เจตนาซื้อแพงเกิน! พบ 25 จนท.ดูงบซื้อเครื่องออกกำลังกาย สั่งสอบด่วน

30 ก.ค. 67

ศูนย์ต่อต้านทุจริต กทม. เผยผลการสืบสวนการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกาย พบเจตนาซื้อแพงเกินจริง เสนอตั้ง คกก.สอบสวนวินัยร้ายแรงสอบใน 120 วัน

นายณัฐพงศ์ ดิษยบุตร รองปลัดกรุงเทพมหานคร ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการติดตามการต่อต้านการทุจริตของกรุงเทพมหานคร (ศตท.กทม.) พร้อมด้วย นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร และนางสาวเต็มสิริ เนตรทัศน์ ผู้ช่วยหัวหน้าสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานคร (สำนักงาน ก.ก.) ชี้แจงความคืบหน้าการตรวจสอบเรื่องทุจริตของกรุงเทพมหานคร ซึ่งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงกรณีการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายสำหรับศูนย์กีฬาและศูนย์นันทนาการของกรุงเทพมหานคร จำนวน 7 โครงการ ได้ดำเนินการตรวจสอบตามกรอบระยะเวลา 30 วัน โดยไม่มีการขยายระยะเวลา และได้เสนอรายงานการสืบสวน เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 67 ที่ผ่านมา

819133

รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า จากการสืบสวนทั้งพยานบุคคลและเอกสารพบว่า มีการจัดซื้อแพงเกินจริง โดยราคาจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายสูงกว่าราคาที่เคยจัดซื้อในปีก่อน ๆ และสูงกว่าราคาต้นทุนรวมค่าดำเนินการเป็นอย่างมาก ซึ่งรายละเอียด TOR พบว่า มีข้อกำหนดที่ไม่เปิดกว้างให้มีการเข้าเสนอราคาได้อย่างเท่าเทียม อาทิ การกำหนดจำนวนสัญญากับภาครัฐในระยะเวลาจำนวนปี และมีการกำหนดคุณสมบัติของเครื่องออกกำลังกายที่เกินความจำเป็น เช่น เพิ่มกำลังแรงม้า เพิ่มโปรแกรมออกกำลังกาย เพิ่มการรองรับน้ำหนัก และจอแสดงผลระบบสัมผัส เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังพบว่ามีเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องที่เกี่ยวกับการจัดทำโครงการซื้อเครื่องออกกำลังกาย การพิจารณางบประมาณ การดำเนินการจัดซื้อ รวม 25 ราย โดยหลังจากนี้จะมีการสอบสวนในเชิงลึกต่อไป ทั้งนี้ สืบเนื่องจากการตรวจสอบเรื่องดังกล่าว เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ปลัดกรุงเทพมหานครได้มีคำสั่งย้ายผู้บริหารที่มีชื่อเกี่ยวข้องในกระบวนจัดซื้อทั้ง 7 โครงการ ไปปฏิบัติหน้าที่ประจำสำนักปลัดกรุงเทพมหานครแล้ว

126713

ส่วนแนวทางการดำเนินการหลังจากนี้ว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะพิจารณาผลการสืบสวนอย่างละเอียด เพื่อพิจารณาเสนอผู้มีอำนาจสั่งบรรจุและแต่งตั้งดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงตามกฎ ก.ก. ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย พ.ศ. 2565 ต่อไป และคณะกรรมการจะดำเนินการสอบสวนให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน ซึ่งเป็นขั้นตอนตามที่กฎหมายกำหนด และพิจารณาลงโทษต่อไป ส่วนกรณีจากสืบสวนพบว่ามีการจัดซื้อแพงเกินจริงถือว่ากรุงเทพมหานครได้รับความเสียหาย ก็จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539  เพื่อพิจารณาให้มีการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน

ในส่วนของทั้ง 7 โครงการที่สืบสวนแล้วเสร็จ ประกอบด้วย
1. โครงการประกวดราคาซื้อครุภัณฑ์เสริมสร้างสมรรถภาพทางกายสำหรับศูนย์นันทนาการ สังกัดสำนักงานนันทนาการและส่งเสริมการเรียนรู้ ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding)
2. โครงการประกวดราคาซื้อครุภัณฑ์เสริมสร้างสมรรถนะทางกาย 16 รายการ สำหรับศูนย์นันทนาการ สังกัดสำนักงานนันทนาการและส่งเสริมการเรียนรู้ ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding)
3. โครงการประกวดราคาซื้อครุภัณฑ์เสริมสร้างสมรรถนะทางกาย 21 รายการ สำหรับศูนย์กีฬาอ่อนนุช ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding)
4. โครงการประกวดราคาซื้อครุภัณฑ์เสริมสร้างสมรรถนะทางกาย 21 รายการ สำหรับศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding)
5. โครงการประกวดราคาซื้อครุภัณฑ์เสริมสร้างสมรรถนะทางกาย 10 รายการ สำหรับศูนย์กีฬามิตรไมตรี ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding)
6. โครงการประกวดราคาซื้อครุภัณฑ์เสริมสร้างสมรรถนะทางกาย 11 รายการ สำหรับศูนย์กีฬาวชิรเบญจทัศ ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding)
7. โครงการประกวดราคาซื้อครุภัณฑ์เสริมสร้างสมรรถนะทางกาย 11 รายการ สำหรับศูนย์กีฬาวารีภิรมย์ ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding)

ผู้ช่วยหัวหน้าสำนักงาน ก.ก. กล่าวสรุปกระบวนการดำเนินการว่า จากผลการสืบสวนจะมีการดำเนินการใน 3 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 การดำเนินการทางอาญา ซึ่งกรุงเทพมหานครไม่ได้มีอำนาจ จึงได้ส่งต่อ สำนักงาน ป.ป.ช. ดำเนินการตามกฎหมาย (พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542) ส่วนที่ 2 การดำเนินการทางวินัย ซึ่งกรุงเทพมหานครกำลังจะดำเนินการต่อ โดยกำหนดระยะเวลา 120 วัน นับจากวันที่เริ่มประชุมคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงครั้งแรก และสามารถขยายระยะเวลาได้ 1 ครั้ง โดยขยายได้ไม่เกิน 60 วัน ซึ่งกระบวนการภายในระยะเวลาที่กำหนดนี้จะมีการแจ้งข้อกล่าวหา โดยจะสรุปพยานหลักฐานที่เข้าข่ายการทำความผิด ให้โอกาสเขาชี้แจงแสดงเหตุผลหรือหาพยานหลักฐานมาแก้ต่างให้ตัวเอง สุดท้ายคณะกรรมการสอบสวนฯ ก็จะสรุปว่ามีความผิดหรือไม่ และต้องเสนอระดับโทษมาให้ผู้มีอำนาจสั่งบรรจุและแต่งตั้งพิจารณาต่อไป โดยมีกำหนดระยะเวลาให้ผู้มีอำนาจฯ ต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 45 วัน และส่วนที่ 3 การดำเนินการทางแพ่ง ซึ่งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดจะพิจารณาหาผู้รับผิดมาคืนเงินให้แก่กรุงเทพมหานครต่อไป

โฆษกของกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า  กรุงเทพมหานครจะดำเนินการในแต่ละขั้นตอนด้วยความรอบคอบและรวดเร็วเพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ทั้งนี้ ต้องขอขอบคุณภาคีเครือข่ายและประชาชนที่เข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบ เพื่อให้กระบวนการต่าง ๆ เป็นไปด้วยความโปร่งใส ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่ให้มีกระบวนการเพื่อความโปร่งใส 3 ระยะ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยมีการตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานครเพื่อพัฒนาและส่งเสริมการบริหารการงบประมาณให้มีประสิทธิภาพมาดูแลเรื่องงบประมาณ มีการเปิดเผยข้อมูลแบบ Open Data ให้ประชาชนร่วมตรวจสอบได้ มีการนำ ACT Ai มาช่วยตรวจสอบ มีการเตรียมทีมทำราคากลางเรื่องการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกาย รวมถึงมีการตั้งศูนย์ปฏิบัติการติดตามการต่อต้านการทุจริตของกรุงเทพมหานคร (ศตท.กทม.)

728343

สำหรับผลการดำเนินงานของ ศตท.กทม. ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีคำสั่งไล่ออก/ปลดออกข้าราชการ จำนวน 29 ราย แบ่งเป็นกรณีเข้าข่ายทุจริตและประพฤติมิชอบ 12 ราย ได้แก่ ทุจริตเรียกรับสินบน 6 ราย ทุจริตไม่นำส่งเงิน 3 ราย และทุจริตจัดซื้อจัดจ้าง 3 ราย  ส่วนอีก 17 ราย เป็นกรณีผิดวินัยอย่างร้ายแรงอื่น เช่น ขาดงานเกิด 15 วัน ละเมิดทางเพศผู้เรียน ลอกเลียนผลงาน ยาเสพติด ปลอมเอกสาร หลอกลวงนำเงินไปลงทุน

ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครได้เปิดช่องทางในการแจ้งเรื่องทุจริตประพฤติมิชอบ ประกอบด้วย Traffy Fondue ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ โทร. 1555 เว็บไซต์ https://webportal.bangkok.go.th/rongtook ตลอดจนทางไปรษณีย์ ทางโทรศัพท์ หรือร้องเรียนด้วยตนเองที่ ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตกรุงเทพมหานคร (ศปท.กทม.) โทร. 0 2224 2963 หรืออีเมล anticorrupt.bma@gmail.com

advertisement

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส