เปิดที่มา “งานวันเด็กแห่งชาติ”  ทำไม “นายกรัฐมนตรี” ต้องมอบคำขวัญ

11 ม.ค. 66

 

เปิดประวัติที่มา “งานวันเด็กแห่งชาติ”  ทำไม “นายกรัฐมนตรี” ต้องมอบคำขวัญ หวังกระตุ้นเด็กตระหนักบทบาทตัวเอง เตรียมพร้อมเป็นกำลังของชาติ

วันที่เด็กๆ ตั้งหน้าตั้งตารอคอยของทุกปี คงหนีไม่พ้น “วันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคมของทุกปี” กับ “งานวันเด็กแห่งชาติ”

ที่หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรต่างๆ ทั้งส่วนกลาง และส่วนภูมิภาคต่างพร้อมใจให้ความสำคัญกับเด็ก และจัดงานขึ้น มีกิจกรรมสนุกๆ มากมายที่ให้เด็กวัยฟันน้ำนม ได้ตื่นตาตื่นใจ กับของรางวัลที่นำมาแจก ทั้งตุ๊กตา ของเล่น รถจักรยาน แถมยังอิ่มท้องได้กินแต่ของอร่อยๆ ไม่ว่าจะขนม นม เนย ไอศกรีมครบเครื่อง

วันเด็ก

และในทุกๆ ปี “นายกรัฐมนตรีของไทย” ก็จะมอบคำขวัญวันเด็กตามธรรมเนียม

ใครจะรู้บ้างว่าการจัดงานวันเด็กครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2498 ตามคำเชิญชวนของนายวี.เอ็ม. กุลกานี ผู้แทนองค์การสหพันธ์ เพื่อสวัสดิภาพเด็กระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติ เพื่อให้ประชาชนเห็นความสำคัญและความต้องการของเด็ก และเพื่อกระตุ้นให้เด็กตระหนักถึงบทบาทอันสำคัญของตนในประเทศ โดยปลูกฝังให้เด็กมีส่วนร่วมในสังคม เตรียมพร้อมให้ตนเองเป็นกำลังของชาติ

โดยได้กำหนดให้เป็นวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคม เป็นวันเด็กแห่งชาติ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2508 ได้มีมติเปลี่ยนแปลงวันเด็กแห่งชาติมาเป็นวันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคม และเริ่มจัดงานวันเด็กในปี พ.ศ. 2509

สำหรับคำขวัญวันเด็ก เป็นคำขวัญที่นายกรัฐมนตรีมอบให้เด็กไทย เนื่องในโอกาสวันเด็กแห่งชาติของทุกปี โดยคำขวัญวันเด็กมีขึ้นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2499 ในสมัยที่ จอมพล แปลก พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ว่า “จงบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นและส่วนรวม” จึงได้ถือเป็นธรรมเนียมสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

จอมพล แปลก พิบูลสงคราม

ขณะที่คำขวัญที่ติดหู ติดปาก และได้ยินบ่อยที่สุดนั้นก็คือ “เด็กดีเป็นศรีแก่ชาติ เด็กฉลาดชาติเจริญ” ของ จอมพล ถนอม กิตติขจร สมัยเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2516

จอมพล ถนอม กิตติขจร

ส่วน “งานวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2566” จะถูกจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 14 มกราคม 2566 โดยมีคำขวัญของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่า “รู้หน้าที่ มีวินัย ใฝ่ความดี”

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

advertisement

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส