เปิดสถิติ “เด็กหาย” เตือนภัยผู้ปกครอง ก่อนถึงงานวันเด็กเสาร์นี้!

13 ม.ค. 66

เปิดสถิติ “เด็กหาย” ปี 2565 กลับมาเพิ่มสูงขึ้นในรอบ 4 ปี เตือนภัยผู้ปกครอง ก่อนพาบุตรหลาน ออกเที่ยวงาน “วันเด็ก” เสาร์นี้

เด็กหาย” นับเป็นปัญหาสำคัญของสังคม ที่เกิดขึ้นทุกประเทศทั่วโลก สำหรับประเทศไทย แม้ว่าเด็กส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มสมัครใจหนีออกจากบ้านก็ตาม แต่การที่เด็กก้าวเท้าออกจากบ้าน ย่อมเกิดอันตรายได้รอบด้าน

ทั้งสวัสดิภาพและความปลอดภัย อาจเกิดการล่วงละเมิดทางเพศ หรือการแสวงหาผลประโยชน์กับเด็ก การมีความเสี่ยงต่อการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน อันนำมาซึ่งปัญหาสังคมในด้านอื่น ตลอดจนอาจตกเป็นผู้เสี่ยงหายจากการถูกค้ามนุษย์ 

 

เด็กหาย

 

นายเอกลักษณ์ หลุ่มชมแข หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา กล่าวว่า ช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2562-2564 สถานการณ์ “เด็กหาย” ลดลง แต่สถิติการหายของผู้สูงอายุเพิ่ม แต่ในปี 2565 หลังคลายล็อกดาวน์โควิด-19 สถานการณ์ “เด็กหาย”กลับมาเพิ่มสูงขึ้นจากปี 2564 เกือบ 25 % เฉลี่ยแล้วแต่ละปีมี “เด็กหาย” ไม่เคยต่ำกว่า 200 ราย

 

เด็กหาย
ข้อมูลจาก มูลนิธิกระจกเงา

 

ปัจจัยที่ทำให้ “เด็กหาย” อันดับแรกคือ สมัครใจหนีออกจากบ้าน ซึ่งไทยกับสหรัฐฯ มีสาเหตุใกล้เคียงกัน รองลงมาคือ กลุ่มเด็กที่มีพัฒนาการช้า มีความพิการทางสติปัญญา หรือป่วยทางจิตเวช และมีเด็กถูกลักพาตัว ถูกล่อลวงตามลำดับ

สาเหตุที่ทำให้ “เด็กหาย” จากสถิติพบว่า จะมีการนัดพบกับคนรู้จักในโลกออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก ติ๊กต๊อก อินสตาแกรม  หรือแอพพลิเคชั่นหาคู่ โดยที่ผู้ปกครองปล่อยเด็กไว้กับโทรศัพท์ และเทคโนโลยี

 

เด็กหาย
ข้อมูลจาก มูลนิธิกระจกเงา

 

ส่วนสาเหตุที่ทำให้เด็กออกจากบ้าน คือ 1.ปัญหาครอบครัวแตกแยก 2.ติดโซเชียล 3. ชู้สาว และ 4.ติดเพื่อน

ช่วงอายุ “เด็กหาย” มากที่สุดในปี 2565 ช่วงวัย 11.15 ปี รองลงมา 16-18 ปี และ0-10 ปี ตามลำดับ

 

เด็กหาย
ข้อมูลจาก มูลนิธิกระจกเงา

 

ส่วน 7 จังหวัดที่มี “เด็กหาย” มากที่สุดได้แก่ 1.กทม. 2.นนทบุรี 3.สมุทรปราการ 4.ปทุมธานี 5.ชลบุรี 6.นครปฐม และ 7.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งพื้นที่เหล่านี้ล้วนเป็นพื้นที่เศรษฐกิจ จึงมีการวิเคราะห์ว่าผู้ปกครองอาจไม่มีเวลาดูแลบุตรหลาน

สิ่งที่ต้องทำทันทีเมื่อ “เด็กหาย” คือ 1.ตรวจสอบแหล่งน้ำ ป่ารกร้างทันทีในชุดที่เด็กไป 2.แจ้งความทันที ไม่ต้องรอหายครบ 24 ชั่วโมง 3.ตำรวจต้องรับแจ้งความ และลงพื้นที่ตรวจสอบทันที 4.ตรวจสอบกล้องวงจรปิดในพื้นที่ก่อนภาพจะลบ และ 5.ตรวจสอบทันทีมีใครอยู่บ้างตอนเด็กหายไป

 

เด็กหาย
ข้อมูลจาก มูลนิธิกระจกเงา

 

ปัจจุบันทางมูลนิธิกระจกเงา ได้ทำริชแบรนด์ “หาย (ไม่) ห่วง” ซึ่งมีคิวอาร์โค้ด ลงทะเบียนไว้เหมือนป้ายทะเบียนรถ และมีหมายเลขสายด่วนที่มีเจ้าหน้าที่รับสายตลอด 24 ชั่วโมง

ขณะที่ พล.ต.ต.ศารุติ  แขวงโสภา ผู้บังคับการกองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ กล่าวว่า “เด็กหาย” สามารถแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทันที ไม่ต้องรอให้ครบ 24 ชั่วโมง เพราะหากแจ้งความเร็วก็จะเป็นผลดีในการติดตามตัวเด็กได้ ซึ่งทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ออกคำสั่งนี้ไปยังหน่วยงานภายใต้สังกัดทั่วประเทศแล้ว สำหรับพื้นที่เด็กหายส่วนใหญ่จะเป็นบริเวณหน้าบ้าน บริเวณใกล้เคียงบ้าน หรือสนามเด็กเล่นภายในโรงเรียน เป็นต้น

พล.ต.ต.ศารุติ กล่าวต่อว่า สำหรับการจัดงาน “วันเด็กแห่งชาติ” ปีนี้เป็นปีแรก ภายหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลายลง เชื่อว่าจะมีผู้ปกครองจำนวนมากพาบุตรหลานออกมาเที่ยว ดังนั้นสิ่งที่ผู้ปกครองต้องเตรียมตัวก่อนพาลูกเที่ยวคือ 1.ต้องทราบรูปพรรณของลูก ส่วนสูง น้ำหนัก สีเสื้อผ้า 2. ทำป้ายชื่อและเบอร์ติดต่อครอบครัวติดตัวเด็กไว้ หรือติดต่อขอสายรัดข้อมือริชแบรนด์กับทางมูลนิธิฯได้ 3.ถ่ายรูปล่าสุด พร้อมชุดที่ลูกสวมใส่ก่อนออกจากบ้าน 4.สอนลูกว่า หากตกอยู่ในอันตราย มีคนจูงมือไปให้ตะโกนขอความช่วยเหลือ 5.สอนลูกว่าหากพลัดหลงจะนัดเจอกันจุดไหน และขอความช่วยเหลือกับใคร

 

เด็กหาย
ข้อมูลจาก กองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์

 

โดยเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 8 ปี ผู้ปกครองควรดูแลใกล้ชิด นอกจากนี้ขอแนะนำสถานที่จัดงานวันเด็ก จัดตั้งกองอำนวยการฯ เป็นจุดให้ความช่วยเหลือผู้ปกครองและเด็กที่พลัดหลงกันในงาน และควรมีเจ้าหน้าที่ดูแลด้วย

อย่างไรก็ตาม “เด็กหาย” ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะปัญหายังมีอยู่ และเริ่มมีแนวโน้มสูงขึ้น ดังนั้นเราต้องร่วมกันสร้างการรับรู้ต่อสังคม

 

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม