ทันตแพทยสภา แถลงข่าวลุงถอนฟัน 12 ซี่ ก่อนจะเสียชีวิต เหตุติดเชื้อในกระแสเลือด จากฟันผุ
แถลงการณ์ทันตแพทยสภา กรณีผู้ป่วยเสียชีวิตภายหลังเข้ารับการรักษาโรคประจำตัวและถอนฟัน โดยระบุว่า
ทันตแพทยสภาได้รับทราบข่าวการเสียชีวิตของผู้ป่วยภายหลังการเข้ารักษาโรคประจำตัวและการถอนฟันจำนวน 12 ซี่ ตามที่ปรากฏในสื่อต่างๆ ทันตแพทยสภาขอแสดงความเสียใจเป็นอย่างยิ่งกับครอบครัวของผู้เสียชีวิต
ทันตแพทยสภาให้คุณค่ากับความปลอดภัยของผู้ป่วยและการปฏิบัติตามมาตรฐานของวิชาชีพเป็นเป้าหมายที่สำคัญอย่างยิ่งในการทำหน้าที่ดูแลทันตแพทย์ เพื่อให้ทันตแพทย์ดูแลประชาชนอย่างมีคุณภาพ ทันตแพทยสภาจึงมุ่งติดตามประเด็นนี้ และกำลังรวบรวมข้อมูลเพื่อการตรวจสอบว่าบริการทันตกรรมที่เกิดขึ้นสอดคล้องกับหลักวิชาการและมาตรฐานการประกอบวิชาชีพหรือไม่ ขณะนี้ทันตแพทยสภากำลังทำงานร่วมกันกับผู้เชี่ยวชาญจากราชวิทยาลัยทันตแพทย์แห่งประเทศไทย และ โรงพยาบาลที่ให้การดูแลผู้ป่วย เพื่อให้เกิดความชัดเจนต่อสถานการณ์มากยิ่งขึ้น
ในเบื้องต้น ทันตแพทย์จำเป็นต้องเข้าไปดูแลผู้ป่วย เนื่องจากผู้ป่วยมีภาวะติดเชื้อในกระแสโลหิตที่เป็นไปได้ว่ามีแหล่งของเชื้อมาจากฟันผุและฟันที่เป็นโรคปริทันต์อักเสบจำนวนหลายซี่ ดังนั้น ทันตแพทย์จึงได้ถอนฟันที่มีปัญหาเพื่อกำจัดแหล่งกำเนิดของเชื้อโรคออก อย่างไรก็ตาม รายละเอียดของการประกอบวิชาชีพทันตกรรมนั้น ทางทันตแพทยสภาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะนำเสนอให้ทุกท่านทราบต่อไป และหากพบการประกอบวิชาชีพที่ขัดต่อมาตรฐาน ทันตแพทยสภาจะเร่งดำเนินการอย่างเหมาะสม
อย่างไรก็ดี ในระหว่างกระบวนการรวบรวมข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นนั้น ทันตแพทยสภาใคร่ขอให้สาธารณชนเคารพความเป็นส่วนตัวของผู้ที่เกี่ยวข้องซึ่งจะช่วยลดผลกระทบต่อครอบครัวผู้สูญเสียและผู้เกี่ยวข้อง และเคารพหลักการข้อมูลที่ครบถ้วน สอดคล้องกับหลักวิชาการ เพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพที่ถูกต้องอย่างรอบด้าน ในการนี้ ผู้เชี่ยวชาญสาขาศัลยศาสตร์ช่องปากและแมกซิลโลเฟเชียล ราชวิทยาลัยทันตแพทย์แห่งประเทศไทยจึงได้เตรียมข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญที่ตอบต่อข้อสงสัยของประชาชนที่ถามในโซเชียลมีเดีย ดังปรากฏในเอกสารแนบ
ทันตแพทยสภาจะเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงเเละแถลงข้อมูลที่ถูกต้องแก่ประชาชน ทั้งจะกำกับเเละดูเเลจริยธรรมกับทันตแพทย์เพื่อดำรงไว้ซึ่งมาตรฐานวิชาชีพเเละเป็นที่พึ่งของสังคม
ทันตแพทยสภาและราชวิทยาลัยทันตแพทย์แห่งประเทศไทย
27 พฤษภาคม 2566
1. ถอนฟัน 12 ซี่ มากไปไหม ?
ตอบ: ในกรณีที่มีข้อบ่งชี้ของฟันที่จำเป็นจะต้องได้รับการถอนอย่างรีบด่วน เช่น มีการติดเชื้อจากฟันและมีการลุกลามหรือมีโอกาสลุกลามไปยังบริวณเนื้อเยื่อรอบข้างที่มีความเสี่ยงต่อการทำให้เกิดภยันตรายร้ายแรง เช่น การกดการหายใจ หรือกรณีการติดเชื้อในกระแสเลือดที่อาจจะมีสาเหตุมาจากฟัน นอกจากนี้ยังมีกรณีที่ผู้ป่วยต้องได้รับการเตรียมช่องปากก่อนการฉายรังสีให้เคมีบำบัด เพื่อรักษาโรคมะเร็ง หรือต้องได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ ที่มีความจำเป็นต้องได้รับการถอนพร้อมกันหลายๆ ซี่ ภายในระยะเวลาที่จำกัดเนื่องจากถ้าล่าช้า (แบ่งถอนหลายครั้ง) จะส่งผลเสียต่อผู้ป่วยที่รอรับการรักษาทางการแพทย์เป็นต้น โดยการถอนฟันสามารถทำได้ปกติในผู้ป่วยที่มีร่างกายแข็งแรง ส่วนในกรณีผู้ป่วยมีโรคประจำตัวบางอย่างที่อาจจะต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ควรจะรับการถอนฟันในโรงพยาบาลหรือจำเป็นต้องได้รับการนอนโรงพยาบาลเพื่อดูแลหลังการถอนฟันอย่างไกล้ชิด
2. ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว สามารถถอนฟันได้ไหม?
ตอบ: ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวที่ได้รับการควบคุมอยู่เป็นประจำสามารถถอนฟันได้ตามปกติ โดยทันตแพทย์ประเมินผลตรวจเลือด (ค่าแลป) ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโรคประจำตัวนั้นๆ ก่อนการถอนฟัน หรือบางกรณีจะส่งปรึกษาแพทย์ที่ดูแลโรคประจำตัวนั้นก่อนการถอนฟัน
3. ถอนฟันแล้วทำให้น้ำท่วมปอดได้อย่างไร?
ตอบ: การถอนฟันไม่มีความสัมพันธ์กับการเกิดน้ำท่วมปอดโดยตรง ภาวะน้ำท่วมปอดอาจจะเกิดได้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีโรคประจำตัว ที่ไม่ได้รับการควบคุมอย่างดี โดยเฉพาะโรคหัวใจ โรคไต เป็นต้น
4. สาเหตุที่ต้องถอน ? และการดูแลหลังถอน (เช่นการกัดผ้าก๊อซ)
ตอบ: สาเหตุของการถอนฟันหลักๆ จะมาจากสองโรคคือโรคฟันผุลุกลามที่ไม่สามารถทำการบูรณะได้ หรือ โรคเหงือกรุนแรง ที่มีการทำลายของอวัยวะปริทันต์และกระดูกรอบข้างจนไม่สามารถที่จะเก็บฟันได้ ซึ่งอาจนำไปสู่การติดเชื้อได้ ส่วนการดูแลแผลหลังถอนฟันปกติแล้วทันตแพทย์จะให้ผู้ป่วยกัดผ้าก๊อซเพื่อให้เลือดหยุดตามเวลาที่เหมาะสม แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถกัดผ้าก๊อซได้ หรือมีแนวโน้มเลือดออกมากกว่าปกติ ทันตแพทย์จะใช้สารห้ามเลือดหรือเย็บแผลเพื่อให้เลือดหยุด
5. การสื่อสารกับญาติผู้ป่วยเรื่องการรักษา
ตอบ: ทันตแพทย์จะอธิบายการรักษาให้กับผู้ป่วยโดยตรง ในกรณีที่ผู้ป่วยบรรนิติภาวะและมีสติสัมปชัญญะปกติ ไม่อยู่ในภาวะที่มึนเมาหรือมีภาวะทางจิตประสาท ในกรณีผู้ป่วยเป็นเด็กที่ยังไม่บรรจุนิติภาวะหรือเป็นผู้ป่วยที่ไม่มีสติสัมปชัญญะปกติจำเป็นจะต้องสื่อสารกับญาติของผู้ป่วยก่อนการถอนฟัน ยกเว้นกรณีฉุกเฉินที่จำเป็นต้องรีบทำโดยเร่งด่วน เพื่อรักษาชีวิตผู้ป่วย เช่น การติดเชื้อ หรือมีโอกาสติดเชื้อรุนแรงจากฟัน หรือกรณีฟันที่ไม่สามารถบูรณะและอยู่ในตำแหน่งกระดูกขากรรไกรหัก จากอุบัติเหตุ เป็นต้น
ทันตแพทยสภาและราชวิทยาลัยทันตแพทย์แห่งประเทศไทย
27 พฤษภาคม 2566