นักวิชาการเสียงแตก ค่าแรง 600 บาท ชี้อาจเป็นไปได้ แต่ผลกระทบเพียบ

7 ธ.ค. 65

สร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์ไปทั้งประเทศ หลัง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทยและประธานที่ปรึกษาคณะด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม  ออกมาแสดงวิสัยทัศน์ “รัฐบาลเพื่อไทยในปี 2570” โดยประกาศจะปรับค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท/วัน และ เงินเดือนปริญญาตรี 25,000 บาท/เดือน ทำให้คนในแวดวงการเมืองคนสำคัญอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ออกมายืนยันเสียงแข็งว่าเป็นไปไม่ได้ และตั้งคำถามกลับว่า หากจะให้ค่าแรงขั้นต่ำถึง 600 บาท จะเอาเงินมาจากไหน

 

ทีมข่าวอมรินทร์ออนไลน์ ขอความเห็นไปยังนักวิชาการเพื่อวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ของนโยบายนี้ หนึ่งในนั้นคือ รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ นักวิชาการ ภาควิชา เศรษฐศาสตร์และการเมือง คณะเศรษฐศาตร์ จุฬาลกรณ์มหาวิทยาลัย

 

โดย รศ.ดร.ณรงค์ กล่าวว่า  ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท  มีความเป็นไปได้ แต่ขึ้นอยู่กับนโยบายและการบริหารจัดของรัฐบาล ซึ่งโดยปกติการคิดค่าครองชีพจะมีหลักคิดอยู่บน 4 ปัจจัยได้แก่

 

1.การจ่ายค่าจ้างขึ้นกับค่าครองชีพของคนไปถึงไหนแล้ว

 

2.พิจารณาความสามารถของนายจ้าง

 

3.ค่าจ้างโดยเปรียบเทียบกับประเทศที่สภาพทางเศรษฐกิจเสมอกัน เช่น ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ไต้หวัน เกาหลี เป็นต้น

 

4.ผลกระทบต่อเศรษฐกิจมหาภาค ซึ่งค่าแรงขั้นต่ำมีผลกับเศรษฐกิจมหภาคสูงมากเพราะจีดีพีไทย 50% มาจากการบริโภค ซึ่งมาจากรายได้ประชาชาติ และรายได้ของทุกคนมาจากค่าจ้าง 41%  มาจากอาชีพอิสระ 37%

 

แต่ที่ผ่านมารัฐบาลกลับกู้เงินมาแจกซะส่วนใหญ่ ซึ่งไม่ได้เป็นข้อเรียกร้องจากลูกจ้าง แต่เป็นเสียงเรียกร้องที่มาจากภาคธุรกิจ ที่ต้องการกำลังซื้อ ทำให้ที่ผ่านมาเราต้องเพิ่มค่าจ้าง 5% แต่เงินเฟ้อ 6% นั่นแสดงว่า แม้เพิ่มค่าจ้างไป แต่กำลังซื้อก็ยังต่ำอยู่ดี

 

เมื่อถามว่าสุดท้ายค่าแรงไทยควรจะอยู่ที่เท่าไหร่ รศ.ดร.ณรงค์ กล่าวว่า ถ้าพูดถึงเศรษฐกิจมหภาคเพื่อความอยู่รอดของลูกจ้าง ค่าแรงขั้นต่ำ ก็ควรจะอยู่ที่ประมาณ 500-600 บาท เพราะลูกจ้างส่วนใหญ่เป็นคนไทย อายุประมาณ 35-40 ปี ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้มีครอบครัว มีลูก 5-6 ขวบ  หากค่าจ้างไม่พอเลี้ยงลูกและดูแลครอบครัว ลูกจ้างเหล่านี้จะอยู่ได้อย่างไร

 

ขณะเดียวกันก็ต้องมองถึงนายจ้างด้วย ว่าจะมีกำลังจ่ายค่าแรงนี้ได้หรือไม่ ถ้านายจ้างจ่ายไม่ได้ รัฐบาลก็ต้องคิดว่าจะทำอย่างไร เช่น อาจจะคิดเป็นค่าตอบแทน  นโยบายค่าแรงขั้นต่ำวันละ 600 บาท นายจ้างอาจจะค่าจ้าง 400 บาท แต่นายจ้างมีที่พัก หรือรถประจำทางให้ลูกจ้าง ซึ่งการประหยัดค่าเดินทาง จะช่วยลูกจ้างได้มาก 

โดยรัฐอาจจะปล่อยเงินกู้ปลอดดอกเบี้ย ให้นายจ้างที่ต้องการจะสร้างที่อยู่อาศัยให้ลูกจ้าง เพราะฉะนั้นทั้งรัฐบาล นายจ้าง ลูกจ้างต้องช่วยกัน

 

ด้าน ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ให้ความเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวในประเด็นว่า แม้ว่าค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท จะสามารถเกิดขึ้นได้ แต่ก็จะสร้างผลกระทบหลายด้าน อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  โดยระบุว่า

 

 1. หากค่าแรงกระโดดเป็น 600 เท่ากันทั่วประเทศ จะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำย้อนกลับ การขึ้นค่าแรง 600 บาทเท่ากันทุกจังหวัด ทำลายโอกาสได้งานในจังหวัดที่ไม่ใช่แม่เหล็กทางเศรษฐกิจ คนจะเดินทางมาหาโอกาสทำงานในจังหวัดที่เจริญแล้ว เพราะน่าจะมีความสามารถในการจ่ายได้มากกว่า เมื่อแรงงานออกจากจังหวัด ความเจริญก็ไหลออกตามมาด้วย กำลังซื้อในจังหวัดจะลดลง ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ระหว่างจังหวัดมากขึ้น

 

2. บริบทการฟื้นตัวแบบ K-Shape ซึ่งที่ผ่านมา เราเห็นแล้วว่า การระบาดของโควิด ที่มาพร้อม Disruption ระยะที่ 2 ที่หมายถึงระยะที่ต้นทุนการเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีแทนแรงงานมีต้นทุนต่อ ทำได้ง่าย และเปลี่ยนแล้วคุ้มค่า หมายความว่า ธุรกิจไม่จำเป็นต้องง้อแรงงาน ยิ่งค่าแรงขึ้น การเปลี่ยนไปใช้เทคโลยีแทนยิ่งคุ้ม ดังนั้น จะเอาข้อมูลในอดีตว่าไม่เกิดผลกระทบต่อการจ้างงานมาใช้กับบริบทหลังโควิด จึงไม่เหมาะสม  

 

3. เราพูดถึงที่ค่าแรงขั้นต่ำ 600 จะทำให้เวียดนามยิ้มร่า ผมขอบอกเลยว่า ไม่ใช่แค่เวียดนามที่ยิ้มร่า อาเซียน and beyond ยิ้มกันหมดครับ ย้ายฐานการผลิตเกิดขึ้นแน่นอน

 

แต่ๆๆๆๆ ที่ผมห่วงไม่ใช่แค่เงินไหลออกครับ ลักษณะของเงินทุนใหม่ที่ไหลเข้ามา เขาไม่ได้ต้องการแรงงานระดับที่ใช้ชีวิตอยู่กับค่าแรงขั้นต่ำ เขาต้องการแรงงานทักษะสูง นั่นหมายความว่าต่อให้ FDI เข้ามาจนประเทศไทยสำลัก ก็ไม่ได้การันตีว่า คนที่ตกงานจากการย้ายฐานการผลิตจะได้งาน

 

4. ค่าแรง 600 เราจะได้เห็นผีน้อยหลายชาติเข้ามาทำงานในประเทศไทย คนไทยที่ตกงานก็ต้องต่อสู้แย่งชิงงานกับเขา จำนวนแรงงานนอกระบบจะเพิ่มขึ้น อันนี้น่ากลัว เพราะถ้าคนรายได้น้อย หลุดออกจากระบบ Safety Net ทั้งหลาย ก็จะหายไปด้วย 600 ไม่ได้ ครอบครัวลำบาก ชีวิตไม่มั่นคง...ธุรกิจมีกำไรลดลง...ฐานภาษีของรัฐก็หายไปด้วย...

 

5. ค่าครองชีพที่สูงขึ้น ส่งผลต่อต้นทุนธุรกิจ กระทบการท่องเที่ยว กระทบกับคนมีรายได้ประจำ ตอนนี้ยังไม่แน่ใจเลยว่าผลจะหนักหนาแค่ไหน เพราะยังไม่ได้ใส่ปัจจัยเรื่องสภาพอากาศและปัญหาเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศ แต่ถ้าถามลางสังหรณ์ ผมใจหวิว ๆ ครับ

 

6. ค่าครองชีพจะนำไปสู่การใช้นโยบายประชานิยมอีกรอบหรือเปล่า ถ้าฉายหนังซ้ำแบบนี้อีก ประเทศไทยจะกลายเป็นประเทศที่ค่าแรงขั้นต่ำสูง แต่น้ำตานองแผ่นดิน คุ้มหรือไม่คุ้มลองคิดดูนะครับ

 

สุดท้ายแล้วจะเห็นได้ว่า แม้แต่นักวิชาการเอง ก็ยังมีความเห็นที่แบ่งกันออกเป็น 2 ทาง ซึ่งหลังจากนี้เราต้องมาดูรายละเอียดในเชิงนโยบายของทางพรรคเพื่อไทยอีกครั้งว่า จะบริหารจัดการอย่างไร และสุดท้ายแล้วนโยบายนี้จะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ ขึ้นอยู่กับผลการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในเร็ววันนี้ 

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส