อนว่า การกระทำดังกล่าวของ น.ส.แพทองธาร เข้าข่ายเป็นการกระทำที่ส่งผลภาพลักษณ์และกระทบกระเทือนต่อความเชื่อถือความศรัทธาของประชาชนในการปฏิบัติหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ในการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี และเป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ ตามมาตรฐานทางจริยธรรมฯ ข้อ 17 ข้อ 21 ประกอบข้อ 27 วรรคสอง หรือไม่

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม