กางงบอาหาร สส. ในรัฐสภา กับ งบอาหารกลางวันนักเรียน ผ่านมาหลายสิบปี ความเหลื่อมล้ำที่สะท้อนผ่านถาดหลุมยังคงไม่จางหาย
กลายเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงกันอีกครั้ง สำหรับงบประมาณรายปีค่าอาหาร สส. ซึ่งล่าสุดการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 ได้ตั้งค่าอาหาร สส. ในวันประชุมสภา วันละ 3 มื้อ เช้า กลางวัน เย็น อยู่ที่ 72 ล้านบาท แต่ กมธ.หั่นงบทิ้งไป 15 ล้าน จนเหลือ 57 ล้านบาท
นายกรุณพล เทียนสุวรรณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ได้มีการลุกขึ้นอภิปรายถึงเรื่องนี้ โดยระบุว่า ถ้าเป็นวันประชุมสภาปกติ ค่าอาหาร สส.ต่อวันอยู่ที่ 5 แสนบาท ถ้าวันใดประชุมสภาเลิกดึกจะอยู่ที่ 7 แสนบาทต่อวัน ถึงเวลาแล้วที่รัฐสภาควรวางแผนเรื่องอาหาร สส. ไม่ให้มีอาหารเหลือมากมาย ต้องหาวิธีจัดการให้อยู่ในงบประมาณอย่างเพียงพอและเหมาะสม
ด้านนายธเนศ เครือรัตน์ กมธ.เสียงข้างมาก ชี้แจงว่า งบอาหาร สส. ตกปีละ 72 ล้านบาท แต่ใช้จริงอยู่ที่ปีละ 30 ล้านบาท มีเหลือส่งคืนทุกปี ปีนี้ กมธ.ตั้งใจปรับลดค่าอาหาร สส.ให้อยู่ที่ 40 ล้านบาทต่อปี แต่ทำไม่ได้ เนื่องจากต้องสำรองค่าอาหาร สส.ไว้ในกรณีที่มีการประชุมสภาเพิ่มเติมในวันศุกร์ รวมถึงการประชุมร่วมรัฐสภา ที่ฝั่งสภาผู้แทนราษฎรจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าอาหาร ซึ่งปีนี้จะประชุมร่วมรัฐสภาหลายครั้ง ทำให้ปรับลดได้แค่ 15 ล้านบาทเท่านั้น ขณะที่บางส่วนได้เสนอแนะให้แก้ไขปัญหานี้ ด้วยการเปลี่ยนเป็นวิธีใช้บัตรเติมเงิน โดยมีวงเงินให้ สส.ใช้วันละ 350 บาท นำไปซื้ออาหาร ถ้าใช้ไม่หมดก็ต้องจะคืนสภาในวันนั้น จะแก้ปัญหาลดค่าอาหาร สส.ได้
อย่างไรก็ตาม เรื่องอาหารของ สส.ในสภา เคยตกเป็นประเด็นให้ผู้คนได้ถกเถียงกันมาแล้ว ย้อนไปเมื่อกันยายน 2566 น.ส.สิริลภัส กองตระการ หรือหมิว สส.พรรคก้าวไกล ถูกเพื่อน สส.แอบถ่ายและแซวว่า "พบเห็นอดีตดาราสาวลักลอบนำอาหารสภากลับบ้าน" โดยเจ้าตัวได้อธิบายว่า ไม่ใช่การลักลอบนำอาหารกลับบ้าน อาหารมีเตรียมไว้ให้สำหรับ สส.ทุกคน แต่มี สส.ที่เหลืออยู่จนจบการประชุมไม่กี่คน อาหารจึงเหลือมากมาย และเป็นอาหารปรุงสุก หากไม่นำกลับบ้านหรือมารับประทานต่อ ก็จะเหลือเป็นขยะหรือ Food Waste เรื่องนี้แม้จะดราม่าแต่ก็ทำให้ประชาชนเห็นว่าอาหารของรัฐสภาเหลือเยอะ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะลดปริมาณกับข้าว สส. หรือตัดลดงบประมาณตรงส่วนนี้ไม่ให้สูญเสียไปโดยเปล่าประโยชน์
ทั้งนี้ เมื่อมีการคำนวณจากงบประมาณจะพบว่า การประชุม สส.ในแต่ละครั้ง ประเทศจะต้องจ่ายค่าอาหารวันละ 5 แสนบาท รัฐสภามี สส. 500 คน จึงตกหัวละ 1,000 บาท แบ่งเป็นอาหารเช้า 200 บาท (ค่าอาหาร 150 บาท น้ำ 50 บาท) อาหารกลางวันและอาหารเย็นมื้อละ 400 บาท (ค่าอาหาร 350 บาท น้ำ 50 บาท) ซึ่งเมื่อเรานำงบประมาณค่าอาหารรายหัวของ สส.ไปเทียบกับค่าอาหารกลางวันของเด็กนักเรียน จะพบว่าต่างกันแบบอย่างเห็นได้ชัด
โครงการอาหารกลางวันมีมานาน 72 ปี แต่งบประมาณยังเดินตามไม่ทัน
สำหรับโครงการอาหารกลางวัน มีการริเริ่มครั้งแรกในปี พ.ศ. 2495 กระทรวงศึกษาธิการดําเนินโครงการอาหารกลางวัน ได้ทดลองจัดอาหารกลางวันแก่นักเรียนในสังกัดที่มีภาวะทุพโภชนาการ จนกระทั่งปี พ.ศ. 2542 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ให้นักเรียนระดับชั้นเด็กเล็ก ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ได้รับประทานอาหารกลางวันอิ่มทุกคน ทุกวัน โดยเริ่มจากหัวละ 10 บาท ปรับขึ้นมาเป็น 13 บาท/คน/วัน ในปี พ.ศ. 2551 จากนั้นปี พ.ศ. 2556 ปรับเพิ่มเป็น 20 บาท/คน/วัน ปี พ.ศ. 2564 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้มีการปรับเพิ่มค่าอาหารกลางวัน จากอัตรา 20 บาท เป็นอัตรา 21 บาท/คน/วัน
ปี พ.ศ. 2565 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติปรับเพิ่มค่าอาหารกลางวันให้แก่นักเรียนระดับชั้นอนุบาล 1 ถึงระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ของโรงเรียนประถมศึกษา 5 สังกัด ได้แก่ 1) โรงเรียนสังกัด สพฐ. 2) โรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 3) โรงเรียนสังกัดตำรวจตระเวนชายแดน 4) สถานศึกษาสังกัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย 5) สถานศึกษาสังกัดกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ครอบคลุมนักเรียนจำนวนทั้งสิ้น 5,792,119 คน โดยแบ่งออกเป็น 4 ระดับ ดังนี้
• โรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียน 1-40 คน ได้รับเงินค่าอาหารกลางวัน 36 บาท/คน/วัน
• โรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียน 41-100 คน ได้รับเงินค่าอาหารกลางวัน 27 บาท/คน/วัน
• โรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียน 101-120 คน ได้รับเงินค่าอาหารกลางวัน 24 บาท/คน/วัน
• โรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียนตั้งแต่ 121 คนขึ้นไป ได้รับเงินค่าอาหารกลางวัน 22 บาท/คน/วัน
และล่าสุด พ.ศ. 2567 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2567 ให้มีการจัดสรรค์าอาหารกลางวันของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 – 3 ในโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา ในอัตราเดียวกันกับนักเรียนระดับชั้นเด็กเล็กถึงระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 ให้กับโรงเรียนสังกัดสํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กองบัญชาการตํารวจตระเวนชายแดนและกรุงเทพมหานคร
เมื่อดูตัวเลขแล้วก็เป็นเรื่องที่น่าตกใจไม่น้อย เพราะอนาคตของชาติกลับได้เงินอุดหนุนในเรื่องของอาหารกลางวันอย่างกระเบียดกระเสียร ซึ่งหากกางตัวเลขแบบเปรียบเทียบกัน โดย สส.ได้ค่าอาหารวันละ 1,000 บาท ส่วนนักเรียนได้เฉลี่ย 22-36 บาท/คน/วัน ก็จะเป็นดังนี้
• ค่าอาหาร สส. 1 วัน (3 มื้อ) จะได้อาหารนักเรียนจำนวน 28 มื้อ/คน/วัน สำหรับโรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียน 1-40 คน
• ค่าอาหาร สส. 1 วัน (3 มื้อ) จะได้อาหารนักเรียนจำนวน 37 มื้อ/คน/วัน สำหรับโรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียน 41-100 คน
• ค่าอาหาร สส. 1 วัน (3 มื้อ) จะได้อาหารนักเรียนจำนวน 42 มื้อ/คน/วัน สำหรับโรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียน 101-120 คน
• ค่าอาหาร สส. 1 วัน (3 มื้อ) จะได้อาหารนักเรียนจำนวน 45 มื้อ/คน/วัน สำหรับโรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียนตั้งแต่ 121 คนขึ้นไป
พ่อแม่ผู้ปกครองหลายคน รวมถึงบุคลากรทางการศึกษาเล็งเห็นถึงปัญหานี้ หลายโรงเรียนประสบปัญหาเงินอุดหนุนไม่เพียงพอต่อจำนวนนักเรียน สินค้าทั้งหลายทั้งของสด ของแห้ง ต่างขึ้นราคาแบบพุ่งพรวด ทำให้งบประมาณที่จะซื้อของดีๆ มาทำอาหารให้นักเรียนได้รับประทานนั้นต้องถูกจำกัดจำเขี่ย แม้ทางการจะออกแนวทางการจัดอาหารกลางวันตามมาตรฐานอาหารกลางวันเพื่อช่วยให้เด็กได้สารอาหารที่เพียงพอ หลากหลายในสัดส่วนและปริมาณที่เหมาะสมกับวัย เช่น ควรมีข้าวสวย หรือข้าวเหนียวนึ่ง เป็นหลักอย่างน้อย 4 วันต่อสัปดาห์ ควรมีเนื้อสัตว์ และผักเป็นส่วนประกอบอาหารเป็นประจําทุกวัน แต่ทางโรงเรียนหลายแห่งไม่สามารถทำได้เพราะติดขัดเรื่องงบประมาณ จึงต้องใช้วัตถุดิบหรือส่วนประกอบในการทำอาหารที่ง่ายที่สุด ถูกที่สุด เพื่อไม่ให้เกินงบ จนส่งผลต่อสุขภาวะของเด็กไทยในปัจจุบัน โดยข้อมูลกระทรวงสาธารณสุขในปี 2567 พบว่า เด็กไทยอายุต่ำกว่า 5 ปี ยังมีภาวะเตี้ย ผอม เริ่มอ้วนและอ้วน เฉลี่ยร้อยละ 11.9, 5.7 และ 8.7 ตามลำดับ นอกจากนั้น เด็กวัยเรียนอายุ 6-14 ปี ยังมีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วน เฉลี่ยร้อยละ 13.1 ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวยังไม่บรรลุค่าเป้าหมายระดับชาติที่ตั้งไว้
สำนักโภชนาการ เผยว่าจากการสำรวจปัญหา อุปสรรค การบริหารจัดการด้านอาหารและโภชนาการในโรงเรียน ตามกรอบการพัฒนาการพัฒนาคุณภาพอาหารกลางวันในโรงเรียน โดยจากผลการสำรวจยังพบปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงาน บุคลากร เช่น ครู แม่ครัว โรงเรียนไม่เพียงพอ ซึ่งค่าแรงแม่ครัวไม่สามารถลงรายการวัตถุดิบและเครื่องปรุงในแบบจัดซื้อวัสดุเครื่องบริโภคได้ ต้องจัดทําเอกสารจัดจ้างผู้ประกอบอาหารตามระเบียบกระทรวงการคลัง ซึ่งหลายโรงเรียนไม่มีงบเพียงพอตรงนี้ แม่ครัวที่ได้มาทำอาหารให้นักีเนียนรับประทานจึงอาจจะขาดความรู้ด้านโภชนาการ บางส่วนขาดการอบรมการจัดการคุณภาพอาหาร การตักอาหารตามภาวะโภชนาการ สุขาภิบาลอาหารและอาหารปลอดภัย ซึ่งเรื่องนี้ล้วนเกี่ยวข้องกับงบประมาณทั้งสิ้น
สำหรับค่าอาหารของ สส. ที่รัฐสภาจัดสรรนั้น หากเทียบกับเด็กๆ แล้วนับว่ากินหรูอยู่สบาย แต่สิ่งที่ สส. 500 คน ยังให้คำตอบกับประชาชนไม่ได้เสียทีก็คือ งบอาหารรายวันสูงขนาดนั้น แต่ทำงานได้คุ้มค่าน้ำ ค่าข้าวหรือไม่ และจะเป็นไปได้หรือไม่ที่ควรจะมีแนวทางใหม่ๆ ในเรื่องของการจัดสรรงบประมาณอาหารของ สส.ให้เหมาะสม และสอดคล้องไปกับความเป็นจริง ไม่ให้สังคมตั้งคำถามได้ว่าทำไมผู้ใหญ่ในสภาถึงได้รับประทานอาหารแสนเลิศหรู ปริมาณเยอะจนเหลือแทบทุกวัน แต่เด็กๆ กลับได้รับอาหารที่คุณภาพและปริมาณ ที่ยังไม่เพียงพอและเหมาะสมกับวัย ผ่านไปหลายปีเรื่องนี้ก็ยังวนให้มาถกเถียงกันอยู่แบบไม่รู้จบ
ที่มา ศธ. 360 องศา , สำนักโภชนาการ , คู่มือการดําเนินงานอาหารกลางวันปี 2567