ลำน้ำหลายสายที่จังหวัดนครพนมเริ่มล้นตลิ่ง เข้าท่วมพื้นที่ลุ่มและพื้นที่ทางการเกษตรแล้วกว่าหมื่นไร่
วันที่ 18 กันยายน 2566 ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดนครพนม รายงานสถานการณ์น้ำท่วม ยังคงต้องเฝ้าระวังต่อเนื่องลำน้ำสาขาสายหลัก เนื่องจากยังคงมีฝนตกต่อเนื่องในพื้นที่ โดยเฉพาะลำน้ำก่ำ ที่รองรับน้ำจากทะเลสาบหนองหาร จ.สกลนคร ที่เกินความจุแล้ว ก่อนระบายลงสู่ลำน้ำก่ำ เป็นระยะทางยาวกว่า 120 กิโลเมตร โดยไหลผ่าน อ.วังยาง อ.นาแก จ.นครพนม ลงสู่น้ำโขงที่ประตูระบายน้ำธรณิศนฤมิต ต.น้ำก่ำ อ.ธาตุพนม จ.นครพนม
ทั้งนี้ลำน้ำก่ำได้ไหลมาบรรจบกับลำน้ำบัง ที่บ้านปากบัง ต.พิมาน อ.นาแก จ.นครพนม ก่อนรวมเป็นลำน้ำสายเดียวกันไหลลงน้ำโขง ได้เริ่มส่งผลกระทบน้ำล้นตลิ่ง เอ่อเข้าท่วมพื้นที่ลุ่ม และการเกษตร ในส่วนของพื้นที่ ต.พิมาน อ.นาแก คาดว่ามีน้ำท่วมพื้นที่การเกษตรนาข้าว และได้รับผลกระทบแล้วกว่า 2,000 ไร่ นอกจากนี้ในส่วนของพื้นที่ อ.วังยาง และ อ.นาแก ที่อยู่ติดกับลำน้ำก่ำ คาดมีพื้นที่นาข้าวได้รับผลกระทบจมน้ำนับ 10,000 ไร่ หากมีฝนตกลงมาต่อเนื่อง และมีการระบายน้ำจากพื้นที่ทะเลสาบหนองหาร จ.สกลนคร จะทำให้นาข้าวเสียหายหนักเพิ่ม
โดยทางชลประทานนครพนม ได้มีการเปิดประตูระบายน้ำในลำน้ำก่ำ รวม 5 จุดให้มากที่สุด เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่เสี่ยง ในขณะที่ อบต.พิมาน อ.นาแก ได้แจ้งเตือนพี่น้องประชาชนในพื้นที่เสี่ยง บ้านปากบัง ต.พิมาน อ.นาแก เก็บสิ่งของขึ้นที่สูง พร้อมจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวัง ดูแลให้ความช่วยเหลือ 24 ชั่วโมง หากเกิดน้ำท่วมฉับพลัน
ด้าน นายบัญชา ศรีชาหลวง นายก อบต.พิมาน เปิดเผยว่า สำหรับพื้นที่บ้านปากบัง รวมถึงพื้นที่บ้านพิมาน ต.พิมาน อ.นาแก ยังคงต้องเฝ้าระวังต่อเนื่อง เกี่ยวกับปัญหาน้ำท่วมฉับพลัน เนื่องจากตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ยังคงมีฝนตกลงมาต่อเนื่อง อีกทั้งเจอผลกระทบจากทะเลสาบหนองหาร จ.สกลนคร ที่มีปริมาณเกินความจุ จึงได้ไหลระบายลงสู่น้ำก่ำ เพื่อไหลลงแม่น้ำโขงให้มากที่สุด และได้กระทบต่อพื้นที่รวมน้ำสองสาย คือ ลำน้ำก่ำ กับ ลำน้ำบัง ที่บ้านปากบัง ต.พิมาน อ.นาแก คือมีมวลน้ำจำนวนมากเริ่มเอ่อล้นตลิ่ง จึงต้องแจ้งเตือนพี่น้องประชาชน ในพื้นที่เฝ้าระวัง 24 ชั่วโมง ควรเก็บสิ่งของขึ้นที่สูง
โดยในส่วนของ อบต.พิมาน ได้จัดเจ้าหน้าที่เตรียมพร้อม เพื่อให้การช่วยเหลือตลอดเวลา หากเกิดกรณีน้ำท่วมสูง เนื่องจากบ้านปากบังเป็นพื้นที่น้ำท่วมทุกปี เพราะเป็นจุดรวมน้ำ หนักสุดคือปี 2560 ระดับน้ำท่วมหมู่บ้านสูงกว่า 2 เมตร จนต้องอพยพชาวบ้านออกจากพื้นที่ และส่งผลกระทบนานกว่า 1 เดือน จึงต้องมีการเตรียมพร้อมรับมือตลอดเวลา เพราะยังมีฝนตกลงมาต่อเนื่อง อาจทำให้เกิดความเสี่ยงน้ำท่วมซ้ำ