องค์การนาซาเปิดภาพ ดาวหางสีเขียว โคจรใกล้โลกที่สุดในรอบ 5 หมื่นปี!

3 ก.พ. 66

องค์การนาซาเปิดภาพ ดาวหางสีเขียว โคจรใกล้โลกที่สุดในรอบ 5 หมื่นปี! ห่างจากโลกประมาณ 42 ล้าน 5 แสนกิโลเมตร

หลังจากที่นักดาราศาสตร์ประจำหอดูดาว “พาโลมาร์” ในเมืองซานดิเอโก รัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐอเมริกาได้ค้นพบ ดาวหางสีเขียว หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า ดาวหาง C/2022 E3 (ZTF) เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2565 และระบุว่าจะโคจรเข้าสู่ตำแหน่งใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด (Perihelion) เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา และโคจรเข้าใกล้โลกมากที่สุดระหว่างวันที่ 1-2 กุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งช่วงดังกล่าวสามารถสังเกตการณ์ดาวหางได้ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า ปรากฏอยู่ทางทิศเหนือ บริเวณกลุ่มดาวยีราฟ (CAMELOPARDALIS) ดูได้ยาวนานตลอดคืนจนถึงเช้ามืดก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น

ล่าสุด องค์การนาซา ได้มีการเผยภาพของ ดาวหางสีเขียว ออกมาให้ได้รับชมกัน ซึ่งโคจรเข้ามาใกล้โลกมากที่สุดในรอบ 5 หมื่นปี โดยมีระยะห่างจากโลกประมาณ 42 ล้าน 5 แสนกิโลเมตร ซึ่งครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในช่วงปลายยุคหินเก่า ตรงกับช่วงมนุษย์ยุคแรกเริ่มในยุคน้ำแข็ง

ดาวหาง C/2022 E3 (ZTF) เป็นดาวหางคาบยาว โคจรรอบดวงอาทิตย์หนึ่งในรอบใช้เวลาประมาณ 50,000 ปี ค้นพบเมื่อต้นเดือนมีนาคม 2565 โดยเครือข่ายกล้องตรวจท้องฟ้ามุมกว้าง Zwicky Transient Facility ในช่วงแรกวัตถุนี้มีค่าอันดับความสว่างปรากฏ 17.3 ก่อนจะสว่างขึ้นจนนักดาราศาสตร์ทราบว่าเป็นดาวหาง และเป็นเรื่องน่ายินดีที่มีความสว่างปรากฏเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนสามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่า

ทั้งนี้ นักดาราศาสตร์เรียกดาวหางสีเขียวดวงนี้ว่า “ก้อนหิมะสกปรก” เนื่องจากดาวหางเป็นลูกบอลน้ำแข็ง ประกอบด้วยฝุ่นและหิน ซึ่งมีส่วนประกอบของสารไดอะตอมมิก คาร์บอน และไซยาโนเจน

เนื่องจากดาวหางเคลื่อนที่ค่อนข้างเร็ว หลังจากวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นไปจะเปลี่ยนตำแหน่ง และโคจรห่างจากโลกไปเรื่อยๆ ทำให้ความสว่างค่อยๆ ลดลง แต่ยังคงสังเกตได้จนถึงประมาณสิ้นเดือนกุมภาพันธ์

advertisement

ข่าวยอดนิยม