แฉไลน์ "ธนบดี" จีบเหยื่อสาวก่อนชิงทรัพย์ อ้าง ตร.ให้ยอมความ - เหยื่อรวมพลังเปิดหน้าชน (คลิป)

11 ส.ค. 60
จากกรณีที่นายธนบดี จิตตา หรือ มีน อายุ 21 ปี นักธุรกิจเต็นท์รถมือสองออกมาให้สัมภาษณ์ว่าถูกอุ้มรีดทรัพย์สูญเงินไปกว่า 3 ล้านบาท จนเป็นเรื่องราวใหญ่โต และทางเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ตามคดีให้ จนสามารถจับกุมตัวคนร้ายได้ทั้งหมด แต่ภายหลังกลับมีคนออกมาเปิดเผยว่าถูกนายธนบดีหลอกด้วยการลักทรัพย์ หรือฉ้อโกงรถยนต์เป็นจำนวนมาก ซึ่งหลายคนต่างตั้งคำถามว่าคนอายุเพียงเท่านี้ทำไมถึงกล้าหลอกคนอื่นได้มากมายเพียงนี้ ล่าสุด (10 ส.ค.) นายแบงค์ หนึ่งในผู้ที่เคยเป็นเหยื่อของนายธนบดี ที่เป็นนักศึกษาอยู่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ใน กทม. เปิดเผยว่า เมื่อประมาณเดือนสิงหาคม 2559 ตนได้ทำอาชีพเสริมเป็นโมเดลลิ่งหารถให้กองถ่ายละครเช่า ขณะนั้นได้ไปเสนอรถโบราณให้กองละครแห่งหนึ่งเช่า แต่เสนอราคาแล้วไม่ผ่าน เพราะเรียกราคาสูงเกินไปวันถัดมานายธนบดีก็โทรศัพท์มาหาตน แล้วบอกว่า "ผู้กำกับให้ราคาผ่านแล้วนะ " ราคาอยู่ที่ 35,000 บาท ตนจึงตกลง แต่นายธนบดีมัดจำตนไว้แค่ 10,000 บาท ด้วยวิธีการฝากเงินสดเข้าบัญชี
รถที่นายแบงค์ ให้นายธนบดีเช่าเพื่อใช้ในกองถ่ายละคร
วันรุ่งขึ้น ตนก็ได้ให้เพื่อนไปเอาเงินส่วนที่เหลือ เพราะตนไม่สะดวกในการเดินทางไป ซึ่งเพื่อนเล่าให้ฟังว่า นายธนบดีเข้ามาโอ้อวดว่าเป็นลูกหลานคนดัง จนกระทั่งได้เวลาเลิกกอง เพื่อนจึงเข้าไปทวงเงิน แต่นายธนบดีกลับอ้างว่า "เดี๋ยวโอนเงินให้ เพราะจะออกไปเอารถแลมโบกินี่" ต่อมา นายธนบดีก็ได้ส่งโลเคชั่นมาให้ตนในไลน์จึงโทรไปย้ำอีกครั้งว่า "อยู่ไหน คืนเงินมา" นายธนบดีโทรมาบอกว่า "เดี๋ยวพรุ่งนี้โอนให้ พอดีไม่ว่าง กินข้าวกับผู้ใหญ่อยู่" จากนั้นนายธนบดีก็หายไป พอถามทางกองละคร กลับบอกว่านายธนบดี ให้เช่ารถคันดังกล่าวในราคา 2 หมื่น ซึ่งตนก็รู้ว่าโดนหลอกเสียแล้ว หลังจากที่ตนเห็นข่าวว่านายธนบดีถูกอุ้ม ก็ไม่เชื่อว่านายธนบดีจะถูกอุ้ม ซึ่งยอมรับว่าตนก็เคยไปตามหาตัวนายธนบดีเช่นกัน เพื่อให้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมนายธนบดีไป แต่เมื่อไปตามหาก็ไม่พบตัว ภายหลังจึงเข้าแจ้งความดำเนินคดีไว้ที่ สน.หนองแขม ส่วนที่ตนออกมาเปิดเผยหน้าตาเพราะตนก็ไม่อยากปิดบัง และอยากให้นายธนบดีถูกจับเสียที สำหรับเหยื่อคนที่ 2 คือ คุณมินิ บอกว่า รู้จักนายธนบดีผ่านเฟซบุ๊ก ซึ่งตนเป็นคนชอบไหว้พระทำบุญ และนายธนบดีก็ชอบมาไลค์รูปภาพ พร้อมแสดงความคิดเห็นในภาพที่เธอไปไหว้พระ ว่า "ชอบทำบุญเหมือนกัน" วันเกิดเหตุนายธนบดีชวนไปออกทริปทำบุญกันเป็นกลุ่ม ระหว่างช่วงที่ทำบุญกันอยู่ถูกธนบดีขโมยเงินในกระเป๋าไปประมาณ 8,000 บาท พอตนรู้ก็ได้ทักไลน์ไปหายนายธนบดีว่า "ได้ขโมยเงินไปหรือไม่" นายธนบดีก็บอกว่า "ใช่ครับ เอาเงินไป ขอยืมหน่อย " ตนจึงตอบไปว่า "แบบนี่ที่บ้านไม่ได้เรียกว่ายืม เขาเรียกว่าขโมย " แต่นายธนบดีบอกอีกว่า เดี๋ยวโอนเงินคืนให้ แต่ผลสุดท้ายก็ไม่ได้รับเงินคืน แต่ก่อนที่นายธนบดีได้หายไป นายธนบดีเคยได้นั่งรถ BMW ที่ตนขับพร้อมถ่ายรูป จนตนมาเห็นในภายหลังว่า นายธนบดีเเอบอ้างว่ารถคันดังกล่าวเป็นของตัวเองอีกด้วย คุณมินิ บอกอีกว่า ส่วนตัวมองว่านายธนบดีเป็นคนที่ชอบอวดอ้างว่ารู้จักกับคนดัง เพื่อเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือ พร้อมอยากฝากบอกนายธนบดีว่า การที่ตนกล้าเปิดเผยตัวตน  เพราะไม่อยากให้ไปทำเหตุการณ์เช่นนี้กับใครอีก ยอมรับว่าคนแบบนายธนบดีพูดดี ๆ คงไม่รู้เรื่อง ส่วนคุณ ยิป ผู้เสียหายรายเเรก เล่าให้ฟังว่า ตนรู้จักกับนายธนบดีผ่านเฟซบุ๊กเมื่อ 2 ปีที่แล้ว โดยนายธนบดีก็มีท่าทีที่จะเข้ามาจีบ และมีการชวนไปทำบุญที่วัดเทวราชกุญชร พร้อมขับรถฮอนด้า แจ๊สมารับ ระหว่างทำบุญ ตนก็ได้เอาโทรศัพท์ไว้ที่บริเวณรักแร้ ทางนายธนบดีก็ยืนไหว้อยู่ข้าง ๆ ด้วยท่าทีที่มีพิรุธ เหมือนกำลังคอยอะไรสักอย่าง และนายธนบดีพูดกับตนว่า "เอาโทรศัพท์มา เดี่ยวหล่น" ตนจึงฝากโทรศัพท์ไว้ เมื่อหันไปดูอีกครั้งก็ไม่เห็นนายธนบดี สำหรับทรัพย์สินที่ถูกนายธนบดีขโมยไปนั้น ก็มีเงินสด เครื่องสำอาง และโทรศัพท์ไอโฟน รวมมูลค่ากว่า 50,000 บาท จึงได้เข้าไปแจ้งความที่ สน.ดุสิต ยอมรับว่า ตนไม่คิดมาก่อนว่าต่อหน้าพระจะมีคนกล้าทำบาป พร้อมยืนยันว่าตนกับนายธนบดี ไม่ได้มีความสัมพันธ์ใด ๆ ทั้งสิ้น และคิดว่าภายหลังที่มีเหยื่อออกมาเปิดเผยตัวตน ชีวิตของนายธนบดีก็คงจะมีความสุขอยู่ เพราะอาจจะคิดว่าตัวเองไม่ผิด ทางคุณ บลู ผู้เสียหาย บอกว่า ตนรู้จักกับนายธนบดี ผ่านทางเฟซบุ๊กมาเป็นระยะเวลากว่า 2 ปีแล้ว ซึ่งวันที่เกิดเรื่องคือวันที่ 2 มี.ค. 59 ตนได้โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กว่า อกหักเสียใจจากแฟนเก่า จากนั้นนายธนบดีก็มาแสดงความคิดเห็น ว่า “ไหวไหม”, “อยู่ไหน” แล้วทักมาทำนองปลอบใจ ก่อนถามว่า “ทำอะไรอยู่” ตนก็ตอบว่า “อยากไปเที่ยว” นายธนบดีก็ตอบว่า “ไปอัมพวาไหม มีญาติเป็นเจ้าของรีสอร์ทอยู่ เดี๋ยวไปรับ” ตนก็ “โอเค” และชวนไปเที่ยวอัมพวา ระหว่างทางขับรถ นายธนบดีก็ถามตนว่า "มีเงินในบัญชีกี่บาท" ตนก็ตอบว่า "ไม่รู้"
ข้อความแชทที่นายธนบดี ส่งให้ผู้เสียหาย
พอถึงห้องพัก นายธนบดีก็ได้ซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากินที่บริเวณหน้าห้องพัก ตนก็ขอตัวไปเข้าห้องน้ำในห้องพัก แล้วได้วางกระเป๋าที่มีกล้อง เเละเงินสดไว้ที่หน้ากระจก ส่วนโทรศัพท์ไอโฟนก็ได้ชาร์จแบตไว้ที่หัวนอน ก่อนจะเข้าไปทำธุระส่วนตัวในห้องน้ำ พอออกมาก็ได้เดินไปดูโทรศัพท์ กระเป๋าเงิน และกล้อง ก็ไม่พบแล้ว จึงได้ออกมาดูที่บริเวณหน้าห้อง และบริเวณลานจอดรถ ก็ไม่พบตัวนายธนบดีแล้ว จึงได้ไปลงบันทึกประจำวันไว้ที่ สภ.อัมพวา โดยรวมมูลค่าความเสียหาย เป็นจำนวนเงิน 43,000 บาท ทางด้านน้องสาวผู้เสียหาย คือ คุณโย บอกว่า หลังจากที่รู้ว่าผู้เสียหายได้หลอกเอาเงิน และทรัพย์สินของทางพี่สาวตนไป ก็ได้ไปสืบค้นข้อมูลทะเบียนราษฎร์ จนสามารถเจอตัว แล้วโพสต์ข้อความเพื่อเป็นการเตือนภัยกับประชาชน จนวันที่ 2 เม.ย.59 ได้รับการติดต่อจากนายธนบดีว่า “คืนของแล้วจบเรื่องได้ไหม” ตนก็บอกว่า “ได้ แต่ต้องคืนให้หมดนะ ไม่เอาเรื่องก็ได้” ภายหลังทางเจ้าหน้าที่ได้โทรศัพท์หาพ่อแม่ของธนบดี พร้อมบอกว่า “มีนไปทำอีกแล้วหรือ ที่บ้านไม่เอาแล้ว ติดต่อมีนก็ไม่ได้” จากนั้น ก็มีการทำสำนวนคดี แต่ก็ยังไม่ได้ไปถ่ายสถานที่เกิดเหตุ เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจบอกว่าติดธุระ จึงต้องกลับบ้านมา จากนั้นก็ไม่ได้ติดต่อกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจอีก นายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ทนายความชื่อดัง กล่าวถึงกรณีนี้ว่า จากการติดตามข่าวตลอดช่วงระยะที่ผ่านมา นายธนบดีนั้นไม่ได้ก่ออาชญากรรมที่เป็นอันตรายต่อชีวิต แต่เป็นอันตรายต่อทรัพย์สินมากกว่า ซึ่งความผิดเหล่านี้ต้องรับโทษฐานฉ้อโกง, ลักทรัพย์, หรือยักยอกทรัพย์ ซึ่งมีโทษน้อย คือจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งการจะรวมกลุ่มกันของผู้เสียหายเพื่อจะฟ้องร้องเอาผิดนายธนบดี นั้นไม่มีผลให้นายธนบดีได้รับอัตราโทษที่สูงขึ้น แต่ข้อดีของการมีผู้เสียหายเข้าไปแจ้งความจำนวนมาก ก็จะทำให้โทษที่ได้รับบวกเพิ่มไปตามจำนวนคดี พร้อมแนะนำให้ผู้เสียหายที่เคยถูกนายธนบดีหลอก ต้องรีบไปแจ้งความร้องทุกข์ หรือร้องกองปราบปราม เนื่องจากว่า อายุความของคดีลักษณะนี้ค่อนข้างสั้น คือแค่ 3 เดือน “เชื่อว่าธนบดีรู้เรื่องนี้ดีกว่าผู้เสียหาย ว่าอายุความมีแค่ 3 เดือน หากไม่มีการแจ้งความร้องทุกข์ เขาก็จะพ้นผิด เขาไม่ได้โง่ เขาฉลาดเพราะว่าเขาเคยขึ้นศาลในบางคดี เขารู้กฎหมาย จึงได้จ่ายค่าเสียหายให้กับผู้เสียหาย เพื่อขอเหตุบรรเทาโทษกับศาล ซึ่งศาลน่าจะรอลงอาญาให้ เขาจึงกลับมาก่อเหตุกับคนอื่น” อย่างไรก็ตาม ทนายรณณรงค์ ยังกล่าวทิ้งท้ายว่า คดีฉ้อโกง ส่วนใหญ่จำเลยมักจะจบไม่สวยสักคดี ตอนหลอกเขาก็มีเงินเที่ยวเงินกิน แต่เมื่อเข้าสู่กระบวนการศาล ศาลนั้นไม่โง่ ถ้าพิจารณาแล้วว่าเป็นพวก 18 มงกุฎก็จะเอาเข้าคุกทันที

advertisement

ข่าวยอดนิยม

ข่าวที่ได้รับความสนใจ