กรมวิทย์ฯ เผยสายพันธุ์ BA.2.75 และลูกหลาน มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น 76%

7 ธ.ค. 65

กรมวิทย์ฯ เผยสายพันธุ์ BA.2.75 และลูกหลาน มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น 76% พบผู้ติดเชื้อในประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ผู้ที่เคยติดเชื้อสายพันธุ์ก่อนหน้าป่วยซ้ำได้

วันนี้ (7 ธันวาคม 2565) นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า ผลการเฝ้าระวังสายพันธุ์เชื้อก่อโรคโควิด-19 ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาระหว่างวันที่ 26 พ.ย. – 2 ธ.ค. 65 จากผลการตรวจแบบ SNP/Deletion จำนวน 435 ราย พบว่า ในภาพรวมสัดส่วนของสายพันธุ์ BA.2.75 เพิ่มขึ้นเป็น 75.9% จากสัปดาห์ก่อนที่มีสัดส่วน 58.9% และเมื่อแยกตามกลุ่มพบว่าในกลุ่มผู้ติดเชื้อในประเทศเพิ่มขึ้นจาก 60.1% เป็น 75.4% ทำให้ขณะนี้สายพันธุ์ BA.2.75 กลายเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดในประเทศ แทนที่สายพันธุ์ BA.5 

จากการถอดรหัสพันธุกรรมแบบทั้งตัว (Whole genome sequencing) ของตัวอย่างในประเทศไทยจนถึงปัจจุบันพบสายพันธุ์ BA.2.75 และลูกหลานของ BA.2.75 เช่น BA.2.75.2, BA.2.75.5.1 (BN.1), BA.2.75.1.2 (BL.2), BA.2.75.3.4.1.1.1.1 (CH.1.1) มากกว่า 856 ราย 

นอกจากนี้ยังพบสายพันธุ์ BQ.1 ที่ระบาดในอเมริกาและยุโรปจำนวน 13 ราย ส่วนสายพันธุ์ XBB และลูกหลาน ที่ระบาดมากในสิงคโปร์ พบจำนวน 30 ราย 

ส่วนสายพันธุ์ XBC ซึ่งเป็นสายพันธุ์ลูกผสมของเดลตา และโอมิครอน BA.2 ที่มีข่าวระบาดในประเทศฟิลิปปินส์ พบเพียง 1 ราย และเนื่องจากในปัจจุบันสายพันธุ์ที่ระบาดในประเทศเกือบทั้งหมดเป็นสายพันธุ์โอมิครอน ไม่พบสายพันธุ์เดลตาแล้ว จึงมีโอกาสน้อยมากที่จะเกิดการผสมกันเป็นสายพันธุ์ลูกผสมของเดลตาและโอมิครอนขึ้นภายในประเทศ และหากไม่พบว่าแพร่ได้เร็วก็จะหายไปในที่สุด

สำหรับสายพันธุ์ BA.2.75 มีการกลายพันธุ์สำคัญ คือ G446S บนโปรตีนหนาม ซึ่งจับกับตัวรับในเซลล์ของมนุษย์ และเกี่ยวข้องกับการหลบภูมิคุ้มกัน สถานการณ์ในประเทศที่มีสัดส่วนของสายพันธุ์ BA.2.75 เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนแทนที่ BA.5 บ่งชี้ว่ามีข้อได้เปรียบในการแพร่ระบาด เป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลให้พบผู้ติดเชื้อในประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงนี้ และทำให้ผู้ที่เคยติดเชื้อสายพันธุ์ก่อนหน้าป่วยซ้ำได้อีก แต่ยังไม่พบสัญญาณความรุนแรงของเชื้อที่กลายพันธุ์

advertisement

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส