หมอทรวงอกเดือด! ประกาศสู้โควิด-19 ลั่นไม่ก้มหัวให้ผู้บริหารที่ขาดความเชี่ยวชาญ

13 มี.ค. 63
วันที่ 13 มีนาคม 2563 เฟซบุ๊ก สมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (แพทย์โรคทรวงอก) ได้เผยแพร่ประกาศ  “แด่นักรบเสื้อกาวน์ ที่จะต้องรับมือผู้ป่วยติดเชื้อ โควิด-19 อาการรุนแรง” ของรศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล ในฐานะนายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ระบุว่า ตามที่ได้มีคนไทยป่วยจากการติดเชื้อ COVD-19 เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา และมีผู้ป่วยบางรายที่น่าจะติดเชื้อจากการระบาดภายในประเทศเราเอง ซึ่งหมายถึงการเริ่มเข้าสู่สถานการณ์ของโรคระยะที่ 3 สมาคมอุรเวชช์ฯ ได้เล็งเห็นแนวโน้มนี้ และได้มีการเตรียมความพร้อมในเชิงวิชาการตั้งแต่สัปดาห์ก่อน ซึ่งตลอดสัปดาห์นี้ สมาคมฯ ได้พยายามผลักดันการเตรียมความพร้อมในเชิงการบริหารจัดการผ่านทางหน่วยงานต่างๆ ที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง ซึ่งแม้จะได้รับการตอบสนองที่ดีในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่ดีพอ ที่จะรับมือกับวิกฤติสุขภาพสำคัญของประเทศอีกครั้ง ในสถานการณ์ของโรคระยะที่ 3 นั้น โรงพยาบาลของรัฐและเอกชนทุกแห่ง จะต้องค้นหาผู้ป่วยติดเชื้อ COVID-19 ที่มีอาการรุนแรง หรือผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรังบางชนิดอยู่เดิม ซึ่งเมื่อเริ่มติดเชื้อ COVID-19 แล้ว มีโอกาสโรครุนแรงสูง เพื่อรับตัวไว้ในโรงพยาบาล สำหรับการรักษาให้หายขาด ลดการสูญเสียให้น้อยที่สุด และที่สำคัญคือช่วยตัดวงจรการระบาดต่อไป ซึ่งการที่จะถึงพร้อมในหน้าที่เหล่านี้ จำเป็นที่จะต้องจัดเตรียมองค์ความรู้ จัดหาการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่รวดเร็วและแพร่หลาย จัดเตรียมยาและอุปกรณ์การแพทย์ที่มีประสิทธิภาพ และจัดหาอุปกรณ์ป้องกันตนองสำหรับบุคลากรทางการแพทย์อย่างเพียงพอ ในฐานะของสมาคมวิชาชีพแพทย์ ที่ต้องมีส่วนทำหน้าที่ดูแลรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้โดยตรง เป็นความรับผิดชอบของสมาคมฯ ที่จะต้องจัดเตรียมองค์ความรู้ที่ดีที่สุดสำหรับผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งจะต้องนำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทและความพร้อมของแต่ละโรงพยาบาล พร้อมกันนี้จึงเป็นที่มาของการเผยแพร่ "แนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยติดเชื้อ COVID-19 ที่มีอาการรุนแรง" ในส่วนของการส่งผ่านข้อกังวลและข้อเสนอแนะเชิงปฏิบัติการต่อหน่วยงานสูงสุดที่รับผิดชอบ สมาคมฯ ได้ทำหน้าที่อย่างดีที่สุดแล้ว เป็นอีกครั้งหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า กลไกของรัฐที่จะตอบสนองต่อภาวะวิกฤติของประเทศมักจะตามหลังสถานการณ์จริงอย่างน้อยหนึ่งก้าวเสมอ แต่นั่นไม่ได้ทำให้จิตวิญญาณของพวกเราเหล่าวิชาชีพแพทย์และวิชาชีพอื่นที่เกี่ยวข้อง จะยอมจำนนให้กับศัตรูตัวจิ๋วที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่าโดยง่าย และพวกเราก็จะไม่ยอมก้มหัวให้กับผู้รับผิดชอบระดับสูง ที่ขาดความเชี่ยวชาญ และเข้าใจบริบทการทำงานของพวกเราอย่างถ่องแท้ ได้เวลาแล้วที่พวกเราต้องเตรียมทำศึกแม้จะไม่มีอาวุธที่มีประสิทธิภาพและแม่ทัพที่เด็ดขาดเข้มแข็ง สิ่งหนึ่งที่จะช่วยยึดเหนี่ยวอุดมการณ์ของพวกเราไว้ได้ในสถานการณ์เช่นนี้ คือคำสอนของสมเด็จพระบรมราชชนก ผู้ก่อกำนิดการแพทย์แผนใหม่ในประเทศสยาม "ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตนเปนที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษเปนกิจหนึ่ง"

advertisement

ข่าวยอดนิยม

ข่าวที่ได้รับความสนใจ