สะพานระบายน้ำสุวรรณภูมิ สะพานน้ำยกระดับแห่งแรกในไทย ความหวังแก้น้ำท่วมกรุงเทพฯ

2 ก.ย. 67

สะพานระบายน้ำสุวรรณภูมิ จ.สมุทรปราการ สะพานน้ำยกระดับแห่งแรกในไทย ความหวังคนกรุงช่วยแก้น้ำท่วม

กลับมาเป็นที่พูดถึงกันอีกครั้งสำหรับ สะพานระบายน้ำสุวรรณภูมิ จ.สมุทรปราการ หลังเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่ภาคเหนือ และทำให้หลายคนวิตกกังวลว่าน้ำเหนือจะหลากลงมาสมทบกับน้ำฝนที่ตกลงในพื้นที่ลุ่มน้ำภาคกลาง จนทำให้เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่เหมือนปี 2554

711425

ความเป็นมาของ สะพานระบายน้ำสุวรรณภูมิ จ.สมุทรปราการ

พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่างเป็นพื้นที่ลุ่ม มีระดับพื้นดินต่ำ บางแห่งมีลักษณะพื้นที่เป็นแอ่งกระทะ ซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญ เนื่องจากเป็นพื้นที่ชานเมืองฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ รองรับการขยายตัวจากความหนาแน่นของประชากรในเขตเมืองหลวง การสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ตั้งอยู่บริเวณทางน้ำหลาก ทำให้สูญเสียพื้นที่รองรับน้ำกว่า 20,000 ไร่ การสร้างและการขยายถนน โครงการบริการสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ การสูบน้ำบาดาล ตลอดจนการปลูกสร้างที่พักอาศัย โรงเรือนต่างๆ รวมถึงการขยายตัวและการพัฒนาพื้นที่อย่างรวดเร็ว ไม่เป็นไปตามผังเมืองรวมอย่างเป็นระบบ ย่อมจะส่งผลต่อสาธารณะเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เกิดสภาวะน้ำท่วมขังในพื้นที่ส่วนนี้ต่อเนื่อง ลึกเข้าสู่พื้นที่ชั้นกลางและชั้นในของกรุงเทพมหานครและพื้นที่ปริมณฑล

นี่จึงเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องแก้ไขก็คือ การระบายน้ำและป้องกันน้ำท่วมบริเวณโดยรวมรอบสนามบินและพื้นที่ส่วนใต้สนามบินถึงฝั่งทะเลอ่าวไทย เพราะบริเวณที่ทำการก่อสร้างสนามบินเป็นบริเวณที่ลุ่มต่ำ และเป็นแหล่งรับน้ำปริมาณสูง พร้อมกับเป็นทางน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบน และปริมาณน้ำหลากจากบริเวณด้านตะวันออกไหลเข้ามารวมตัวเป็นเสมือนแก้มลิง

pic-1698284875533-thai-615

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำริเรื่องการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมโดยรอบท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เมื่อปี 2546 เริ่มก่อสร้างในปี 2548 เปิดใช้ทางการเมื่อปี 2553 เป็นคลองระบายน้ำสายหลักของพื้นที่บริเวณโดยรอบสนามบินสุวรรณภูมิ ช่วยในการเร่งระบายน้ำจากคลองสำโรงและคลองต่างๆ ในพื้นที่ดังกล่าวระบายออกสู่ทะเลโดยตรง โดยเมื่อครั้งเกิดภาวะน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 พื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ แทบไม่ได้รับผลกระทบเลย เนื่องจากมีคลองระบายน้ำสุวรรณภูมิ ช่วยในการระบายน้ำได้มากถึง 560 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือเทียบเท่ากว่าครึ่งหนึ่งของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เลยทีเดียว

ลักษณะโครงการ สะพานระบายน้ำสุวรรณภูมิ จ.สมุทรปราการ

โครงการตั้งอยู่ที่ตำบลบางปลา ตำบลบางโฉลง อำเภอบางพลี และตำบลบางปู อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยมีทั้ง คลองระบายน้ำ เป็นคลองดินรูปสี่เหลี่ยมคางหมู มีอัตราการไหล 100 ลบ.ม./วินาที ลดความเสียหายจากพื้นที่น้ำท่วมโดยรอบสนามบินสุวรรณภูมิและบริเวณพื้นที่ใกล้เคียง ถนนคันคลอง เชื่อมจากถนนสุขุมวิท ไปจนถึงถนนบางนา-ตราด จำนวน 2 ช่องการจราจร และเตรียมไว้รองรับการขยายถนนเป็น 4 ช่องจราจรในอนาคต ลดปัญหาการจราจรบริเวณพื้นที่โครงการและจังหวัดสมุทรปราการ

268616

อาคารสะพานน้ำ (Flume) ยกระดับและอาคารทิ้งน้ำ เป็นอาคารรับน้ำจากสถานีสูบน้ำ โดยยกระดับให้น้ำไหลไปตามสะพานน้ำ อัตราการไหล 100 ลบ.ม./วินาที จากเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ 4 เครื่อง ข้ามคลองชายทะเลและถนนสุขุมวิท ให้ลงสู่ทะเลโดยตรง เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กยกระดับ ท้องคลองกว้าง 25.00 ม. กำแพงสูงข้างละ 3.15 เมตร สูงจากถนนสุขุมวิทประมาณ 6 เมตร

917262

สะพานรถยนต์ สถานีสูบน้ำ อาคารระบายน้ำด้านข้างคลองระบายน้ำ อาคารรับน้ำคลองสำโรง สถานีไฟฟ้าย่อย ระบบควบคุมระยะไกลเปิดปิดประตูระบายน้ำด้าน และระบบโทรมาตรอุทกวิทยา ได้ข้อมูลน้ำแบบเรียลไทม์ สามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างทันท่วงที

นอกจากจะใช้ประโยชน์ในการระบายน้ำป้องกันน้ำท่วมแล้ว ยังใช้เป็นแหล่งน้ำจืดสำรองไว้ใช้ในฤดูแล้งได้มากถึง 2 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อการเกษตรกรรม รวมทั้งยังช่วยเสริมการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรและระบบนิเวศของจังหวัดสมุทรปราการอีกด้วย

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม