ฮิตเทรนด์ใหม่ร่มติดจยย.คนใช้ทั่วเชียงราย ทนายดังชี้ระวังตร.เจอส่อจับ - ปรับ (คลิป)

15 ก.ค. 60
หากใครมีโอกาสผ่านไปแถวอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย หรือจะข้ามชายแดนไปยังประเทศเมียนมา จะเห็นรถจักรยานยนต์ที่มีโครงหลังคาหลากสีสัน ขับขี่สวนกันไปมาเป็นจำนวนมาก สร้างความสะดุดตาแก่ผู้พบเห็น ทั้งนี้จากการสอบถาม ตรวจสอบพบว่ารถเหล่านี้ได้มีการติดอุปกรณ์ที่เรียกว่า ร่มติดรถเพื่อใช้เป็นที่กันฝนในช่วงฤดูฝน โดยหลังคาจะเป็นพลาสติกที่มีสีสันและลวดลาย รูปทรงโค้งและมีปีกคล้ายหมวก ตัวโครงทำจากเหล็กและพลาสติกแท่ง ยึดตัวโครงด้านกระจกมองข้างและผูกกับท้ายรถจักรยานยนต์
เสาร์คำ ผู้ใช้ร่มติดรถ
ล่าสุด (14 ก.ค.) นางเสาร์คำ อายุ 26 ปี หนึ่งในผู้ใช้ร่มติดรถ กล่าวว่า ตนเพิ่งซื้อร่มติดรถมาใช้ประมาณ 1 สัปดาห์เพราะเห็นเพื่อนใช้ และคิดว่ามีความสะดวกกว่าการใช้ร่มในการขับขี่ เพราะไม่ต้องถือให้ปวดแขนหรือถูกลมพัดปลิวซึ่งสามารถกันฝนได้ดี และสามารถคลุมได้ทั้งคันแต่มีข้อเสียตรงที่จะเกะกะรถ ไม่สามารถขับไวได้ เพราะจะทำให้อุปกรณ์เสียหาย แต่ก็เป็นการดี เนื่องจากจะทำให้เพิ่มความปลอดภัยในการขับขี่ ทางผู้สื่อข่าวจึงทำการสำรวจตามแหล่งจำหน่ายว่า ร่มติดรถเหล่านี้มาจากไหน ซึ่งพบว่ามีจำหน่ายอยู่เป็นจำนวนมาก สามารถพบได้ตามร้านค้าเกือบทุกร้าน ในตลาดสายลมจอยและตลาดดอยเวา ที่อยู่บริเวณหน้าด่านพรมแดนแม่สาย น.ส.ซาง แสงสุข อายุ 26 ปี หนึ่งในแม่ค้าที่จำหน่ายร่มติดรถ บอกว่าร่มติดรถได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก มียอดจำหน่ายแต่ละร้านอย่างน้อย 20 -30 ชิ้นต่อวัน สินค้าทั้งหมดเป็นสินค้าที่ถูกนำเข้ามาจากประเทศจีน โดยนำมาขายได้ประมาณ 1 เดือน เริ่มแรกมีราคาจำหน่ายในราคา 500 - 600 บาท แต่ปัจจุบันมีการผลิตมากขึ้นและนำเข้ามามากราคาจึงถูกลง ตั้งแต่ราคา 280 - 400 บาท แต่ราคาขึ้นอยู่กับพ่อค้า แม่ค้า ว่าจะรับมาในราคาที่ถูกมากน้อยเพียงใด คุณภาพของสินค้าและวัสดุที่ใช้นั้นไม่เหมือนกัน และเป็นทางเลือกของลูกค้าที่จะซื้อไปใช้ เพราะถ้าราคาสูงผ้าคลุมก็จะหนาและโครงก็จะแข็งแรง ส่วนราคาถูกก็อาจจะบางและความทนน้อยจะน้อยกว่า
ซาง แสงสุข แม่ค้าที่จำหน่ายร่มติดรถ
ด้านทนายเกิดผล แก้วเกิด เผยว่า ประการแรก พรบ.จักรยานยนต์ระบุไว้ว่า รถจักรยานยนต์แต่ละประเภทมีการจดทะเบียนรถในรูปแบบใดก็ต้องปฏิบัติเช่นนั้น เมื่อมีการดัดแปลงสภาพต้องไปแจ้งต่อเจ้าพนักงาน ซึ่งต้องขออนุญาตและแจ้งต่อนายทะเบียน ถ้านายทะเบียนอนุญาตถึงจะทำได้ หากนายทะเบียนไม่อนุญาตก็ผิดกฎหมายอย่างแน่นอน และไม่สามารถใช้สัญจรบนถนนสาธารณะหรือทางหลวงได้
ทนายเกิดผล แก้วเกิด
การต่อเติมโครงหลังคาใส่จักรยานยนต์เช่นนี้ เป็นอันตรายเพราะโดยปกติสภาพของรถจักรยานยนต์ วิศวกรไม่ได้มีการออกแบบไว้ให้ต้านลมต้านฝน เพราะฉะนั้นโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุจึงเป็นไปได้มากกว่าเรื่องความปลอดภัย ส่วนกรณี ที่ผู้ขายนำจักรยานยนต์ดัดแปลงสภาพดังกล่าวมาขายนั้นผิดหรือไม่ ทนายเกิดผล เผยว่า ผู้ขายไม่ได้นำมาใช้บนท้องถนน แต่ผู้ซื้อที่นำมาใช้บนท้องถนนถึงผิด ถ้าเป็นรถของเราเอง เราสามารถทำอะไรก็ได้หากไม่นำมาใช้บนท้องถนน กรณีดังกล่าวจะผิดข้อกฎหมาย พรบ.นำรถดัดแปลงสภาพที่ไม่ได้แจ้งต่อนายทะเบียนมาใช้

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวที่ได้รับความสนใจ