ชาวพิษณุโลกแห่ขบวนถวายดอกบัว 12,999 ดอก เนื่องในโอกาส พระพุทธชินราช ครบรอบ 666 ปี

6 มิ.ย. 66

ประชาชนชาวจังหวัดพิษณุโลกและนักท่องเที่ยว ร่วมขบวนถวายดอกบัว 12,999 ดอก เนื่องในโอกาส พระพุทธชินราช ครบรอบ 666 ปี

เมื่อเวลา 6 นาฬิกา วันที่ 6 เดือน 6 ปีพุทธศักราช 2566 ที่บริเวณพระราชวังจันทร์ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก หม่อมหลวงสราลี กิติยากร พร้อมด้วย นายภูสิต สมจิตต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก และ หัวหน้าส่วนราชการ ประชาชนชาวจังหวัดพิษณุโลกจำนวนนับพันคน พร้อมใจกันสวมใส่เสื้อผ้าชุดขาว และนำเอาดอกบัวที่ทุกคนได้พร้อมใจกัน ช่วยกันพับจำนวน 12,999 ดอก มากิจกรรมจัดริ้วขบวนแห่ดอกบัวที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหารหรือวัดใหญ่ เพื่อเป็นพุทธบูชาเนื่องในโอกาส พระพุทธชินราช พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ คู่บ้านคู่เมืองพิษณุโลก ที่ในปีนี้ครบรอบ 666 ปี

1686020501790

นอกจากนี้ยังมีการรำมังคละเภรีศรีสองแควซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยว Faith & Farm 2023 เที่ยวเมืองพุทธศิลป์ เยือนถิ่นวัฒนธรรม อร่อยล้ำผลไม้ไทย ที่จัดขึ้นโดย นางศศิวัณย์ ศรีพรหม ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวพิษณุโลก ร่วมกับ จังหวัดพิษณุโลก สำนักงานวัมนธรรมจังหวัดพิษณุโลก และภาคีเครือข่าย หน่วยงานภาครัฐและเอกชนจำนวนมาก เพื่อเฉลิมฉลองการครบรอบ 666 ปีของการสร้างองค์พระพุทธชินราช เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงความศรัทธา และประวัติศาสตร์ และการท่องเที่ยวเชิงเกษตร เพื่อนำรายได้ส่วนหนึ่งสนับสนุนนักเรียน นักศึกษาที่เรียนดีแต่ยากจนจากมูลนิธิจ่าทวี บูรณะเขตต์ ซึ่งหลังจากนี้ จะมีพิธีพุทธาภิเษกพระพุทธชินราชจำลอง ณ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี และกิจกรรมลงนามความร่วมมือ ด้านการท่องเที่ยวและด้านสินค้าทางการเกษตรในจังหวัดพิษณุโลกกับต่างประเทศด้วย

1686020592815

พระพุทธชินราช ปรากฏหลักฐานในพงศาวดารเหนือว่า สร้างขึ้นในปีพุทธศักราช 1900 โดย พระมหาธรรมราชา ที่ 1 พญาลิไท พระมหากษัตริย์แห่งราชธานีสุโขทัย ในขณะที่ประทับอยู่เมืองพิษณุโลก 7 ปี พระองค์ทรงมีพระราชศรัทธาเลื่อมใส ในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ปรากฏว่าในสมัยพระองค์นั้น พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก เป็นยุคทองของพระพุทธศาสนา มีวัดวาอารามมากมาย มีพุทธศิลป์ที่วิจิตรงดงามอลังการ

1686020554535

พระพุทธชินราช มีลักษณะทางพุทธศิลป์ พระเกศรัศมียาวเป็นเปลวเพลิง พระเกศาขดเป็นก้นหอยขนาดใหญ่ วงพระพักตร์ค่อนข้างกลมไม่ยาวรีเหมือนผลมะตูมเช่นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยหมวดใหญ่ มีพระอุณาโลมผลิกอยู่ระหว่างพระขนง พระวรกายอวบอ้วนมีสังฆายาวปลายหยักเป็นเขี้ยวตะขาบฝังด้วยแก้ว นิ้วพระหัตถ์ทั้งสี่ยาวเสมอกัน ฝ่าพระบาทแบนราบค่อนข้างแคบเมื่อเทียบกับพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยหมวดใหญ่ เส้นพระบาทยาว มีรูปอาฬวกยักษ์และรูปท้าวเวสสุวัณหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์เฝ้าอยู่ที่พระเพลาเบื้องขวาและซ้ายขององค์ตามลำดับ มีซุ้มเรือนแก้วและสลักด้วยไม้สักลงรักปิดทองประดับเบื้องพระปฤษฎางค์ปราณีตอ่อนช้อยช่วยเน้นให้พระวรกายของพระพุทธชินราชมีความงดงามยิ่งขึ้น

advertisement

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส