ย้อนดู สถิติ “ยุบสภา” ของประเทศไทย กับเหตุผลของอดีตนายกฯ

20 มี.ค. 66

 

ย้อนดู สถิติ “ยุบสภา” ของประเทศไทย 15 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2481 จวบจน 2566 สืบเนื่องจากเหตุผลต่างๆ ทางการเมืองของเหล่าอดีตนายกฯ

สืบเนื่องจาก เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้มีการเผยแพร่พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566  

ทีมข่าว “อมรินทร์ทีวี ออนไลน์” จะพาคุณผู้อ่าน ย้อนรอยสถิติการ ยุบสภา ของประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2481-2566  ดังนี้ 

ครั้งที่ 1  วันที่ 11 ก.ย. 2481 ในรัฐบาล พันเอกพระยาพหลพลหยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากรัฐบาลขัดแย้งกับสภา เกี่ยวกับการเสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 

ครั้งที่ 2 วันที่ 14 ต.ค. 2488 ในรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากสภายืดอายุ หลังจากได้มี พ.ร.บ.ขยายกำหนดเวลาให้อยู่ในตำแหน่งต่ออีก 2 ครั้ง เนื่องจากไม่อาจจัดให้มีการเลือกตั้งในระหว่างสงครามขณะนั้นได้ ทำให้ ส.ส.ชุดดังกล่าวอยู่ในตำแหน่งนานเกินควร 

ครั้งที่ 3 วันที่ 16 ธ.ค. 2516 ในรัฐบาล นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากสมาชิกสภานิติบัญญัติลาออก เหลือ 11 คน จนไม่สามารถทำหน้าที่ของสภาได้ 

ครั้งที่ 4 วันที่ 12 ม.ค. 2519 ในรัฐบาล ม.ร.ว.ศึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี  เนื่องจากเกิดปัญหาความแตกแยก และขัดแย้งอย่างรุนแรงในคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นรัฐบาลผสม อันเป็นเหตุให้เกิดอุปสรรคในการบริหารราชการแผ่นดิน 

ครั้งที่ 5 วันที่ 19 มี.ค. 2526 ในรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงในปัญหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเปลี่ยนวิธีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประชาชนและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 

ครั้งที่ 6 วันที่ 1 พ.ค. 2529 ในรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี  เนื่องจากรัฐบาลขัดแย้งกับสภา กรณีการออก พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.การขนส่งทางบก พ.ศ.2522 

ครั้งที่ 7 วันที่ 29 เม.ย. 2531 ในรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเกิดความขัดแย้งภายในรัฐบาล ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความไม่มั่นคงในเสถียรภาพของรัฐบาล ส่งผลให้เกิดอุปสรรคในการบริหารราชการแผ่นดิน 

ครั้งที่ 8 วันที่ 30 มิ.ย. 2535 ในรัฐบาล นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากการเป็นรัฐบาลเฉพาะกิจเพื่อยุบสภา ภายหลังเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองในเดือน พ.ค.2535 

ครั้งที่ 9 วันที่ 19 พ.ค. 2538 ในรัฐบาล นายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเกิดความขัดแย้งในรัฐบาล จนไม่สามารถดำเนินการในทางการเมืองได้อย่างมีเอกภาพ ประกอบกับมีการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจเรื่องการออกเอกสารสิทธิให้ประชาชนเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.4-01)

ครั้งที่ 10 วันที่ 29 ก.ย. 2539 ในรัฐบาล นายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเกิดความขัดแย้งในรัฐบาล ภายหลังมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ระหว่างวันที่ 18-20 ก.ย. 2539 โดยฝ่ายค้านเน้นอภิปรายที่ตัวนายบรรหาร เรื่องประเด็นสัญชาติ เมื่อการอภิปรายสิ้นสุดลง ที่ประชุมพรรคร่วมรัฐบาลมีมติร่วมกันว่าจะขอให้นายบรรหาร ศิลปอาซา ลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งนายบรรหารประกาศจะลาออกภายใน 7 วัน โดยระหว่างนั้นจะพิจารณาบุคคลที่เหมาะสมขึ้นมาเป็นนายกฯ ก่อนจะเปลี่ยนใจประกาศยุบสภาในท้ายที่สุด

ครั้งที่ 11 วันที่ 9 พ.ย. 2543 ในรัฐบาล นายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากปฏิบัติภารกิจสำคัญแล้วเสร็จหรือลุล่วงลง โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาจากวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2540

ครั้งที่ 12 วันที่ 24 ก.พ. 2549 ในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากวิกฤติการณ์ทางการเมืองต่อการขับไล่นายกรัฐมนตรี จากข้อเรียกร้องในทางการเมือง และได้ขยายตัวไปอย่างกว้างขวาง ถึงแม้รัฐบาลขณะนั้นได้เปิดให้มีการอภิปรายโดยไม่มีการลงมติในที่ประชุมสภา ก็ไม่อาจแก้ไขปัญหาที่แตกต่างกันระหว่างผู้ชุมนุมเรียกร้องกับรัฐบาล

ครั้งที่ 13 วันที่ 10 พ.ค. 2554 ในรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากวิกฤติการณ์ทางการเมืองต่อการขับไล่นายกรัฐมนตรี ประกอบกับรัฐสภาได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ.2550 ไปเรียบร้อยแล้ว

ครั้งที่ 14 วันที่ 9 ธ.ค. 2556 ในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากวิกฤติการณ์ทางการเมืองต่อการคัดค้านการออกร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมในปี 2556

และครั้งที่ 15 วันที่ 20 มี.ค. 2566 ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากรัฐบาลใกล้ครบวาระการดำรงตำแหน่ง

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวการเมือง เป็นกระแส