3 สว.โชว์วิสัยทัศน์ชิงเก้าอี้ประธานวุฒิสภา พร้อมทำหน้าที่ประธานวุฒิสภา ลบครหาสภาใบสั่ง ชวนสมาชิกจับมือ 1 เดียว และกู้ภาพลักษณ์สว.ยุคใหม่
วันนี้ (23 ก.ค.67) การประชุมวุฒิสภาครั้งที่ 1 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) ภายหลังที่ประชุมได้เสนอชื่อบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งประธานวุฒิสภา โดย นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ สว. เป็นหนึ่งในผู้ถูกเสนอชื่อ ได้แสดงวิสัยทัศน์เป็นคนแรก วันนี้เป็นวันประวัติศาสตร์วันหนึ่งของรัฐสภาไทยที่มีการเปลี่ยนแปลงการเลือกวุฒิสมาชิก เป็นฐานอาชีพ 20 สาขาอาชีพ จากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์เป็นจำนวนมาก ไม่ตรงปกบ้าง มีการครอบงำจากกลุ่มสี ล้วนแล้วแต่ไม่เป็นผลดีต่อวุฒิสมาชิก 200 คน ตนเองจึงมุ่งมั่นอาสามาดำรงตำแหน่งประธานวุฒิสภา เพื่อแก้ไขภาพลักษณ์และสิ่งที่ปรากฏในด้านลบ เพราะวุฒิสภาถือเป็นสภาสูงที่ทรงเกียรติ และประชาชนคาดหวังในการทำงาน
“เสื้อของเราหากกลัดกระดุมเม็ดแรกผิดก็จะผิดทั้งหมด ดังนั้นการกลัดกระดุมเม็ดแรกของวุฒิสภาสมาชิกจะต้องเป็นอิสระ เป็นกลาง ไม่ถูกครอบงำ ไม่ว่าจะจากพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน”
หลายคนวิจารณ์ที่มาของเรา ห้ามยาก เพราะเรามากันแล้ว แต่ที่ไปเป็นสิ่งที่เราเลือกได้ว่าห้าปีต่อจากนี้จะไปอย่างไร ถ้าเราเลือกเป็นกลางเป็นอิสระจะได้รับความชื่นชมต่อประชาชนอย่างแน่นอน แต่ถ้าเลือกอีกด้านหนึ่งจะถูกตราหน้าว่าเป็นสภาใบสั่ง สภารีโมท สภาหวยล็อก สภาบล็อคโหวต
หน้าที่สำคัญของวุฒิสภาคือ การกลั่นกรองกฎหมายจากสภาผู้แทนราษฎรจะต้องไม่ถูกชี้นำจากพรรคการเมืองใดทั้งสิ้น ส่วนการเห็นชอบองค์กรอิสระต้องไม่มีคำสั่งจากบ้านนั้นบ้านนี้ หรือมาจากผู้ยิ่งใหญ่คนนั้นคนนี้ เพราะการกำหนดองค์กรอิสระจะไร้ความหมาย และจะเกิดปัญหาต่อการยอมรับของพี่น้องประชาชนเหมือนที่เป็นมาในอดีต
ขณะที่การควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน การตั้งกระทู้สดเป็นอาวุธสำคัญของสมาชิกวุฒิสภาในการบริหารงานรัฐบาล นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต้องมาตอบกระทู้สดด้วยตนเอง ไม่ใช่มอบหมาย เราต้องยืนยันศักดิ์ศรีของวุฒิสภาในการตรวจสอบ ไม่ว่าจะเป็นกระทู้ถาม ญัตติด่วน หรือคณะกรรมาธิการต้องศักดิ์สิทธิ์ เพื่อดำรงไว้ซึ่งการควบคุมรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพ
“ประธานวุฒิสภาจะทำเรื่องเหล่านี้ได้ต้องมีสุขภาพที่ดี บางคนเก่งแต่กาลเวลาผ่านไปแพ้สังขาร ถ้าไม่ไหวอย่าฝืน ตนเองอายุ 59 ปี บวกอีก 5 คือ 64 ปี พร้อมทำหน้าที่เป็นประธานวุฒิสภาโดยมีสุขภาพที่ดี ขอให้สมาชิกพิจารณาด้วยเนื้อผ้า อย่าพิจารณาโดยที่เขาบอกว่ามีเสียงล่วงหน้ามาแล้ว แบบนี้สภาของเราจะไม่พ้นคำครหา อย่ามองคนสมัครคนอื่นเป็นเพียงไม้ประดับ เพราะเป็นการต่อสู้ที่ประชาชนมองทั้งประเทศและคาดหวังกับเรา“
ต่อมา นายมงคล สุรัจสัจจะ สว. ได้แสดงวิสัยทัศน์โดยขอบคุณสมาชิกที่เสนอชื่อตนเอง นับตั้งแต่ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการกระทรวงมหาดไทยในตำแหน่งปลัดอำเภอ ตนเองสำนึกว่าแผ่นดินนี้ได้ให้โอกาสมากมาย จึงตั้งปณิธานไว้อย่างแน่วแน่ว่าจะอุทิศชีวิตและปฎิบัติหน้าที่ตอบแทนคุณแผ่นดินรับใช้ประชาชน รักษาสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ โดยยึดมั่นมาตลอดว่าจะไม่มีวันเปลี่ยนแปลงจนกว่าชีวิตจะหาไม่
สำหรับเหตุผลการสมัครสมาชิกวุฒิสภา เพราะหวังว่าชีวิตที่เหลืออยู่จะทำงานเพื่อชาติเพื่อแผ่นดิน รับใช้ประชาชนแก้ปัญหาของคนในชาติที่อยู่ในช่วงเวลาวิกฤต นับตั้งแต่วันนี้ตนเองจะตั้งใจทำงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามที่ได้วางไว้ เชื่อว่าวุฒิสภาคนอื่นก็มีความตั้งใจไม่ต่างจากตนเอง
การปฏิบัติหน้าที่ด้านนิติบัญญัติในฐานะสมาชิกวุฒิสภา ตนเองต้องการให้ประเทศไทยและคุณภาพชีวิตของคนไทยไปสู่สิ่งที่ดีกว่าและดีขึ้นในทุกมิติ ซึ่งการทำงานของวุฒิสภาโดยมีประชาชนเป็นเป้าหมายอย่างตรงไปตรงมาจะนำไปสู่สิ่งนั้นได้ จึงอยากเห็นสังคมไทยและคนไทยเป็นหนึ่งเดียวกัน เห็นต่างได้แต่ต้องไม่สร้างความแตกแยก เราจะเริ่มต้นจากความเป็นหนึ่งเดียวของวุฒิสภา
วุฒิสภาเป็นองค์กรด้านนิติบัญญัติและเป็นองค์กรสำคัญที่จะพาสังคมไทยเดินหน้าไปด้วยสันติวิธี รวมถึงการมีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่เหมาะสม สอดคล้องกับคนไทยและราชอาณาจักรไทยอย่างแท้จริง เป็นภารกิจของพวกเราในฐานะสมาชิกวุฒิสภา โดยทั้งวิกฤตการเมืองและเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในไทยก็เกิดขึ้นในประเทศอื่นด้วย อย่าหวังให้ใครมาช่วยเรา คนไทยต้องช่วยกัน
“ชีวิตผมมาจากก้อนดินก้อนทราย เป็นเด็กวัดเรียนอาชีวะ จึงเข้าใจความยากจนข้นแค้น ความเป็นคนไม่มีเส้นไม่มีสาย ผมเติบโตมาในระบบราชการด้วยการทำงานอย่างหนัก เต็มความรู้ความสามารถ มีประสบการณ์ในการประสานงานกับพี่น้องประชาชน คลุกคลีกับพี่น้องประชาชนทั้งในชนบทตลอดชีวิต เกษียณอายุราชการก็ไปทำไร่ในชนบท“
นายมงคล กล่าวต่อว่าทราบดีถึงความรู้สึกของสมาชิกวุฒิสภา รวมถึงเข้าใจปัญหาเพราะมีประสบการณ์มาอย่างยาวนาน มีเพื่อนอยู่ทุกหมู่เหล่า เชื่อมั่นว่าจะสามารถทำงานร่วมกับทุกคนได้ วุฒิสภาชุดปัจจุบันใครจะว่าอย่างไรก็แล้วแต่ แต่เป็นครั้งแรกที่รัฐธรรมนูญปี 2560 ปฏิรูปให้เป็นสภาของคนทุกหมู่เหล่า แบ่งเป็น 20 กลุ่มอาชีพ เป็นครั้งแรกที่วุฒิสภาเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามาทำหน้าที่แทนกลุ่มอาชีพของตนเอง ประชาชนเข้ามาทำหน้าที่แทนประชาชน จึงขอให้ทุกท่านรักษาไว้
หากตนเองได้รับเลือกเป็นประธานประธานวุฒิสภา จะปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ข้อบังคับ ตลอดจนธรรมเนียมปฏิบัติทางนิติบัญญัติอย่างเต็มสติปัญญา เต็มความรู้ความสามารถ เพื่อรับใช้และอำนวยความสะดวกให้แก่การปฎิบัติหน้าที่ของสมาชิก พร้อมประสานงานให้เป็นเนื้อเดียวกันโดยเร็วที่สุด ชวนทุกคนมาช่วยงานและเดินหน้าไปพร้อมกันเพื่อให้วุฒิสภาบรรลุผลความเป็นสภาของสามัญชน เพื่อให้เป็นสภาที่ประนอมอำนาจดับวิกฤตของสังคมไทย
ด้านรศ.ดร.นันทนา นันทวโรภาส สมาชิกวุฒิสภา ขึ้นแถลงวิสัยทัศน์ในฐานะผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นประธานวุฒิสภา ว่า ที่ผ่านมาวุฒิสภา ดูเป็นสภาที่ห่างเหินจากการรับรู้ของพี่น้องประชาชน วุฒิสภาไม่ยึดโยงกับประชาชน และไม่ใช่สถาบันที่เป็นที่พึ่งของประชาชน โดยภาพลักษณ์เหล่านี้ คือภาพลักษณ์ที่บั่นทอนศรัทธามหาชน และคือโจทย์ที่สำคัญว่าเราจะฟื้นฟูภาพลักษณ์ของ สว. ยุคใหม่ได้อย่างไร ประชาชนทั้งประเทศจะรู้สึกเป็นเจ้าของ สว. ก็ต่อเมื่อเราทำให้วุฒิสภาเป็นสภาของประชาชน "people parliament" เราจะทำให้สภาของประชาชนเกิดขึ้นได้อย่างไร
แม้ที่มาของ สว. ทั้งสภานี้ จะไม่อาจกล่าวได้ว่ามาจากการเลือกของประชาชน แต่เรายึดโยงกับประชาชนผู้จ่ายภาษีเป็นเงินเดือนของเราได้ ด้วยแนวทาง 5 ส. ได้แก่ สัมพันธ์ สื่อสาร สร้างสรรค์ สมดุล และสากล
ส.แรก คือ สัมพันธ์ วุฒิสภายุคใหม่จะต้องยึดโยงกับประชาชนทุกคนทุกกลุ่ม เราจะสร้างความรู้สึกผูกพันการเป็นเจ้าของ โดยเปิดพื้นที่สภาให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงได้ ประชาชนสามารถเข้ามาฟังการประชุมสภาได้ทุกวันที่มีการประชุม พื้นที่สวนเปิดให้ประชาชนเข้ามาออกกำลังกายสูดอากาศบริสุทธิ์ โถงใหญ่เปิดให้สถาบันการศึกษาองค์กรสาธารณะประโยชน์จัดนิทรรศการแสดงนวัตกรรมได้ และเราจะจัดตั้งหน่วยรับเรื่องราวร้องทุกข์ให้เป็นที่พึ่งพาของประชาชนที่ถูกกลั่นแกล้งรังแกจากเจ้าหน้าที่รัฐ หรือไม่ได้รับความเป็นธรรมจากหน่วยงานใดๆ ทุกข้อร้องเรียนจะถูกนำไปสู่การแก้ไข โดยเราจะเป็นวุฒิสภาเชิงรุกเข้าหาประชาชนโดยจัดรายการ สว. ฟังเสียงประชาชน เราจะจัดเวทีสังสรรค์เสวนากับประชาชนในทุกพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ
ส. สื่อสาร วุฒิสภายุคใหม่จะใช้การสื่อสารเป็นเครื่องมือยึดโยงกับประชาชน โดยเราจะสื่อสารการทำงานของ ส.ว. ผ่านการถ่ายทอดสดการประชุมสภา และจะผลักดันให้มีการถ่ายทอดสดกรรมาธิการทุกขณะ เราจะแถลงผลการทำงานทุกด้านผ่านสื่อมวลชน และจะตอบทุกคำถามกับสื่อมวลชนโดยยึดหลัก “สว.รู้อะไร ประชาชนรู้อย่างงั้น”
ส. สร้างสรรค์ วุฒิสภายุคใหม่จะทำงานอย่างสร้างสรรค์โปร่งใสตรวจสอบได้ โดยใช้เวทีของสภาถกเถียงประเด็นที่เป็นปัญหาของสังคม เริ่มจากการบรรจุระเบียบวาระที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ควบคุมการอภิปรายอย่างเป็นกลางให้อยู่ในประเด็นสะท้อนปัญหา และได้ข้อยุติ ซึ่งสภาแห่งนี้ต้องเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของบ้านเมืองที่มีอำนาจในการเรียกเจ้าหน้าที่รัฐหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตั้งแต่หัวหน้ารัฐบาลมาให้ปากคำตอบกระทู้ถามในการแก้ปัญหาสำคัญ โดยให้ความเคารพต่อสถาบัน และไม่บ่ายเบี่ยงหลบเลี่ยงเหมือนเช่นที่ผ่านมา
ส.สมดุล วุฒิสภายุคใหม่จะต้องสร้างสมดุลให้เกิดขึ้นในสังคม เราจะเปิดกว้างให้ทุกศาสนา เราจะเปิดทุกพื้นที่ให้กับความหลากหลายทางเพศ เราจะเปิดรับทุกเชื้อชาติโดยไม่กีดกันแบ่งแยก และเราจะต้อนรับคนทุกวัย สภาคือพื้นที่แห่งความเท่าเทียมกันเราเคารพสิทธิของมนุษยชนเราจะโอบรับบุคลากรเข้ามาทำงาน และทุกคนที่เข้ามามีส่วนร่วมกับสภาของเรา
ส.สากล วุฒิสภาชุดใหม่ต้องเป็นที่ยอมรับของนานาอารยประเทศ มีกฎระเบียบข้อบังคับที่ทันสมัยเป็นประชาธิปไตยเป็นมาตรฐานสากล และเป็นแบบอย่างแก่ประเทศในอาเซียน ทำให้ประเทศไทยได้ยืนอย่างสง่างามบนเวทีโลก
ในช่วงท้ายว่า รศ.ดร.นันทนา กล่าวว่า นี่คือวิสัยทัศน์ที่คนที่จะมาดำรงตำแหน่งประธานวุฒิสภา เราจะดำเนินการ 5 ส. เวลาที่ประชาชนจะให้เราฟื้นฟูภาพลักษณ์ของวุฒิสภาแห่งนี้เหลือน้อยเต็มที การตัดสินใจของเพื่อนสมาชิกจะเป็นการชี้ชะตาอนาคตของวุฒิสภาแห่งนี้ ท่านเลือกได้ที่จะเป็นตำนานในการสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับวุฒิสภาในฐานะผู้ผลักดันการเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัย 5 ปีของวุฒิสภายุคใหม่จะไม่สูญเปล่า แต่จะเป็นสภาแห่งความหวัง และสภาแห่งความศรัทธาจึงขออาสาเป็นผู้นำของการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ในบทบาทประธานวุฒิสภา และขอวิงวอนต่อเพื่อนสมาชิกผู้ทรงเกียรติทุกท่านมาร่วมกันทำให้วุฒิสภายุคใหม่เป็นสภาของประชาชนให้เป็นหนึ่งในเสาหลักประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และหนึ่งเสียงของท่านสร้างสิ่งนี้ให้เป็นจริงได้