มีอะไรในสวนหลังบ้าน? นิทรรศการ NIMBY จากแรงบันดาลใจให้ 5 ศิลปินหญิง

7 ก.พ. 63
มีอะไรในสวนหลังบ้าน? NIMBY นิทรรศการ Not in my backyard นิทรรศการที่ชวนคุณมาปกป้องสวนหลังบ้าน...ของตัวเอง จากปัญหาเรื่องฝุ่นพิษ ไปจนนานาปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ก่อเกิดเป็นแรงบันดาลใจให้ 5 ศิลปินหญิง ดังมี ทรัพย์มณี ชัยแสนสุข, สุดาภรณ์ เตจา, สล่าวารินทร์ ใจจรรย์ทึก, สุคนธ์ทิพย์ พิมพาเรียน และศุภมาส ทวีโชติภัทร์ ลุกขึ้นมาสะบัดพู่กัน เพื่อสะท้อนปัญหาสิ่งแวดล้อมและสังคม ผ่านสวนหลังบ้านของพวกเธอ ใน NIMBY นิทรรศการ Not in my backyard ณ Palette Artspace ทองหล่อ และสวนอาร์ตที่ไม่น่าพลาดนี้ กำลังจะเปิดให้เยี่ยมชมในเดือนแห่งความรักนี้แล้ว (วันที่ 7 กุมภาพันธ์-15 มีนาคม 2563) คุณโน้ต-วัจนสินธุ์ จารุวัฒนกิตติ ผู้ก่อตั้ง Palette Artspace เล่าถึงจุดเริ่มต้นของนิทรรศการ NIMBY: Not in my backyard นิทรรศการกลุ่มศิลปินหญิงครั้งแรกของแกลลอรี่นี้ว่า “เริ่มจากได้พูดคุยกับคุณตุ่ย-ทรัพย์มณี ชัยแสนสุขว่าอยากจะทำนิทรรศการร่วมกัน คุณตุ่ยก็มีไอเดียว่าอยากทำเป็นนิทรรศการกลุ่มผู้หญิงล้วน มาร่วมกันสร้างสรรค์งานศิลปะ เพื่อสะท้อนถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมและสังคม ผมกับคุณตุ่ยก็ช่วยกันหาศิลปินอีก 4 คนที่เหมาะสมสำหรับนิทรรศการในครั้งนี้ หลังจากได้คอนเซ็ปต์ว่าเกี่ยวกับแนวอนุรักษ์โลก สะท้อนสิ่งแวดล้อมและสังคม ผมก็เลยนึกถึงคำว่า NIMBY หรือ Not in my backyard ศัพท์สิ่งแวดล้อมที่มีมากว่า 20 ปีแล้ว ใช้เรียกกลุ่มคนที่ไม่ต้องการให้ใครหรืออะไรเข้ามา ทำให้พื้นที่ของพวกเขาเกิดผลกระทบเชิงลบขึ้น นิทรรศการครั้งนี้ไม่ใช่แค่การลองทำอะไรใหม่ๆ ด้วยกันเท่านั้น ในผลงานครั้งนี้แต่ละศิลปินยังได้สร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ และตีความออกมาได้อย่างลึกซึ้งด้วย” ในเว็บไซต์มูลนิโลกสีเขียวได้อธิบายความหมายของคำว่า NIMBY ซึ่งย่อมาจาก Not in my backyard ว่าใช้เรียกบุคคลหรือกลุ่มคน ซึ่งไม่ต้องการให้สิ่งที่เป็นอันตราย สิ่งที่มีแนวโน้มว่าจะเป็นอันตราย หรือสิ่งไม่น่าพึงพอใจ ย่างกรายเข้ามาในชุมชนหรือละแวกบ้านเรือนที่ตนเองอาศัยอยู่ ก่อนที่คุณจะได้เข้าไปเยี่ยมชมสวนหลังบ้านของแต่ละคน เรามีความลับที่ซ่อนไว้ในแต่ละสวนอยากเล่าให้ฟัง… ‘Take care yourself’ สวนหลังบ้านที่เต็มไปด้วยฝุ่นพิษของตุ่ย-ทรัพย์มณี ชัยแสนสุข ศิลปินจิตรกรรมนามธรรม ที่มีเครดิตสถาปนิกร่วมด้วย จากความสนใจเรื่องคุณภาพของอากาศ มาตั้งแต่สมัยเป็นสถาปนิก ได้วิจัยเรื่องออกแบบอย่างไรให้บ้านอยู่แล้วสุขภาพดี เธอได้พบว่าจริงๆ แล้วฝุ่นขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 นี้มีมานานมากแล้ว แต่ไม่ได้มีการแก้ไขอย่างจริงจังยั่งยืน เธอและหลายๆ คนจึงทำได้แค่เพียง “ดูแลตัวเองให้ดีที่สุด” “ครั้งนี้แตกต่างกับงานที่ผ่านมา โดยเพิ่มเติมเทคนิคผสม น้ำ ชาโคล และสีอะคริลิค อยากสื่อถึงฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 ผสมกับแพทเทิร์นของเซลล์สิ่งมีชีวิต ให้ผู้ชมรู้สึกถึงการแทรกซึมของฝุ่น PM 2.5 ที่เข้าไปในร่างกายทำลายสุขภาพของเราและตระหนักถึงการดูแลตัวเอง” ทรัพย์มณี ชัยแสนสุข ‘Pindrop’ สวนอันเงียบสงัดของส้ม-สุดาภรณ์ เตจา ศิลปินจิตกรรมนามธรรมที่สื่อสารเกี่ยวกับเรื่องสิทธิ จากความสนใจเรื่องผู้คน จิตวิทยา ความเท่าเทียมกันในสังคม และการเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่างๆ รอบตัว เกิดเป็นแรงบันดาลใจและแนวคิดของผลงาน ‘Pindrop’ นี้ โดยได้ตั้งข้อสังเกตถึงพฤติกรรมของผู้คนในสังคม เรื่องการพูดและการแสดงออก เปิดกว้างให้คนดูได้ตีความตามความรู้สึก และกลับไปตั้งคำถามกับตัวเองอีกที “เรื่องนี้ส้มพูดถึงความเงียบ และเลือกใช้เข็มมาเป็นสื่อในงานจิตรกรรม มาจากสํานวนที่ว่า It’s so quiet you could hear a pin drop หรือเงียบจนได้ยินเสียงเข็มหล่น แต่ความเงียบนั้น ไม่ได้หมายถึงไม่มีความรู้สึก มันอาจจะมีความรู้สีกทิ่มแทงในใจก็เป็นได้ ซึ่งยังคงทิ้งคราบร่องรอยไว้ในตัวงาน สำหรับเทคนิคใหม่ที่ใช้ในงานจิตรกรรมนามธรรมชุดนี้ บางส่วนควบคุม ได้บางส่วนควบคุมไม่ได้ ปล่อยให้สีไหลไปเองโดยธรรมชาติ เหมือนเรื่องราวบางอย่างที่เรารับรู้ แต่สุดท้ายเราอาจเลือกที่จะเป็นเพียงผู้เฝ้าดู โดยไม่แสดงออกใดๆ” สุดาภรณ์ เตจา ‘Bee Safe’ สวนหลังบ้านที่ผึ้งไม่ได้กลับคืนรัง ของกวาง-สุคนธ์ทิพย์ พิมพาเรียน ศิลปินจิตรกรรมนามธรรมรุ่นใหม่ ที่หยิบประสบการณ์ตรงจากสวนหลังบ้านตัวเอง ที่เป็นสวนเลี้ยงผึ้งมาบอกเล่า จากปัญหาเรื่องหมอกควัน ไม่ได้ส่งผลแค่กับมนุษย์เท่านั้น ยังทำให้ผึ้งหาทางกลับมาที่รังไม่ถูก ทำให้ประสิทธิภาพในการสร้างน้ำหวานน้อยลง และส่งผลถึงความหลากหลายทางชีวภาพด้วย “ส่วนใหญ่งานของกวางจะเป็นการทำงาน abstract กับพื้นที่ของความคิด ใช้ความคิดคำนึง จินตนาการถึง ผลงานในชุดนี้สร้างสรรค์ขึ้นจากทรายกับอะคริลิควาดลงบนแคนวาส ซึ่งเป็นรูปแบบที่กวางได้ใช้มาตั้งแต่ตอนทำธีสิส ด้วยอยากให้มีความรู้สึกเหมือนตอนที่เราคิด และกวางก็สนใจใน texture ของทรายด้วย โดยใช้เม็ดทรายที่หลากหลาย มีทั้งละเอียด และหยาบ นอกจากนี้ยังมีคอนผึ้งจากสวนหลังบ้านที่ลำพูน จัดแสดงด้วย 1 ชิ้น” สุคนธ์ทิพย์ พิมพาเรียน ‘Madam Plastic’ สวนพลาสติกสุดแฟนตาซีของเถียน-ศุภมาส ทวีโชติภัทร์ ศิลปินจิตรกรรมแนวแฟนตาซี และเซอร์เรียลลิสม์ ผู้มีดอกกุหลาบเป็นซิกเนเจอร์ประจำตัว และยังเป็นงาน Mix Media ครั้งแรกของเธอ ผลงานชุดนี้มีแรงบันดาลใจมาจากเพลง Fake Plastic Trees ของ Radiohead ที่บอกเล่าถึง การได้รับอะไรปลอมๆ มาทั้งชีวิต และก็ยังคงอยู่แบบนั้น สวนพลาสติกของเถียนไม่ได้ตัดสินว่าพลาสติกไม่ดี แต่ชวนฉุกคิดว่าเรามัวสนใจแต่เปลือกนอก จนมองข้ามความจริงภายในกันอยู่รึเปล่า “ด้วยผลงานในครั้งนี้เถียนสื่อสารผ่านพลาสติก จากเพ้นท์ธรรมดา เราจึงไปศึกษาพื้นผิวของพลาสติก เพื่อที่จะได้ทำงานกับพื้นผิวของพลาสติก อย่างสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น แม้กระทั่งกรอบรูปภาพก็เป็นอะคริลิคพลาสติกด้วย และแน่นอนว่าต้องมีกุหลาบซึ่งเป็นสิ่งที่เถียนชอบวาดมากๆ อยู่ในผลงานด้วย” ศุภมาส ทวีโชติภัทร์ ‘Life Rights’ สวนแห่งสิทธิชีวิตของแจง-สล่าวารินทร์ ใจจรรย์ทึก ศิลปินพื้นบ้านล้านนา ที่สนใจงานศิลปะร่วมสมัยแนวแฟนตาซี ผลงานชุดนี้เป็นการตั้งคำถาม ถึงการใช้สิทธิของมนุษย์ ที่กระทำต่อสิทธิของสัตว์ ซึ่งทั้งสองฝั่งต่างก็มีลมหายใจและมีสิทธิเหมือนกัน จากที่เธอได้คลุกคลีและมีความผูกพันกับช้าง สร้างงานที่เกี่ยวข้องกับช้างมาตลอด 15 ปี ทำให้เธอรู้สึกว่าช้างเป็นสัตว์ที่มีความย้อนแย้ง มีรูปลักษณ์ที่ดูน่ากลัว แต่แฝงไว้ด้วยความน่าเอ็นดู หรือในขณะที่ช้างถูกยกให้เป็นเทพสูงสุด แต่ก็กลับถูกทำร้ายคุกคาม เธอจึงนำช้างมาเป็นสัญลักษณ์แทนสัตว์ต่างๆ ที่ถูกมนุษย์รุกล้ำพื้นที่ชีวิต ใช้สิทธิความเป็นมนุษย์คุกคามสิทธิชีวิตผู้อื่น เพียงเพราะสรุปเอาเองว่าเขาเป็นสัตว์เดรัจฉาน “เทคนิคที่ใช้ยังเป็นเทคนิคที่ถนัดและทำมานาน คือ เพ้นท์ด้วยสีอะคริลิคแบบบาง ไม่ทิ้งพื้นหลังที่ซ่อนอยู่ด้านล่าง แต่ที่แตกต่างไปคือแนวคิดที่ต้องการนำเสนอ ให้มีอารมณ์ไปทางเซมิแอบแสตรก พาผู้ชมตั้งคำถามว่าเห็นอะไรในภาพนี้ มีการใช้หมุดเหล็กของจริงปักลงบนขอบเฟรม เป็นสัญลักษณ์ของการถูกยึดตรึงไว้ นอกจากนี้ยังมีงานประติมากรรมและ อินสตอลเลชั่น นำไม้มาแกะสลักร่วมกับการปั้น โดยใช้วัสดุดินปั้น ทั้งการแกะสลักไม้และการปั้น เป็นงานที่เว้นว่างห่างหายไปนาน” สล่าวารินทร์ ใจจรรย์ทึก ไม่ว่าคุณจะได้อะไรกลับไปหลังจากที่ได้มาชม NIMBY นิทรรศการ Not in my backyard แต่อย่างน้อยการได้เห็นทั้ง 5 ศิลปินออกมาปกป้องสวนหลังบ้านของพวกเธออย่างสุดฝีมือและสุดหัวใจ ก็น่าจะทำให้คุณรู้สึกอยากกลับไปปกป้องสวนของตัวเองบ้าง…ไม่มากก็น้อย นอกจากนี้ Palette Artspace ยังเป็นหนึ่งในแกลเลอรี่ที่เข้าร่วมงาน Galleries’s Night Bangkok 2020 กับเส้นทางชมงานศิลปะสายสุขุมวิท จัดขึ้นในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2563 แว่วว่ามีกิจกรรมพิเศษจากศิลปินด้วย อย่าลืมไป...รอติดตาม NIMBY นิทรรศการ Not in my backyard จัดแสดงระหว่างวันที่ 7 กุมภาพันธ์- 15 มีนาคม 2563 เวลา 9.00-20.00 น. (มีงานเปิดนิทรรศการในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา 19:00 น.) ที่ Palette Artspace ชั้น 4 ทองหล่อ (สถานีรถไฟฟ้าทองหล่อ ทางออกที่ 3) **เข้าชมฟรี ข้อมูลเพิ่มเติม : www.facebook.com/pg/palette.artspace

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม