เปิดข้อควรระวังใช้ "โซดาไฟ" ราดทลายท่อตัน เตือนอันตรายมากหากกระเด็นโดนผิวหนัง ฤทธิ์ไม่ต่างน้ำกรด เข้าตามีสิทธิ์ตาบอด
จากข่าว ครอบครัวตำรวจใช้ โซดาไฟ ล้างห้องน้ำ ดับสลด 3 ศพ ทั้งนี้ รายละเอียดของการเสียชีวิต ต้องรอผลพิสูจน์ของแพทย์อีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม การนำ "โซดาไฟ" ไปล้างห้องน้ำ หรือ เทราดท่อทลายสิ่งสกปรกที่อุดตันแล้วเกิดเหตุบาดเจ็บ เสี่ยงอันตรายถึงชีวิต หรือกระทั่งเสียชีวิต เหตุลักษณะนี้ไม่ใช่เกิดขึ้นครั้งแรก ย้อนกลับไปในปี 2566 เคยมีเคสของสาวรายหนึ่ง ออกมาโพสต์คลิปเตือนภัย หลังเธอใช้โซดาไฟทลายท่อตัน แต่กลับเกิดอุบัติเหตุที่ต้องจำไปจนวันตาย โดยเธอระบุว่า
"ปัญหา ท่อตันส้วมตันบ่อยบ่อยแล้วใช้โซดาไฟระวังนะคะทุกคนเตือนไว้ก่อนนะอย่าหาทำนะคะอันตรายมากๆ เลยจ้า #โซดาไฟ"
บ้านใครมีปัญหาท่อตันบ่อยๆ แล้วใช้โซดาไฟนะ โซดาไฟเป็นเหตุสังเกตได้ แผลแบบนี้อันตรายมากๆ หมอบอกว่ายิ่งกว่าน้ำกรด ต้องแอดมิต พร้อมกับคลิปเผยให้เห็นสภาพมือและแขน หลังเธอใช้โซดาไฟแบบน้ำ เทลงท่อ แต่พอเทแล้วโซดาไฟกลับพุ่งขึ้นมาโดนที่มือและแขนจนเกิดแผลพุพอง
รู้จัก "โซดาไฟ" วิธีใช้โซดาไฟอย่างถูกวิธีและปลอดภัย
"โซดาไฟ" หรือ โซเดียม ไฮดรอกไซด์ (Sodium hydroxide) สารเคมี มีฤทธิ์กัดกร่อน ในการนำมาใช้งานภายในครัวเรือนมักนำใช้ขจัดคราบสกปรกและสิ่งอุดตันในท่อระบายน้ำ ขจัดคราบไขมันและเส้นผม แต่หากใช้งานโดยไม่ระวัง หรือ ไม่รู้วิธีใช้ที่ถูกต้อง อาจก่อให้เกิดอัตรายแก่ตัวผู้ใช้ได้ ผู้ใช้จึงควรศึกษารายละเอียดขั้นตอนการใช้งาน วิธีการเก็บรักษา และการปฐมพยาบาลเบื้องต้น
ขั้นตอนการใช้งาน "โซดาไฟ"
1. ผสมน้ำกับโซดา ด้วยอัตราส่วนน้ำ 0.5 ลิตร : โซดาไฟ 50-100 กรัม
2. คนให้เข้ากัน จนโซดาไฟละลายหมด ระวังอย่าสัมผัสโดนผิวหนัง ตา และจมูก
3. นำไปเท ในท่อที่ตันหรือชักโครก
4. รอให้โซดาไฟออกฤทธิ์ ขจัดล้างสิ่งอุดตันในท่อ 10-20 นาที
5. เทน้ำตาม เพื่อล้างโซดาไฟในท่อให้หมด
ข้อควรรู้และต้องระมัดระวังในการใช้โซดาไฟ
1. ละอองของโซดาไฟทำให้เกิดการอักเสบที่เยื่อบุระบบทางเดินหายใจ ถ้าสูดไอหรือฝุ่นโซดาไฟเข้าไป นอกจากนั้นอาจส่งผลทำให้ปอดระคายเคืองหรืออักเสบ
2. ถ้าโซดาไฟสัมผัสผิวหนัง โดยเฉพาะโซดาไฟมีความเข้มข้นสูงจะทำให้เกิดแผลพุพอง และเกิดแผลเป็นได้ นอกจากนี้ถ้าสัมผัสไอของโซดาไฟเป็นเวลานานจะทำให้ผิวหนังแห้ง แตกสะเก็ดเป็นแผล และถ้าสัมผัสตาจะเกิดการระคายเคือง ทำลายเนื้อเยื่อ เป็นต้อหิน หรือต้อกระจก และอาจตาบอดได้
3. ถ้าเข้าปากและไปถึงทางเดินอาหารทำให้เกิดการกัดกร่อนอย่างรุนแรงต่อเนื้อเยื่อทางเดินอาหาร ทำให้เกิดแผลที่ช่องปาก และลำคอไหม้ ปวดท้อง ท้องเสีย อาเจียน วิงเวียนจนอาจถึงตายได้ และอาจกลายเป็นมะเร็งในเวลา 10-20 ปีได้
4. เมื่อใช้งานควรแต่งกายให้รัดกุมทั้งผ้าปิดจมูก สวมถุงเท้า ถุงมือ แว่นตากันสารเคมี
วิธีการเก็บรักษาโซดาไฟ
1. เก็บไว้ในที่แห้ง อย่าให้ถูกความชื้น
2. อย่าให้ถูกกรดและสารติดไฟ
3. เวลาใช้ให้สวมหน้ากาก ชนิดเต็มหน้า สวมถุงมือ รองเท้ายาง เสื้อคลุม
4. ทำความสะอาดร่างกายทุกครั้งหลักจากการใช้งาน
วิธีปฐมพยาบาลเมื่อถูกโซดาไฟ
1. ถ้าเข้าตาให้ล้างน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง
2. หากถูกผิวหนังให้ล้างด้วยน้ำสบู่และน้ำ
3. ใช้ยาทาแก้แผลไฟไหม้เพื่อปฐมพยาบาลเบื้องต้น
4. หากเข้าปากให้ล้างท้องด้วยกรดน้ำส้มสายชู
5. จากนั้นรีบนำผู้ป่วยส่งแพทย์ทันที
เพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายหรืออุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น ควรทำตามขั้นตอนการใช้งานทุกครั้งอย่างระมัดระวังเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้ผลิตภัณฑ์
อ้างอิงข้อมูล : สวท.เพชรบูรณ์, สำนักประชาสัมพันธ์เขต 4 กรมประชาสัมพันธ์