ชาวบ้านสวนกลับข้อมูลกรมประมงที่บอกว่า "ปลาหมอคางดำลดลงแล้วร้อยละ70" ที่แท้ที่ลดและหายไป คือปลาประจำถิ่นในแหล่งน้ำเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์
วันที่ 9 ก.ย.67 ชาวบ้านในตำบลท่าพญา อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้นำทีมข่าวเข้าพิสูจน์ในพื้นที่ หลังจากมีกระแสข่าวจากกรมประมงและข้อมูลของกลุ่มจังหวัดที่มีการระบาดของปลาหมอคางดำนครศรีธรรมราชเป็นหนึ่งในนั้น ระบุว่าจากการลงแขกลงคลองหลายครั้งต่อเนื่อง และรับซื้อปลาหมอคางดำจากชาวบ้าน ปลาหมอคางดำลดลงได้ถึงร้อยละ 70 ทำให้ชาวบ้านต้องการยืนยันว่าข้อเท็จจริงนั้นมีการระบาดอย่างรุนแรงในทุกแหล่งน้ำ โดยเฉพาะการกระจายตัวเข้าไปในลำคลองไส้ไก่ ลำน้ำบางสาขาของชลประทานน้ำเค็ม ซึ่งเป็นชลประทานที่ไม่สามารถใช้การได้และทางน้ำสาธารณะ โดยชาวบ้านได้ทดลองหว่านแหทุกแหล่ง พบว่าการหว่านเพียงครั้งเดียวในทุกแหล่ง คือปลาหมอคางดำเท่านั้น
นอกจากนั้นชาวบ้าน ยังระบุว่า คูน้ำริมถนนสายเลียบทะเลปากพนัง-หัวไทร-ระโนดตลอดแนว ตั้งแต่อำเภอปากพนัง อำเภอหัวไทร ไปจนถึงอำเภอระโนด เดิมคือแหล่งอาหารของชาวบ้าน เช่นปลากระบอก ปลาขี้ตัง ปลากด ปลาหมอเทศ ปัจจุบันนี้ไม่เหลือปลาชนิดนี้อยู่แล้วหรือเหลือน้อยมากไม่ถึงร้อยละ 10 ในการหว่านแหทุกครั้งสามารถพิสูจน์ได้
ชาวบ้านในพื้นที่รอยต่อระหว่างโซนน้ำเค็มและโซนน้ำจืดริมคลองท่าพญา ระบุว่าแต่เดิมเมื่อ 1-2 ปีก่อน นั้นความหลากหลายของสัตว์น้ำ ซึ่งเป็นอาหารของชาวบ้านไม่ต้องไปตลาดหาซื้อ หยิบแหออกจากบ้านเพียงไม่นานปลากระบอก ปูดำ กุ้ง จับได้แบบง่ายและนำมาเป็นอาหารในครอบครัว แต่ 1 ปีที่ผ่านมาทุกอย่างหายไปหมด เหลือแค่หมอคางดำ และปัจจุบันยังเต็มพื้นที่ไม่เคยลดลงไปเลย ไม่เชื่อว่าจะลดลงไปได้
เช่นเดียวกับนายสุชาติ ขนานขาว ชาวบ้านที่นำทีมข่าวไปหว่านแหหลายจุด พิสูจน์ให้เห็นถึงความหนาแน่น ยืนยันไม่เชื่อว่าลดได้ถึงร้อยละ 70 เพราะการจับเกิดขึ้นในแหล่งน้ำเพียงไม่กี่แหล่ง รอบๆฟาร์มขนาดใหญ่เท่านั้น แต่ปลาหมอคางดำได้กระจายลงแหล่งน้ำทุกที่แล้วทุกคลองไส้ไก่ ไม่สามารถเข้าไปจับได้
ดังนั้นการกระจายพันธุ์อย่างรวดเร็วยังคงดำเนินต่อไป และเมื่อถึงฤดูน้ำหลากจะนำพาปลาหมอคางดำพวกนี้ไปได้ไกลขึ้น และเมื่อการรับซื้อกลุ่มปลาอื่นๆในช่วงตุลาคม พฤศจิกายน ธันวาคมไปจนถึงมกราคมหยุดลง เมื่อนั้นการขยายตัวของปริมาณปลาหมอคางดำจะมหาศาลมากยิ่งขึ้นไปอีก ต้องหาวิธีการอื่นที่รวดเร็วในการจัดการอย่างเร่งด่วน.